"ทีจีโอ" หนุนไทยปักหมุด "Net Zero" รับเทรนด์ตลาดคาร์บอนโต
ภายใต้การเสวนาหัวข้อ “CARBON CREDIT : ลดต้นทุน หมุนไปสิ่งแวดล้อม” รูปแบบออนไลน์เรื่อง “GO GREEN เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียว” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” นำเสนอโอกาสทางธุรกิจในตลาดซื้อขายคาร์บอนสำหรับภาคธุรกิจเอกชนไทย ด้าน "ทีจีโอ" เดินหน้าฉายภาพเทรนด์ตลาดคาร์บอนฯโต
ตั้งเป้าไม่เกิน 1.5 องศาฯ
ในมุมมองของ เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มองว่า หากกลับไปมองในบริบทของโลก ตามความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการกำหนดว่าต้องคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส และจะทำให้ดีที่สุดคือ 1.5 องศาเซลเซียส
ดังนั้นการที่จะเป็นเช่นนี้ได้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้มีการทำมานานมาก โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก หากปล่อยเพิ่มจะส่งผลถึงปัญหา โดยเฉพาะจะการคำนวณพบว่าก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกไปนั้นจะต้องไม่เกิน 4 แสนล้านตัน นับจากนี้ไป ถึงจะคุมอุณหภูมิได้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ดังนั้นหากมีการเผลอปล่อยออกไปประมาณ 1 ล้านตัน จะอยู่ที่ประมาณ 2 องศาเซลเซียส แต่หากมีการปล่อยไปมากกว่านั้นจะเกิน 2 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอน
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านตันต่อปี แต่แนวโน้มยังไม่อยู่ถึงจุดสูงสุดและยังไปต่อ โดยประเทศไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 400 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 1%ของโลก ดังนั้นถ้าแนวโน้มทั่วโลกยังไม่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไปจนถึงสิ้นศตวรรษนี้อุณหภูมิโลกจะพุ่งสูงถึง 4 องศาเซลเซียส ซึ่งจะถือเป็นภัยพิบัติสุดๆ โดยจะต้องเจอกับต้นทุนมหาศาลที่ไม่อาจจะรับได้
โดยสิ่งที่จะไปตามข้อตกลงปารีส จะเป็นการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องมีขบวนการเข้ามาช่วยลด และเมื่อลดได้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของพลังงาน เกษตร และขยะ จึงต้องมีการรณรงค์ในการช่วยลดตรงจุดนี้ ทั้งนี้ตามข้อตกลงปารีสมีงบประมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ 4 แสนล้านตัน แปลว่าจะต้องหยุดการปล่อย ซึ่งตรงจุดนี้เรียกว่า Net Zero และจะให้ดีคือช่วงปี 2593 จะต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ตามรอย Net Zero
ดังนั้น Net zero คือต้องหาหนทางที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องหานั่นคือฝ่ายเก็บ อันได้แก่จำพวกต้นไม้ หรือ อุปกรณ์ที่ควบคุมไม่ให้การเกิดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา จึงเกิดคำว่า Net Zero ขึ้น โดยอาจจะต้องมีการทำทุกโปรเจ็กต์ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพลังงาน ปรับเปลี่ยนพลังงานที่ปล่อยฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียนต่างๆ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการขยะ หรือการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเปลี่ยนไปใช้ไฮโดรเจนแทน
หลังจากนั้นจะต้องหาวิธีที่จะต้องเก็บด้วยการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือสร้างอุปกรณ์ในการยับยั้งก๊าซเรือนกระจกไม่ให้หลุดมาในชั้นบรรยากาศอีก จึงจะสามารถควบคุมได้ โดยจากมาตรการนี้เกิดการบังคับให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องมีการกำหนดเป้าหมาย ซึ่งตอนนี้หลายประเทศได้มีการกำหนดแล้วว่าจะต้องเป็น Net Zero อย่างเช่น อเมริกา ยุโรป โดยจะมีภารกิจในการลดและหาอุปกรณ์ในการลดการปล่อย
