TRUE - DTAC ผงาดเบอร์ 1 - จับตาแผนสู้ AIS สาดกลยุทธ์รักษาแชมป์
จับตา “AIS” Big Brother จัดหนักสาดกลยุทธ์รักษาตำแหน่งเบอร์ 1 ชิงจังหวะรอยต่อควบรวม "TRUE DTAC" นักวิชาการ เชื่อ "AIS" ยังแข็งแกร่งทั้ง รายได้ และฐานลูกค้าที่ภักดี ชี้โทรคมนาคมไทยเริ่มอิ่มตัว ผู้ให้บริการมีคลื่นในมือพอเสิร์ฟ อย่าหวังเห็นการแย่งชิงคลื่นเหมือนอดีต
“AIS” Big Brother จัดหนักสาดกลยุทธ์รักษาตำแหน่งเบอร์ 1 ชิงจังหวะรอยต่อควบรวม TRUE DTAC ดึงลูกค้าไหลเข้า ผุดแฮชแท็กสู้ #อยู่เอไอเอสดีที่สุด นักวิชาการ วิเคราะห์ตัวเลขฐานลูกค้าทรูดีแทค 51 ล้านรายกับ เอไอเอส 43 ไม่ใช่นัยสำคัญ เชื่อ "เอไอเอส" ยังแข็งแกร่งทั้ง 'รายได้' และฐานลูกค้าที่ภักดี มองข้ามช็อต ดีล "ซีพี-เทเลนอร์" คิดโตระดับโลก ผนวกจุดแข็งร่วมกัน
“ซิคเว่” ระบุ แม้ลูกค้ารวมทรู ดีแทคขึ้นเบอร์ 1 ในไทย แต่รายได้ยังน้อยกว่าเอไอเอส “ศุภชัย” ระบุควบรวมเพราะต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริการเพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า ด้าน “กสทช.” เสียงอ่อนอาจไม่ผิดกฎหมาย เหตุบริษัทที่ควบรวมไม่ใช่ผู้รับไลเซนส์โดยตรง
จับตา ‘เอไอเอส’ จัดหนักกลยุทธ์รักษาผู้นำ
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคม แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงดีลนี้ว่า เป็นการ Synergy ที่น่าสนใจ หากมองในแง่จุดแข็งของแต่ละฝ่าย
โดยทรูมีนวัตกรรมที่พร้อม มีคลื่น 5จี ขณะที่ ดีแทค หลายคนมองว่าเป็นเบอร์ 3 ไม่มีอีโคซิสเต็มส์อื่นๆ ไม่มีฟิกซ์อินเทอร์เน็ต แต่ต้องไม่ลืมว่าการทำธุรกิจที่ผ่านมาของดีแทค มีสีสันเข้าถึงผู้ใช้บริการที่เป็น บีโลว์เดอะไลน์ แพ็คเกจไม่แพงมาก เน้นความคุ้มค่า หรือการที่ดีแทค มีเทเลนอร์ดูแล ก็มีประสบการณ์ดูแลตลาดในอาเซียน มีธุรกิจในเมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซียซึ่งค่ายอื่นอาจจะไม่มี
"ประเด็นหลักของดีลนี้ เขาไม่ได้มองตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่อาจจะมองไปถึงตลาดนอกประเทศ เปิดตลาดที่กว้างกว่าในไทย"
นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า จากนี้ไปต้องจับตาผู้นำอย่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ซึ่งหากมองในหลายแง่มุม เอไอเอสยังคงแข็งแกร่ง และเป็นเบอร์ 1 อยู่ อย่าไปมองแค่ตัวเลขลูกค้า เพราะ 51 ล้านราย กับ 43 ล้านราย แทบไม่มีนัยในการวัดผล
"ถ้าคนที่เขาเป็นเบอร์ 1 คิดจะทำแพ็คเกจ ทำอะไรก็แล้วแต่ เพื่อให้ยังคงเป็นเบอร์ 1 ผมว่าเขาก็ทำได้ ด้วยความพร้อมในทุกด้าน เชื่อว่า เอไอเอสก็ต้องเตรียมตั้งรับเหมือนกัน โดยส่วนตัวมองว่า เอไอเอสยังมีความแข็งแกร่ง หากดูฐานลูกค้าความเป็น Royalty และผลประกอบการ คงต้องยอมรับว่าเอไอเอสก็ยังเป็นเบอร์ 1 ในวงการนี้อยู่"
ขณะที่ ความเคลื่อนไหวของ เอไอเอส วานนี้ (22 พ.ย.) ลุยโพสต์ทุกช่องในสื่อโซเชียล มีเดีย ขอบคุณลูกค้าที่เชื่อมั่นและอยู่กับเอไอเอส มา 31 ปี พาเหรดพรีเซ็นเตอร์เชิญชวนลูกค้ามาอยู่ในเครือข่ายเอไอเอส พร้อมติด แฮชแท็ก #อยู่กับเอไอเอสดีที่สุด #WelcomeToAISFamily
ชี้ตลาดโทรคมนาคมเริ่มอิ่มตัว
นายสืบศักดิ์ ยังกล่าวถึงประเด็นการประมูลคลื่นความถี่ในอนาคตจะเหลือผู้แข่งขันน้อย ว่า ถ้ามีการประมูลอีกบรรยากาศโดยรวมถ้าเทียบกับการประมูลในอดีต และตัวคลื่นที่ยังเหลืออยู่ อาจไม่ได้มีภาพของการแข่งขันแบบอดีตแล้ว เพราะคลื่นความถี่ ที่โอเปอเรเตอร์มีอยู่ในมือแต่ละรายขณะนี้ก็มีจำนวนมากพอ สามารถเสิร์ฟลูกค้าได้ ขณะคลื่นที่เหลือที่จะนำออกมาประมูล เหลือย่านที่น่าสนใจคือ คลื่น 3500 ซึ่งถ้าไม่ได้คลื่นนี้ก็ไม่ได้กระทบอะไรมาก แต่ว่าคลื่น 3500 ก็มีจุดแข็งที่มีอุปกรณ์รองรับเยอะ แต่ตอนนี้อุปกรณ์ที่รองรับคลื่นความถี่ ที่แต่ละค่ายมีก็มากพอสมควรอยู่แล้ว
