การ์ทเนอร์ เผย ‘4 เทคโนโลยีมาแรง’ เขย่า ดิจิทัล คอมเมิร์ซ อีก 2 ปี
การ์ทเนอร์ เปิด 4 เทคโนโลยี ที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอมเมิร์ซในอีก 2 ปีข้างหน้า จากการนำไปใช้อย่างแพร่หลายเพิ่มขึ้น อ้างอิงรายงาน "2021 Gartner, Inc. Hype Cycle for Digital Commerce" แนะผู้นำและนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ควรต้อง “จับตา”
การ์ทเนอร์ เปิด 4 เทคโนโลยี ที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอมเมิร์ซในอีก 2 ปีข้างหน้า จากการนำไปใช้อย่างแพร่หลายเพิ่มขึ้น อ้างอิงรายงาน "2021 Gartner, Inc. Hype Cycle for Digital Commerce" แนะผู้นำและนักพัฒนา แอพพลิเคชั่น ควรต้อง “จับตา” 4 เทคโนโลยี ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกจากนี้ ประกอบไปด้วย
1.การตั้งค่าแบบเวอร์ชวล (Visual Configuration) 2.กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallets) 3.การจัดการการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Customer IAM) และ 4.ผู้ช่วยเสมือน (Virtual Customer Assistants)
“แซนดี้ เฉิน” รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ อิงค์ กล่าวว่า ดิจิทัล คอมเมิร์ซ เป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การแข่งขันที่มีความกดดันสูง และความจำเป็นที่ต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมตลอดเวลา ซึ่งหมายถึงการมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ผู้นำและนักพัฒนาแอพพลิเคชัน สามารถใช้วงจรเทคโนโลยีเกิดใหม่ (หรือ Hype Cycle) พิจารณาว่า เทคโนโลยีใดที่กำลังจะหายไปตามกาลเวลา หรือดูว่าเทคโนโลยีใดกำลังมาแรงและมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจ โดยเข้าใจในความสามารถและวิเคราะห์ถึงผลกระทบของแต่ละเทคโนโลยีที่มีต่อธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ตัดสินใจใช้ทรัพยากรที่อยู่ในมือได้อย่างชาญฉลาด
การ์ทเนอร์ ฟันธงว่า ทั้ง 4 เทคโนโลยีนี้ ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงในวงจรเทคโนโลยีเกิดใหม่ในปี 2564 เทคโนโลยีที่อยู่ในเฟสนี้สามารถมอบประโยชน์แก่องค์กรได้อย่างชัดเจนและจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต
เทคฯจัดการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
การ์ทเนอร์ อธิบายว่า เครื่องมือต่างๆ ของเทคโนโลยี CIAM จะช่วยจัดการการเข้าถึงข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสอบความถูกต้อง และการขออนุญาตเพื่อใช้ข้อมูลในการยืนยันตัวตนจากภายนอก รวมถึงกฎระเบียบด้านความเป็นส่วนตัวและการพึ่งพาการสื่อสารทางไกลที่เพิ่มขึ้นทำให้เทคโนโลยี CIAM มีความสำคัญต่อธุรกิจและลูกค้ามากขึ้น
“เทคโนโลยี CIAM ยังมีส่วนสำคัญช่วยพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า (CX) ทั้งกับธุรกิจในแบบบีทูซี บีทูบี หรือธุรกิจในระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว (Gig economy) รวมถึงธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทภาครัฐกับประชาชน (G2C) ภายในสิ้นปี 2564 องค์กรธุรกิจ 86% จะแข่งขันกันบนพื้นฐานของการพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่คล้ายคลึงกัน ประสบการณ์ออนไลน์จะเป็นชี้ตัววัดและสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจได้”
เทคโนโลยีกระเป๋าเงินดิจิทัล
กระเป๋าเงินดิจิทัลสร้างขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสด้านการใช้จ่ายให้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ผ่านอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อ โดยเทคโนโลยีนี้มีประโยชน์มากมาย อาทิ อำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า และยังเพิ่มรายได้ให้แก่ร้านค้า ตามที่หลากหลายอุตสาหกรรมนำไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ
อาทิ บริการที่จอดรถ บริการทางด้านการขนส่ง การค้าปลีกและการพาณิชย์ดิจิทัล ถ้าหากธุรกิจใดที่ยังไม่มีบริการกระเป๋าเงินดิจิทัลรองรับอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนลูกค้าและรายได้ เสียเปรียบคู่แข่งในการแข่งขัน
เทคโนโลยีผู้ช่วยเสมือน
เทคโนโลยีผู้ช่วยเสมือน คือ แอพพลิเคชันที่สร้างการมีส่วนร่วม สื่อสารผ่านข้อมูล หรือดำเนินการในนามขององค์กรต่อลูกค้า การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ได้เร่งการนำเทคโนโลยีผู้ช่วยเสมือน มาปรับใช้อย่างรวดเร็ว และในบางเคสของการใช้งานได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีเคสใช้งานใหม่ ๆ เกิดขึ้นด้วย เช่น บริการด้านสุขภาพหรือการนำมาใช้ทำการตลาดของแบรนด์ก็กำลังมาแรงเช่นกัน
ในเวลานี้เทคโนโลยี VCAs ถูกนำมาใช้เป็นจุดบริการเพื่อสื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลที่หลากหลาย ซึ่งสามารถต่อยอดในการให้คำปรึกษาเชิงรุกและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความภักดีและความพึงพอใจของลูกค้าต่อแบรนด์ได้
เทคโนโลยีการตั้งค่าแบบเวอร์ชวล
สำหรับเทคโนโลยี การตั้งค่าแบบเวอร์ชวล จะช่วยให้ตัวแทนขายและลูกค้าปลายทางเห็นรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสั่งซื้อพร้อมแสดงออฟชั่นและฟีเจอร์ต่าง ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการทำธุรกรรมแบบบีทูบี ช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนผ่านดิจิทัล คอมเมิร์ซ โดยไม่ต้องฝึกอบรม องค์กรกลุ่มแรกที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมของตนจะสร้างความได้เปรียบในด้านการแข่งขันและช่วยประหยัดต้นทุน
การปรับปรุงเทคโนโลยีล่าสุด เช่น ความสมจริงของภาพ ทำให้การนำเทคโนโลยี Visual Configuration ไปใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอมเมิร์ซ เติบโตอย่างรวดเร็วในวงกว้างยิ่งขึ้น