อีกทั้งมีการมองหาสิ่งที่จะมาชดเชยด้วยเช่นกันอหากประเทศเหล่านั้นไม่สามารถทำได้ จึงเกิดกรณีที่ว่าแต่ละประเทศหากมีส่วนลดเหลือ สามารถนำมาแลก จึงเกิดข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อมาชดเชยจึงเกิดการเจรจาต่อรองกันเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ในคอนเซ็ปต์ของ Net Zero หากจะได้ถูกต้องไม่อยากให้มีการไปนำจากคนอื่นมา ซึ่งสิ่งที่จะยอมได้คือกรณีของเครดิตที่เกิดจากการกักเก็บอาทิ ป่าไม้ หรือ จำพวกที่เป็นการดักจับและกักเก็บคาร์บอนตั้งแต่ต้นทาง อาจจะทำเป็นเครดิตมาแลกเปลี่ยนได้ ทั้งนี้ในเดือน พ.ย.จะมีการพูดคุยถึงเรื่องของการแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ในส่วนของ Carbon Neutral ที่บางประเทศใช้เป็นตัวกำหนด โดยจะไม่กำหนดว่าจะต้องเป็นตัวเก็บ อาทิ องค์กรปล่อยแก๊สเรือนกระจกเท่าไร ฉะนั้นโลกจึงพยายามผลักดันให้แต่ละประเทศกำหนดการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกโดยมีการตั้งเป้า อย่างเช่นประเทศไทยยังคงตั้งเป้าลดตามข้อตกลงปารีสคือในปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียง 20% และต่อยอดสู่ Carbon Neutral ในปี 2065-2070 ซึ่งเป็นเป้าหมายการลด และพยายามเป็น Net Zero ในที่สุด
“การที่จะทำให้ประเทศไทยไม่ต้องพึ่งพาใคร จะต้องมีการตั้งเป้าความสำเร็จ โดยสิ่งที่จะทำได้นั้นคือ องค์กรในประเทศต้องร่วมกันทำ จึงเกิดเป้าหมายระดับองค์กรขึ้น อาทิ กลุ่มซีพี กลุ่มเอสซีจี รวมถึง NRF ที่มีการกำหนดว่าองค์กรจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
ดังนั้นการตั้งเป้าร่วมกันและพยายามทำในการลด จะส่งเสริมให้ประเทศนั้นสำเร็จได้ จึงเกิดโปรแกรมให้องค์กรมาตั้งเป้าเป็น Net Zero รวมถึงเรื่องของการท่องเที่ยวที่จะผลักดันสู่ Net Zero เช่นกัน เพื่อสร้างความท้าทายให้องค์กรนั้นเป็นผู้นำและจะเป็นผู้มีส่วนร่วมที่จะทำให้ประเทศตนเองสำเร็จ
ทั้งนี้เมื่อลดของตนเองจะมีต้นทุนและมีเริ่มสูงจะเกิดการชะงัก จึงเกิดกิจกรรมที่ว่ามีกลุ่มที่เป็น Green Business ที่สามารถทำการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีต้นทุนต่ำลงได้ และสามารถนำก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้นมาทำเป็นเครดิตและแลกเปลี่ยนกันระหว่างบริษัทในประเทศ จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกิดองค์กรใหม่ๆที่เรียกว่า Green Business และส่วนนี้ยังมีต้นทุนต่ำ ทำให้เกิดการเทรดกันได้
ขณะเดียวกันเหตุผลที่ภาคธุรกิจจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และทำการชดเชยนั่นเพราะว่า 1.การกำหนดเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งทุกภาคีจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน หากไม่มีการตั้ง Net Zero จะส่งผลต่อการถูกลดทอนความสำคัญลง และไม่มีการทำการค้าด้วย ฉะนั้นหากประกาศจะได้รับการยอมรับในการเจรจาต่อรองทั้งหมด
2.การกำหนดมาตรการภาคบังคับที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Climate Change เป็นทางเลือกที่หลายประเทศเลือกใช้ เช่น สหภาพยุโรป 3.ดึงดูดนักลงทุนที่ใส่ใจเรื่อง Climate Change การกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆจากกองทุนต่างประเทศ 4.องค์กรสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้และโอกาสต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ๆ
5.ทางเลือกหนึ่งของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม 6.การเปิดเผยข้อมูลทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานสีเขียวทำให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว 7.ตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคสีเขียว 8.การใช้มาตรฐานต่างๆ รวมถึงประเด็นเรื่องการเปิดเผย (เช่น TCFD CDP) ข้อมูลช่วยลดการกีดกันทางการค้า
ทั้งนี้จากการคำนวณพบว่า หากปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 พันตันเพิ่มขึ้นมีมูลค่าสูงถึง 258 เหรียญสหรัฐ ต่อตันที่จะไปทำลายล้างโลก ซึ่งถือเป็นต้นทุนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ปณิธานสมัครใจ
จึงเกิดขบวนการหลายอย่างที่เกิดขึ้น อาทิ สายการบินอย่าง Corsia ที่มีแผนการลดและชดเชยการปล่อยคาร์บอนสำหรับธุรกิจการบินที่กำหนดขึ้น จะเริ่มดำเนินการแบบสมัครใจในช่วงแรกตั้งแต่ปี 2564 ที่มีการตั้งเป้าว่าหากจะบินจะต้องไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 ดังนั้นอาจจะต้องมีการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย
ทั้งนี้องค์กรเริ่มมีการกำหนดให้สามารถซื้อมาชดเชยได้ อาทิ Climate Neutral Now ซึ่งทำให้เปิดตลาดเครดิตเกิดขึ้นในประเทศ และหากกลับมาย้อนดูในสังคมโลกทุกวันนี้พบว่า ทั่วโลกเริ่มจะมีการทำการชดเชยมากขึ้น เพราะมีความต้องการจากองค์กรต่างๆที่จะไปสู่เป้าหมายมากขึ้น โดยตัวเลขในตลาดในปี 2564 จนถึงสิงหาคมที่ผ่านมา มูลค่าตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจมีมูลค่าสูงถึง 748 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มจากปีก่อนถึง 2 เท่า
“ดังนั้นกระแสตลาดนี้จึงถือได้ว่าแรงพอตัว ฉะนั้นเมื่อทุกคนอยากจะลดต้นทุนจึงเบนเข็มสู่การซื้อคาร์บอนไดออกไซด์ในตลาดเพื่อที่จะชดเชยตนเอง เพื่อแสดงว่าตนเองมีการรับผิดชอบและมีประโยชน์ต่อซัพพลายเชน”
ทั้งนี้ในส่วนของราคาคาร์บอนเครดิต ตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 3 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มจากปีก่อน 2.5 เหรียญสหรัฐ ดังนั้นราคาจึงเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนมูลค่าการแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 240 ล้านตันต่อปีเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา
ดังนั้นองค์กรทั่วโลกเริ่มตระหนักและอยากก้าวสู่การเป็น Net Zero และเริ่มมีการทำการชดเชย เท่ากับว่าเสมือนการนำเงินไปซื้อเพื่อสนับสนุนสิ่งดีๆ จึงเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดตลาดขึ้น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการค้าขายความดี โดยพบว่าความดีเหล่านั้น โครงการที่นิยมมากคือโครงการประเภทป่าไม้ ที่สามารถทำเป็นเครดิตได้จึงเกิดเป็นเทรนด์เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งโครงการขยะ
ทั้งหมดนี้โครงการหลายโครงการจะส่งผลต่อการวิน-วิน ทั้งสามารถลดต้นทุนตนเองได้ ขณะเดียวกันยังสามารถสร้างคาร์บอนเครดิตได้และจำหน่ายได้
เมื่อองค์กรทั้งหลายทำตามข้อตกลงปารีสทำให้ทุกประเทศกดดันให้ประเทศตนเองลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ดังนั้นประเทศใดที่ลดได้ด้วยต้นทุนต่ำสุดย่อมได้เปรียบและมีโอกาสทางธุรกิจมากกว่า ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลากหลายองค์กรจะแสวงหาองค์การที่มีต้นทุนในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำและเพื่อซื้อมาชดเชย และหันไปทำโครงการมูลค่าสูงในนาทีสุดท้าย