"การประมูลที่จะได้ใบอนุญาตในราคาสูงๆ 3-4 หมื่นล้าน และต้องแย่งกันเหมือนในอดีต ภาพนั้นมันอาจจะไม่มี เพราะการอิ่มตัวที่โอเปอเรเตอร์มีคลื่นอยู่ในมือพอสมควรอยู่แล้ว หรือหากจะประมูลคลื่นมาเพิ่ม ก็แค่ต้องการเสริมทัพในบางส่วน ดังนั้นภาพการแข่งขันก็จะเปลี่ยน ต่อให้ไม่มีควบรวมทุกค่ายก็เริ่มอิ่มตัวในการมีทรัพยากรที่เพียงพอ ส่วนคลื่นที่พร้อมจะให้ประมูลต่อไป ก็ไม่ใช่คลื่นใหญ่ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน จาก 3จี เป็น 4จี หรือ 4จี เป็น 5จี อีกแล้ว มันไม่ได้หวือหวา อาจแค่หาคลื่นไปเติมเต็มในบางเซ็กเมนท์ "
ส่วนเรื่องประเด็นอำนาจเหนือตลาด อาจเป็นเรื่องที่เร็วไปเพราะเพิ่งเอ็มโอยูแล้วประกาศเจตนารมณ์ แม้แต่การควบรวมก็ต้องไปทำกระบวนการอะไรอีกมาก สุดท้ายแล้วต้องมีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้ง กสทช. ซึ่งก็มีกฏเกณฑ์ในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องรอกิจกรรมมันเดินไปก่อน
"ผมเชื่อว่าทั้ง 2 บริษัท ก็คงทำทุกอย่างตามที่กรอบกฏหมายอนุญาต คงไม่อยากที่จะผิดเงื่อนไขใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจเหนือตลาด หรือการผูกขาด เพราะถ้าทำผิดหลักเกณฑ์ก็ย่อมผิดต่อกฏหมาย ทรูเองก็เป็นบริษัทขนาดใหญ่ หรือเทเลนอร์เป็นบริษัทข้ามชาติ ที่เวลาขยับทำอะไรเขาจะคำนึงถึง Corporate Governance เชื่อว่าเขาคงไม่เสี่ยงทำอะไรผิด"
อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า แลนด์สเคปของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยจะไม่ได้มีแค่ เอไอเอส และทรูดีแทคที่ควบรวมกัน แต่ยังมีเอ็นทีอีกราย
"ส่วนเรื่องจำนวนผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศ ตลาดโทรคมนาคมของแต่ละประเทศในยุคทองจะมีอยู่หลายราย แต่ที่สุดแล้วรายเล็กจะอยู่ไม่ได้ ในหลายประเทศที่เป็น Benchmark มาก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือแม้แต่ในอังกฤษ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่เข้มแข็งจะเหลืออยู่แค่ 3 รายเท่านั้น อย่างสิงคโปร์ ผลสุดท้ายก็เหลือแค่ 3 ราย เหลือสิงเทล เอ็มวัน สตาร์ฮับ ผมเชื่อว่าในไทยถ้าเหลือ เอไอเอส ทรู ดีแทค และเอ็นที มี 3 รายก็ยังไม่แย่ ไม่ถึงกับเป็นการผูกขาด หรือยังไม่ถึงกับไม่มีตัวเลือกเลย" นายสืบศักดิ์ กล่าว
ซีพี เทเลนอร์ ผนึกกำลังลุยภูมิภาค-โลก
วานนี้ (22 พ.ย.) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) สนับสนุนให้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เข้าควบรวมกิจการเพื่อตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ สร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม กองทุนสตาร์ทอัพ สอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
โดยระหว่างการศึกษา และพิจารณาปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจทรู และดีแทค ยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ความหมายคือ ระยะสั้นนี้ ตลาดมือถือในไทยยังคงมีผู้เล่นรายใหญ่ครบ 3 ราย ดังนั้นลูกค้าผู้ใช้บริการไม่ต้องกังวลยังสามารถใช้บริการเครือข่ายของตัวเองได้ตามเดิม
นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ และดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทระหว่างกัน โดยเทเลนอร์ กรุ๊ปและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี)ได้เข้าทำบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (Non -Binding Memorandum of Understanding) เพื่อบันทึกความประสงค์ของคู่สัญญาในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจระหว่างกันด้วยวิธีการควบบริษัท (Amalgamation) รวมถึงกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนของการควบบริษัท
ขั้นตอนต่อจากนี้ไป จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์ สถานะทางธุรกิจ (Due Diligence) คาดว่าจะจบได้ในไตรมาส 1/2565 จากนั้นในไตรมาส 2/2565 จะสามารถลงนามในสัญญา หรือข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการทางตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงเข้าสู่กระบวนการทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) ต่อไป เพื่อรวมกิจการทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน
ปูทางรับพายุเทคโนโลยีลูกใหม่
