"อว." ผนึก "บริติชฯ" ตั้งเป้าดันมหาวิทยาลัยไทยติดท็อป 100 ระดับโลก

"อว." ผนึก "บริติชฯ" ตั้งเป้าดันมหาวิทยาลัยไทยติดท็อป 100 ระดับโลก

บริติช เคานซิล ผนึก อว. เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยไทย-สหราชอาณาจักร เดินหน้า ผลักดัน 15 โครงการ จาก 7 มหาวิทยาลัยไทย พร้อมจับมือ ม.ดังในอังกฤษ ปั้นมหาวิทยาลัยไทยก้าวสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

หวังดันมหา'ลัยไทยสู่โกลบอล

ภายใต้โครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร (TH-UK World-class University Consortium) เน้นสร้างความร่วมมือแบบยั่งยืนของกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักร นำร่องด้วย 7 สาขาวิชาภายใต้ยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ได้แก่ สาขาสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง สาขาวิศวกรรมเคมี สาขาวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สาขาเกษตรกรรมและป่าไม้ สาขาแพทย์ศาสตร์ สาขาภูมิศาสตร์ และสาขาพัฒนศาสตร์

โดยความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 ประเทศทั้งในด้านการเรียนการสอน การทำวิจัย และโครงการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ในขณะที่นิสิต นักศึกษาในโครงการเหล่านั้นเองก็จะได้รับประสบการณ์การเรียนแบบนานาชาติ ได้มีโอกาสในการฝึกฝนทักษะการทำวิจัย การนำเสนอ และการสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติมากขึ้น 

รศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทั่วทุกมุมโลก ด้วยเหตุผลที่ว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จุดเปลี่ยนคือช่วงที่มีอินเตอร์เน็ตนั่นคือก่อนช่วงปี 1970-1980  ตอนนั้นความเชื่อมโยงของโลกไม่มากเท่านี้ แต่เมื่อช่วงปี 1990 เป็นต้นมา เริ่มมี www.  และการส่ง E-mail ทำให้โลกเกิด “Hyper Connected” หรือ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ทำให้การสื่อการ การค้าขายเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดการแข่งขันขึ้น 
 

หนุนกำลังการ 'ศึกษา'เปลี่ยนโลก

ดังนั้นกระทรวงอว. จึงมีหน้าที่ผลิตบุคคลากรเพื่อเซิร์ฟเข้าไปในการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เพราะความคาดหวังของสังคมและภาคธุรกิจ ที่ต้องการบุคลากรที่มีศักยภาพ ดังนั้นอุดมศึกษาจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตนเองอย่างรวดเร็ว กว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยต้องเป็น head of the game เพื่อตามให้ทันเทรนด์ของโลก 


ทั้งนี้ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะฉะนั้นความต้องการโดยเฉพาะพื้นที่ ต้องการก้าวข้ามสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้นบทบาทของอุดมศึกษาจึงมีความคาดหวังด้วย อีกทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูงในไทย จึงเป็นภารกิจของอุดมศึกษา

ขณะเดียวกันการปรับตัว หรือ ทรานฟอร์มของมหาวิทยาลัยเป็นที่ทราบกันดีว่า มหาวิทยาลัยได้มีการทยอยปิดตัวลงเนื่องจาก มีผู้เรียนลดลง อัตราการเกิดน้อยลง และการแข่งขันที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นการแข่งขันของมหาวิทยาลัยจึงไร้พรมแดนเหมือนธุรกิจอื่นๆ เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีตัวช่วย จากข้างนอกจึงจะเกิดการเลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นบทบาทของกระทรวงอว.ที่เป็นฝ่ายกำกับดูแล อำนวยความสะดวก และซัพพอร์ตให้การเปลี่ยนแปลงนั้นๆง่ายขึ้นและมีประสิทธิผลที่ดีขึ้น
 

ดังนั้นจาก (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 ได้มุ่งเน้น 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและพึ่งพาตนเองได้ยั่งยืน 2.การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3.การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้า และ 4.การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัย อาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรในมหาวิทยาลัย จึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการร่วมกับ กระทรวง อว. ในการขับเคลื่อนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว  

โดยนโยบายและยุทธศาสตร์การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เป็นกุญแจสำคัญเพื่อให้มหาวิทยาลัยพัฒนาความเป็นเลิศและผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและยกระดับมหาวิทยาลัยของไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติ 

ทั้งนี้ปัจจุบันได้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก ซึ่งตรงจุดนี้มีความสำคัญกับสถาบันอุดมศึกษาไทยอย่างไรนั้น

