"เอ็นไอเอ-กกพ.” คัด 25 นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เตรียมปั้นสู่นวัตกรหน้าใหม่
เอ็นไอเอ-กกพ. เตรียมนำ 25 ทีมผู้ผ่านเข้ารอบ เข้าสู่ด่าน 3 แคมป์วิถีใหม่ “ELECATHON” เพื่ออบรมแนวความคิด ใต้หลักสูตร STEAM4INNOVATOR ผ่านองค์ความรู้ Waste to Energy มาพัฒนาผลงานนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะ เพื่อปั้นผลงานให้กลายเป็นธุรกิจหรือสตาร์ทอัพได้จริง
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA อัปเดตความเคลื่อนไหวโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ภายใต้แคมเปญ Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาตรา 97(5) ถึงกระบวนการล่าสุดประจำเดือนกันยายน 2564 ที่ได้นำ 25 ทีมผู้ผ่านเข้ารอบ จาก 250 ทีม เข้าสู่ด่าน 3 แคมป์วิถีใหม่ “ELECATHON”
กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เพื่อดำเนินโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground โครงการดังกล่าวต้องการที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศกว่า 10,000 ราย ให้มีศักยภาพ พร้อมพัฒนาแนวความคิดในการเป็นนวัตกรในด้านการจัดการขยะสู่นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการกว่า 9 เดือน ล่าสุดได้มีการคัดเลือกผลงานนวัตกรรมจากเยาวชนจาก 150 ทีม เหลือ 25 ทีม ซึ่งผ่านเกณฑ์ความเป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ได้จริง และมีโอกาสในการต่อยอดสู่การจัดตั้งเป็นธุรกิจหรือสตาร์ทอัพจากภาคการลงทุน ทั้งนี้ ทั้ง 25 ทีมที่ได้ผ่านการคัดเลือกนับว่ามีความน่าสนใจในเชิงความแปลกใหม่ และการแก้ไขปัญหาทางสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจมีทั้งการเชื่อมโยงด้านการจัดการขยะกับกลุ่มผู้พิการ การจัดการขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่ การลดมลพิษจากกระบวนการเผา ไปจนถึงการใช้ AI เข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการจัดการขยะสู่พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ต้นทาง – ปลายทาง
โดยทั้ง 25 ทีมได้มีโอกาสเข้าร่วมค่ายพัฒนาผลงานนวัตกรรม ELECATHON ซึ่งโครงการจะเร่งบ่มเพาะแนวทางการต่อยอดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการปรับปรุงจุดด้อยและพัฒนาจุดเด่นของแต่ละนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพผ่านหลักสูตรสำคัญอย่าง STEAM4INNOVATOR ในองค์ความรู้ Waste to Energy ภายใต้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. รู้ลึก รู้จริง (Insight) 2. สร้างสรรค์ไอเดีย (Wow! Idea) 3. แผนพัฒนาธุรกิจ (Business Model) และ 4. การผลิตและการกระจาย (Production & Diffusion) ซึ่งหลักสูตรนี้จะส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้คิดนวัตกรรมได้อย่างครบกระบวนการ พร้อมทั้งเป็นหัวใจสำคัญในการก้าวสู่การเป็นธุรกิจหรือสตาร์ทอัพที่ไม่ได้มีในตำราเรียน หรือบรรจุในหลักสูตรของการศึกษาที่ใดมาก่อน
พลังงานสะอาดเป็นเรื่องสำคัญมาก การสร้างการเรียนรู้ การบริหารจัดการขยะ และโจทย์ WASTE TO ENERGY เป็นสิ่งที่ NIA อยากให้เด็กและเยาวชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำสิ่งนี้ หลายคนอาจบอกว่าคนที่จะมาทำธุรกิจพลังงานขยะ ต้องมีเงินทุนมหาศาล มีพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อทำเป็นโรงไฟฟ้า แต่ถ้าหากไปดูเรื่องเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า จะทราบว่า ตลอดเส้นทางของ Supply Chain ในการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางมาสู่ปลายทาง ล้วนเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน ดังนั้นการเรียนรู้หลักสูตร STEAM4INNOVATOR เด็กๆ จะได้พบกับกิจกรรมมากมาย อาทิ กิจกรรมทำที่โรงเรียน (Learning Station) การเปิดให้เด็กเข้าฝึกงานในบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพชั้นนำ (Founder Apprentice)
การพัฒนาเรียนรู้สร้างประสบการณ์จากผู้บริหารระดับสูง (Comboset) กิจกรรมการประกวด Thailand Innovation Award (TIA) กิจกรรม Trainers’ Lab และ PlayRoom เป็นต้น ท้ายสุดแล้ว ต้องขอบคุณกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการฯ และทีม NIA ที่พยายามขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะสู่พลังงานไฟฟ้าตามแคมเปญ Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคนร่วมกัน” ดร.กริชผกา กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวถึงภาพรวมแนวทางของโครงการฯ ว่า ในนาม สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground ซึ่งตอนนี้ประกาศรายชื่อ 25 ทีมผู้ผ่านเข้ารอบ เพื่อเข้าร่วมค่ายพัฒนาเยาวชนวิถีใหม่ ELECATHON เป็นที่เรียบร้อย โดยโครงการฯ นี้ถือเป็นโครงการหนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกและสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
ซึ่งบริหารงานภายใต้กฎหมายตามพระราชบัญญัติการประกอบพลังงาน พุทธศักราช 2550 และนโยบายการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ดังนั้นจะเห็นภาพได้ว่า พลังงานไฟฟ้า ถือเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญมาก และเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อความมั่นคงของประเทศด้วย ฉะนั้นในอนาคต พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานรูปแบบต่างๆ จะมีบทบาทอย่างมากในการนำพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
นายกิตติพงษ์ กล่าวต่อว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของ กกพ. คือการส่งเสริมให้สังคม ประชาชน มีความรู้และความตระหนัก และมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้า จึงทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนอันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมีความรู้และเข้ามามีส่วนร่วมด้านไฟฟ้านั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะในอนาคตเด็กและเยาวชนผู้มีความรู้เข้าความใจด้านไฟฟ้าอย่างจริงจังเหล่านี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่คุณภาพในฐานะคลื่นลูกใหม่ทดแทนคลื่นลูกเก่า เพื่อขับเคลื่อนประเทศนำไปสู่ความเจริญต่อไป และในการเข้าแคมป์ ELECATHON ครั้งนี้ สิ่งที่เราต้องการเห็นคือแนวคิดการจัดการขยะที่นำมาใช้เป็นพลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สมกับคำว่า ‘Clean Energy for Life’
ซึ่งทั้ง 25 ทีม จะได้เรียนรู้ความสำคัญของการบริหารจัดการขยะที่ถูกวิธี เช่น ขยะนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านการเกิดมลพิษหรือมลภาวะให้น้อยลงได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็น เพราะขยะส่วนหนึ่งสามารถนำมารีไซเคิล เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 30-40 เปอร์เซ็น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กในการคิดพัฒนาผลงาน และขยายสู่การสร้างผลิตภัณฑ์และธุรกิจในลำดับไป เหนือสิ่งใดหวังว่าเด็กและเยาวชนจะได้รับความสนุกจากการเรียนรู้ การมีปฏิสัมพันธ์สร้างเครือข่ายกลุ่มเพื่อน รวมถึงจากทีมงานที่ดูแลโครงการฯ โดยตรงอย่าง NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)