รู้จัก "EDC" เครื่องรับชำระเงิน "ยุคไร้เงินสด" ทำอะไรได้บ้าง

รู้จัก "EDC" เครื่องรับชำระเงิน "ยุคไร้เงินสด" ทำอะไรได้บ้าง

รู้จัก "EDC" เครื่องรับชำระเงินในยุคสังคมไร้เงินสด ทำอะไรได้บ้าง หลังมีข่าวประชาชนร้องเรียนว่า บัญชีตัวเองถูกตัดเงินทีละจำนวนน้อย ๆ หลายรายการ โดยมีข้อความระบุว่า Purchase via EDC ขณะที่แบงก์ชาติยืนยัน "ไม่ใช่แอพฯดูดเงิน"

จากกรณีเจ้าของบัญชีธนาคารจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการถูกดูดเงิน พบการหักเงินในบัญชีบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ทั้งที่ไม่ได้ทำธุรกรรมใด ๆ โดยส่วนใหญ่พบการตัดเงินในบัญชี ระบุข้อความ "Purchase via EDC"

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ร่วมชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้น โดยระบุเบื้องต้นว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอพฯ ดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เมื่อคำว่า EDC มีชื่อปรากฏในข่าวนี้ ทำให้หลายคนสงสัยว่าคืออะไร เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอย่างไร และใช้ทำอะไรได้บ้าง วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปหาคำตอบ

ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจได้ยินคำว่า สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society มาสักระยะแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญจนกระทั่งมีการมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ซึ่งลามมาจนถึงปัจจุบัน การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง (Internet Banking) โมบาย แบงก์กิ้ง (Mobile Banking) รวมถึงเครื่อง EDC ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญใช้แทนเงินสดอย่างเห็นได้ชัด

การมีช่องทางรับชำระเงินที่หลากหลายน่าจะตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่ที่ชื่นชอบความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว ต้องมีครบวงจร และด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือธนาคารต่าง ๆ จึงพัฒนา เครื่อง EDC หรือ Electronic Data Capture ให้เป็นอุปกรณ์รับชำระเงินที่ทันสมัยและตอบโจทย์ผู้คนในยุคดิจิทัล

EDC ใช้ทำอะไรได้บ้าง

สำหรับ EDC หรือที่เรียกติดปากกันว่า "เครื่องรูดบัตร" ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต ได้ถูกพัฒนาให้สามารถรับชำระเงินในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

  • รับบัตรเครดิต และเดบิต ไม่ว่าจะเป็น VISA, MasterCard, JCB, UnionPay รวมไปถึง Amex
  • รับสแกน QR Code ได้จาก Mobile Banking ทุกธนาคาร และ E-Wallet
  • รองรับการจ่ายเงินของชาวจีนด้วย Alipay และ WeChat Pay
  • รองรับการจ่ายเงินแบบ Contactless Payment เพียงใช้บัตรเครดิต หรือ บัตรเดบิตแตะที่เครื่อง EDC ก็สามารถจ่ายเงินได้ทันที
  • สามารถทำรายการแบ่งจ่าย หรือ ผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตได้
  • แปลงสกุลเงินต่างชาติ สำหรับลูกค้าต่างประเทศ โดยลูกค้าสามารถเลือกจ่ายเงินเป็นสกุลเงินบาท หรือ สกุลในประเทศของตนเอง ซึ่งสะดวกทั้งลูกค้า และร้านค้า เรียกได้ว่าไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และร้านค้าจะได้เงินเข้าบัญชีเป็นเงินบาทตามที่เราได้ตั้งราคาไว้
  • ผู้ประกอบการร้านค้า และบริการ สามารถตรวจสอบยอดขายได้ทันที

ทั้งหมดนี้ นอกจากผู้จ่ายเงินจะได้ความสะดวกสบายแล้ว ผู้รับเงินอย่างผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ก็สะดวกในการจัดทำบัญชีและภาษีของร้านค้า หรือบริษัทอีกด้วย

EDC มีกี่ประเภท

สำหรับเครื่อง EDC หรือเครื่องรูดบัตร ธนาคารหรือเจ้าของเครื่องรูดบัตรจะติดตั้งให้กับร้านค้าที่ต้องการ โดยปัจจุบันมีใช้อยู่ 3 รูปแบบ ดังนี้

1. เครื่องรูดบัตรแบบติดตั้งในร้าน  :  รับชำระค่าสินค้าหรือบริการโดยเชื่อมต่อกับระบบโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต เหมาะกับการติดตั้งประจำที่ร้าน

รู้จัก \"EDC\" เครื่องรับชำระเงิน \"ยุคไร้เงินสด\" ทำอะไรได้บ้าง

(เครดิตรูป: ธนาคารกรุงเทพ)

2. เครื่องรูดบัตรแบบเคลื่อนที่ Mobile EDC :  รับชำระค่าสินค้าหรือบริการโดยเครื่องจะเชื่อมต่อสัญญาณผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ต้องมีซิมการ์ด เหมาะการออกงานแสดงสินค้า (Exhibition) ตามที่ต่างๆ หรือไม่มีร้านประจำ

รู้จัก \"EDC\" เครื่องรับชำระเงิน \"ยุคไร้เงินสด\" ทำอะไรได้บ้าง

(เครดิตรูป: ธนาคารกสิกรไทย)

3. เครื่องรูดบัตรมือถือ mPOS : รับชำระค่าสินค้าหรือบริการโดยเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือเพื่อชำระสินค้าและบริการ ขนาดเล็กพกพาสะดวกเหมาะกับธุรกิจ Delivery และ Direct Sales

รู้จัก \"EDC\" เครื่องรับชำระเงิน \"ยุคไร้เงินสด\" ทำอะไรได้บ้าง

(เครดิตรูป: Internet Retailing)

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าการมีเครื่อง EDC นั้น ย่อมมี "ค่าธรรมเนียม" ที่ผู้ประกอบการต้องชำระให้กับธนาคาร หรือผู้ให้บริการเครื่องนี้ ซึ่งแต่ละรายก็คิดค่าธรรมเนียมแตกต่างกันไป แต่หากคำนวณถึงความคุ้มค่าที่จะได้รับ ก็ถือว่าสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เริ่มให้บริการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ เช่น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ร้านค้าขนาดเล็กต่างๆ หรือร้านค้าในชุมชน ที่ให้บริการเครื่อง EDC ในธุรกิจกันบ้างแล้ว

ทั้งนี้ เพราะข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะรายได้ที่ผู้ประกอบการได้รับนั้นจะถูกบันทึกไว้ในระบบผ่านเครื่อง EDC ก็ถือเป็นเกณฑ์อย่างหนึ่งที่ธนาคาร หรือ สถาบันการเงินนำมาประกอบเป็นข้อมูลเพื่ออนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการนั่นเอง

นอกจากนี้ เครื่อง EDC ยังเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของกระทรวงการคลังในโครงการ "National e-Payment" เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดัน เพื่อให้มีระบบรองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับการใช้งานเทคโนโลยีโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือที่ขยายวงกว้างขึ้น และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวม

สถาบันการเงินที่ร่วมโครงการวางเครื่อง EDC

สถาบันการเงินที่ผ่านการคัดเลือกจากรัฐบาล ให้เป็นผู้บริการวางเครื่อง EDC ในโครงการ National e-Payment ได้แก่

  • ธนาคารกรุงไทย Call Center 02 111 1111
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา Call Center 1572
  • ธนาคารทหารไทย Call Center 1558
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ Call Center 02 777 7777
  • ธนาคารธนชาต Call Center 1770
  • ธนาคารกรุงเทพ Call Center 1333
  • ธนาคารกสิกรไทย Call Center 02 888 8888

ผู้ให้บริการเหล่านี้ ได้ยื่นข้อเสนอสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและร้านค้า เช่น ลดค่าธรรมเนียมการรับบัตรเดบิตจาก 1.5 - 2.5% ของมูลค่าเงินที่ชำระเป็นไม่เกิน 0.55% และไม่เก็บค่าเช่าและค่าติดตั้งอุปกรณ์ฯ โดยอาจเก็บค่ามัดจำเพื่อป้องกันอุปกรณ์เสียหาย ซึ่งร้านค้าจะได้คืนเมื่อยกเลิกการใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมของแต่ละแห่งอาจแตกต่างกัน ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินที่ให้บริการ EDC อีกครั้ง

------------------------------------

ที่มาข้อมูล: PostFamily, ธรรมนิติ, epayment.go.th