รศ.พาสิทธิ์ เล่าว่า การที่ไทยอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์อะไรที่โลกให้ความสำคัญ ไทยก็ให้ความสำคัญเช่นกัน ดังนั้นการจัดอันดับจะให้ความสำคัญกับการศึกษาของประเทศเป็นหลัก โดยที่นักลงทุนต่างๆใช้หลักเกณฑ์นี้ในการพิจารณาการลงทุนแต่ละประเทศเช่นกัน เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำออกมาให้ดี โดยปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับที่ดีขึ้นและมีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับเพิ่มขึ้น แต่กระนั้นก็ต้องจำเป็นพัฒนาเพิ่มขึ้นเช่นกัน 

ตั้งเป้าไทยติดท็อป 100 ใน 5-10 ปี

ที่ผ่านมา อว.ได้เผยแพร่และนำเสนอการกำหนดตัวบ่งชี้ ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เพื่อวัดผลการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย และมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากในการยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้ติด 100 อันดับแรกของโลกภายใน 5-10 ปีข้างหน้า ดังนั้นความร่วมมือของ อว.ที่ได้ร่วมมือกับบริติช เคานซิล ในโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราช-อาณาจักร (TH-UK World-class University Consortium)

เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาในไทยสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติทั้งในด้านวิชาการและการวิจัย สนับสนุนมหาวิทยาลัยในไทยให้เกิดการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในสหราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างระบบอุดมศึกษาที่มีความเชื่อมโยงในระดับสากลมากขึ้น เพื่อที่จะบรรลุความเป็นผู้นำระดับโลกจะทำให้สำเร็จได้เร็วขึ้น

ทางด้าน นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและโอกาสทางการศึกษาจากสหราชอาณาจักร มียุทธศาสตร์ “Going Global Partnership” ในการสร้างความสัมพันธ์ระดับนานาชาติที่เข้มแข็งและเท่าเทียมของภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักร

โดยได้นำร่องร่วมมือกับกระทรวง อว. เปิดตัวโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา คัดเลือกมหาวิทยาลัยไทย 7 มหาวิทยาลัยใน 15 สาขาวิชานำร่องร่วมโครงการ จับคู่สร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร อันเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ และเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยในประเทศยังสามารถเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับในการอันดับและขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

บริติชฯ สะพานเชื่อมสหราช-ไทย

สำหรับ 7 มหาวิทยาลัยของไทย 15 สาขาวิชาที่เข้าร่วม ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  จำนวน 1 สาขาได้แก่ วิชาแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 7 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สาขาวิศวกรรมเคมี สาขาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ 2 โครงการ  สาขาภูมิศาสตร์ สาขาพัฒนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และป่าไม้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำนวน 1 สาขาได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพจาก มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ และสาขาพัฒนศาสตร์   มหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 1 สาขาได้แก่ สาขาวิชาพัฒนาศาสตร์ 


จากผลการวิเคราะห์ภาพรวมของทั้ง 15 สาขาวิชา 7 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม จะพบว่าต่างมีจุดแข็งในเรื่องชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับภายในประเทศ มีทรัพยากรที่เพียบพร้อม และมีสมรรถนะในการสร้างสรรค์งานวิจัย ในขณะเดียวกันยังสามารถพัฒนาเพิ่มขึ้นในด้านทักษะภาษาอังกฤษ และยังขาดการสร้างกลยุทธ์ในภาพรวมที่เอื้อต่อการทำงานในระดับนานาชาติ

ซึ่งในภาพรวมต่างมองว่า สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางการศึกษา และความร่วมมือกันนี้จะสามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและการทำวิจัยที่มีศักยภาพสูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ผ่านการทำงานร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โอกาสในการทำงานวิจัยร่วม โครงการแลกเปลี่ยนนิสิต นักศึกษา และโปรเจกต์ความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสำหรับนิสิต นักศึกษาในประเทศไทยเอง ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้รับประสบการณ์การเรียนการสอนในระดับนานาชาติ ได้พัฒนาทักษะในด้านการทำวิจัย การนำเสนอ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายแบบนานาชาติ

ในลำดับถัดไปจะเป็นการจับคู่กับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการตอบที่ดีจากหลากหลายมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยเอดินบะระ เมื่อได้คู่มหาวิทยาลัยแล้ว บริติช เคานซิล จะให้ทุนสนับสนุนมูลค่ากว่า 65,000 ปอนด์ หรือประมาณ 3 ล้านบาท ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในช่วงปีแรกของโครงการ เพื่อสร้างคอนเนคชั่นแรกเริ่มระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักร อันจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และกลายเป็นคอนเนคชั่นที่มั่นคงในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งล้วนตอบโจทย์กลยุทธ์การพัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัยตามทิศทางของกระทรวง อว.