“มานะ” แพลตฟอร์มวัดผลพนักงาน คิกออฟรับเวิร์คฟรอมโฮม
ปิดความกังวลและไม่มั่นใจของผู้บริหารในเรื่อง Work from home กับอนาคตการทำงานขององค์กร และผลิตภาพของพนักงานลดลงหรือไม่ ด้วย “มานะ (MANA)" แพลตฟอร์มสำหรับบริหารงานและวัดผลการทำงานของพนักงานแบบออนไลน์ ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการงานองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ธนกฤษ ทาโน กรรมการผู้จัดการบริษัท แอลเอฟฟินเทค จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ Data Analytics บล็อกเชน และให้บริการที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์มแก่เอสเอ็มอี รวมถึงการบริการทางการเงิน การให้บริการแพลตฟอร์มด้านการบริหารจัดการองค์กรทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการให้บริการแก่ลูกค้าเพื่อตอบสนองการใช้งานและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานภายในองค์กร
ที่ผ่านมาได้ใช้โปรแกรมของต่างประเทศในการบริหารจัดการทีม พบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป จนกระทั่งรู้สึกว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์การใช้งานเท่าไรนัก จึงได้หันมาพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเองจนกลายเป็น “มานะเวิร์ค” เพื่อใช้งานภายในองค์กร
จากใช้ในองค์กรสู่เชิงพาณิชย์
“มานะ” จะช่วยให้ผู้บริหารองค์กร สามารถเข้าถึงการทำงานของพนักงานได้แบบเรียลไทม์ ระบบจะแสดงผลการทำงานในทุกฟังก์ชั่นของผู้ปฏิบัติงานและเก็บข้อมูลการทำงานของพนักงาน (Data Analytic) เพื่อนำไปประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานแบบรายบุคคลตาม OKRs ที่องค์กรได้กำหนด
บริษัทฯ มีโอกาสทำงานร่วมกับหลากหลายองค์กร หนึ่งในนั้นคือสถาบันการเงิน ผลปรากฏว่า “มานะ” ตอบโจทย์เป็นอย่างดี ต่อมาเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์โควิด จึงพิสูจน์ไอเดียโดยนำโปรแกรมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและองค์กรต่างๆใช้ จนปัจจุบันกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้กันแพร่หลายทั้งภาครัฐและเอกชน
“มานะเป็นเครื่องมือสำหรับบริหารงานและวัดผลการทำงานของพนักงานออนไลน์ กับระบบบริหารจัดการทีมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการทำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ในการช่วยผู้ใช้งานในการวิเคราะห์ข้อมูล และใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของระบบ ซึ่งแตกต่างจากแพลตฟอร์มการบริหารอื่นๆ”
กลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ที่ต้องการทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วยเทคโนโลยี 2.หน่วยงานภาครัฐ ที่กำลังปรับตัวและมองหาซอฟต์แวร์ หรือเครื่องมือที่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ 3.สถาบันการเงิน ที่ต้องการปรับตัวด้วยเทคโนโลยี เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่รวดเร็วขึ้น
“เอไอ” วัดผลทำงานออนไลน์
สำหรับเส้นทางในอนาคตของ “มานะ” จะได้รับการพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับบริหารงานและวัดผลการทำงานของพนักงานแบบออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ในการบริหารจัดการทีมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบได้นำเทคโนโลยีแมชชีนเลินนิ่ง มาใช้ในการช่วยผู้ใช้งานวิเคราะห์ข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของระบบได้
“การทำงานจะมีเทคโนโลยีเอไอมาช่วยแนะนำว่า ธุรกิจหรือหน่วยงานเหมาะกับแบบฟอร์มใด จากนั้นระบบจะเซ็ตอัพให้ทั้งหมด เพียงแค่เชิญทีมงานเข้ามาใช้โปรแกรม ส่วนการใช้งานโปรแกรมนั้นเพียงแค่เพิ่มงานที่ได้รับมอบหมาย กำหนดวันเริ่มต้น สิ้นสุด แนบไฟล์ คอมเมนท์งานได้”
ปัจจุบันมีการใช้งานกว่า 40 องค์กร แบ่งเป็น ผู้ใช้งานที่แอคทีพประมาณ 300 ยูสเซอร์ ส่วนจำนวนผู้สมัครสมาชิกมีกว่า 3 พันราย องค์กรส่วนใหญ่นิยมใช้กับฝ่ายขาย ฝ่ายบุคคล ฝ่ายธุรการ หรือฝ่ายอื่นๆ ที่ต้องมีการประสานงานซึ่งกันและกัน สำหรับช่องทางรายได้จะมาจากการให้บริการแบบรายเดือน รายปี และการให้บริการในรูปแบบไลเซ่นส์
ด้านภาพรวมการแข่งขัน เขามองว่า ในตลาดมีการแข่งขันสูง เนื่องจากเป็นตลาดแมสและถือเป็นบลูโอเชี่ยนที่ยังมีความต้องการ แต่ก็ยังไม่มีคู่แข่งทางตรง เนื่องจากทุกการแข่งขันไม่ได้วัดเพียงทางด้านซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่จะเป็นการให้บริการควบคู่ไปด้วยเพราะการดีลงานกับคอร์ปอเรทต้องอาศัยความสัมพันธ์ อย่างเช่น สถาบันการเงิน ที่มีความต้องการมากกว่าโปรแกรมดังนั้นบริษัทฯจึงมีการให้บริการเทรนนิ่ง เวิร์คช็อป เพิ่มเติม
ด้วยความที่แพลตฟอร์มพัฒนาขึ้นมาในช่วงโควิด ทำให้ความท้าทายอยู่ที่การยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงต้องมีการผลักดันด้านการตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยในการส่งเสริมการรับรู้ และจะทำให้เกิดการใช้งานเพิ่มขึ้น ส่วนทางด้านการพัฒนาโปรแกรม ต้องยอมรับว่าฟีเจอร์เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นอนาคตจะมีการพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น และเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นเพื่อให้เกิดการใช้งานที่สะดวกยิ่งขึ้น
รองรับการทำงานนิวนอร์ม
เนื่องจากตอนนี้การใช้งานยังคงเป็นในรูปแบบเว็บไซต์ ขณะเดียวกันขอบเขตการใช้งานอยู่เพียงในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล และหัวเมืองหลักเท่านั้น ในอนาคตจะมีการขยายตลาดเพิ่มขึ้นโดยเริ่มแรกตั้งเป้าจะบุกอาเซียน พร้อมทั้งตั้งเป้าจำนวนการใช้งานภายในปีนี้อยู่ที่ 5 พันราย
ทั้งนี้ การทำงานออนไลน์ท่ามกลางยุคเวิร์คฟรอมโฮม เขามองว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่การมี Self-Development หมายความว่า ทีมงานต้องมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตน และสิ่งสำคัญคือการมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ คือ “การปรับตัว” เหมือนสำนวนจีนที่ว่า “แมวจะสีอะไรไม่สําคัญ ขอให้จับหนูได้ก็พอ” เพราะสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องค้นหาให้เร็วคือ “บิซิเนสโมเดล” ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ฉะนั้นการปรับตัวได้รวดเร็วและคล่องตัว จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน