‘เวสเทิร์น ดิจิตอล’ ขึ้นทำเนียบโกลบอลไลท์เฮ้าส์
ยักษ์ฮาร์ดดิสก์ “ดับบลิวดี” โชว์ความสำเร็จแผนนำไอทียกระดับการผลิต ขึ้นทำเนียบ “โกลบอล ไลท์เฮ้าส์ เน็ตเวิร์ค” รายแรกในไทย เดินหน้านำดิจิทัลเสริมแกร่งระบบงาน พัฒนาบุคลากร มั่นใจอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ไทยโอกาสสดใส รับอานิสงส์โควิด-19 เพิ่มดีมานด์สินค้าไอที
นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธาน บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ดับบลิวดี) กล่าวว่า เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม ได้คัดเลือกให้โรงงานของเวสเทิร์น ดิจิตอล ที่จังหวัดปราจีนบุรี เข้าสู่ “โกลบอล ไลท์เฮ้าส์ เน็ตเวิร์ค (Global Lighthouse Network)” ซึ่งเป็นประชาคมของบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) มาใช้
โดยเป็นโรงงานอัจฉริยะแห่งแรกในไทยที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีซึ่งมีกิจกรรมในฐานการผลิตและการเชื่อมต่อของห่วงโซ่การผลิตแบบ E2E (End-to-End) เพื่อเร่งการนำเอาเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐานในการดำเนินธุรกิจพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพของมนุษย์ในวงกว้าง
เวสเทิร์น ดิจิตอล นำเอานวัตกรรมเทคโนโลยี เช่น เอไอ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์ขั้นสูง และไอโอทีมาใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สอดรับไปกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อกำหนดด้านคุณภาพที่เข้มงวด รวมถึงความเข้มข้นในเรื่องของต้นทุนการผลิตของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
“เรานำการเชื่อมต่อและเทคโนโลยีการวิเคราะห์ขั้นสูงมาใช้ประโยชน์ เพื่อเปลี่ยนให้โรงงานที่กำลังการผลิตมีความอิ่มตัวให้กลายเป็นระบบปฏิบัติการแบบดิจิทัล ที่สามารถมองเห็นได้แบบเรียลไทม์ตั้งแต่ ซัพพลายเออร์ การผลิต โลจิสติกส์ ลูกค้า รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและการคาดการณ์ตามข้อมูล”
สำหรับผลสำเร็จที่ได้ สามารถเพิ่มผลผลิตของโรงงานได้ถึง 123% เลี่ยงค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัตถุดิบได้เพิ่มขึ้น 32% ลดอัตราการคืนสินค้าลงได้ 43% ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 46% เลี่ยงค่าใช้จ่ายจากการสูญเสียวัตถุดิบลง 41% รวมสามารถประหยัดต้นทุนไปได้หลายร้อยล้านดอลลาร์
เขากล่าวว่า วิกฤติโควิดส่งผลกระทบกับบางธุรกิจอย่างรุนแรง ทว่าบางธุรกิจเช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้รับประโยชน์ เวสเทิร์น ดิจิตอลเองไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ปีที่ผ่านมาภาพรวมการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ 8-10% และเชื่อว่าทิศทางปีนี้ยังมีแนวโน้มที่สดใส
โดยโรดแมพช่วง 3-5 ปีจากนี้จะไปอยู่ที่ผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ที่จะมีการขยายปริมาณความจุเพิ่มขึ้นได้กว่า 40% แนวทางการทำงานมุ่งพัฒนาบุคลากร เตรียมความพร้อมในทุกมิติเพื่อเผชิญความเปลี่ยนแปลง ปรับมายด์เซ็ต ลีดเดอร์ชิป สเกลอัพและยกระดับประสิทธิภาพการผลิตด้วยดิจิทัล รวมถึงลงทุนเพิ่มเติมในส่วนที่จำเป็นต่อธุรกิจ โดยภายใน 5 ปีมีเป้าหมายทรานส์ฟอร์มไปสู่ 4.0 ให้ได้มากที่สุด
สำหรับการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม บริษัทมีประสบการณ์และได้วางมาตรการป้องกันไว้อยู่แล้ว ทั้งด้านสถานที่ที่มีการสร้างกำแพงล้อมรอบโรงงาน การดูแลรักษาอุปกรณ์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการผลิต
นายไสว เชื้อสาวะถี รองประธานฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ โรงงานปราจีนบุรี ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ความสำคัญกับการปรับใช้เทคโนโลยี การบริหารต้นทุน ยกระดับประสิทธิภาพการผลิต โดยรวมต้องสามารถบริหารจัดการทรัพยากรและบุคลากรได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
“ระบบออโตเมชั่นจะมีบทบาทมากขึ้น ด้วยดาต้าทุกอย่างอยู่ในดาต้าเซ็นเตอร์ สิ่งที่จะพัฒนาต่อคือนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุงกระบวนการ โดยดาต้าอนาไลติกส์และแมชีนเลิร์นนิงจะมีส่วนสำคัญมากขึ้นในอนาคต”
นางสาวกนกนุช วงศ์แข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายประกันคุณภาพ เวสเทิร์น ดิจิตอล ประเทศไทย กล่าวว่า แมชีนเลิร์นนิงได้เข้ามาช่วยลดต้นทุนการขนส่งระหว่างเกิดวิกฤติโควิด จากนี้ยังคงมุ่งนำเทคโนโลยีมาช่วยกระดับศักยภาพการผลิตมากขึ้น พิจารณาการลงทุนตามความจำเป็น
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่ากว่า 70% ของสถานประกอบการในประเทศไทยยังอยู่ในระดับ 1.0 และ 2.0 ส่วนรายที่สามารถไปถึง 4.0 มีอยู่น้อยมากไม่ถึง 5% ระยะหลังมานี้การทำงานของบีโอไอจึงมุ่งสนับสนุนให้เกิดการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอัติโนมัติ รวมถึงเอไอให้มากขึ้น
โดยหากสามารถทำได้ตามเงื่อนไขที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยี 4.0 จะยิ่งได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น ทั้งการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีเงินได้ 3 ปี โดยไม่ได้เจาะจงเฉพาะส่วนของสายการผลิตเท่านั้น แต่เป็นส่วนอื่นๆ เช่นคลังสินค้าก็ได้หรือหากยังไม่สามารถไปถึง 4.0 ก็ยังจะมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามสัดส่วนเงื่อนไขที่กำหนดเช่นกัน
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยปีนี้ จากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมองว่ายังเป็นขาขึ้น ตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นหมวดหมู่ผู้นำจากที่มีโครงการขยายการลงทุนของทั้งรายเดิมรวมถึงรายใหม่ ต่อเนื่องมาถึงช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่เป็นหนึ่งในสาขาที่มีการขยายตัวดีที่สุด โดยภาพรวมจากดีมานด์ตลาดผลิตภัณฑ์ไอทีที่เพิ่มมากขึ้นคาดว่าตัวเลขการส่งออกในสาขานี้จะมีการขยายตัวต่อเนื่อง