นายซิคเว่ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจากนี้ไปหรือ 20 ปีข้างหน้า จะแตกต่างจากเดิมมาก เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5จี เอไอ ไอโอที คลาวด์ จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่ใช่แค่บริษัทแต่จะเป็นกับทุกบริษัททั่วโลก เป็นการปฏิวัติเชิงเทคโนโลยี ทำให้บริษัทจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับทรู เพื่อเตรียมพร้อมก้าวไปสู่ในอีก 20 ปีข้างหน้า และต้องทำในสิ่งที่ต่างจากเดิมที่ทำมาในอดีต
"เอไอ คลาวด์ เทคโนโลยีอวกาศ จะเป็น Perfect Storm จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง เราจึงต้องยกระดับการแข่งขันสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า”
เขากล่าวด้วยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย อยู่ในพื้นที่ ที่ดีมาก ที่จะก้าวไปสู่ดิจิทัลในอนาคตด้วยกัน ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้ในอนาคต ขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ จะสามารถทำให้ผู้บริโภคชาวไทยเข้าถึงดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ดีแทคออกมาประกาศสร้างธุรกิจใหม่
คาดมูลค่าบริษัททะลุ 2.17แสนล้าน
อย่างไรก็ตามบริษัทใหม่ที่จะก่อตั้งร่วมกัน ระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มเทเลนอร์ จะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน และเมื่อรวมกันแล้วจะส่งผลให้มีความแข็งแกร่ง ที่จะเดินหน้าลงทุนในนวัตกรรมระดับโลก รวมถึงบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคคนไทย
พร้อมกันนี้บริษัทใหม่ จะมีขนาดที่ใหญ่มาก โดยจะมีรายได้ประมาณ 2.17 แสนล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (อีบิทด้า) ราว 83,000 ล้านบาท รวมถึงจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงรายได้ราว 40% ใกล้เคียงกับผู้เล่นรายใหญ่ อย่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส และยังคงเป็นผู้เล่นรายใหญ่อยู่ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่อุตสาหกรรม
“ในแง่ของส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) จะไม่เกิน 40% ใกล้เคียงกับเอไอเอส โดยเราเปรียบเทียบส่วนแบ่งการตลาดเชิงรายได้ก็เพราะว่าบางคนอาจจะถือมากกว่า 1 ซิม ดังนั้นการดูรายได้จะแม่นยำกว่า ซึ่งแม้จะเกิดการควบรวมกันแล้วเอไอเอสก็ยังคงเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดในเชิงรายได้มากกว่า”
ลุยศึกษาเทคโนโลยีอวกาศ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการกลุ่มทรู กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (แลนด์สเคป) ได้เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคมจะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี
รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
หวังปลดล็อกศักยภาพธุรกิจ
การก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยีคือ กุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดด และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กระจายไปทั่วประเทศได้ ซึ่งในฐานะบริษัทไทย
"เรามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทย และผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมทั้งยังจะสามารถดึงดูดคนที่เก่งที่สุด และธุรกิจล้ำสมัยจากทั่วโลก ให้มาทำธุรกิจในประเทศไทยได้อีกด้วย ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าวตามแนวทางดังกล่าว"
นายศุภชัย กล่าวว่า ปัจจัยที่สององค์กรร่วมเป็นพันธมิตรกัน เพราะได้เล็งเห็นว่าทั้งคู่มีข้อจำกัด ที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าต่อได้ ข้อจำกัดที่ว่าเรายังเป็นผู้ประกอบการที่ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้บริโภคและประเทศไทยได้
ตั้งวีซีลุยสตาร์ทอัพ-ดิจิทัล
ขณะที่ เห็นบทบาทใหม่ที่สำคัญคือ เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่จะสร้างเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐเข้าลงทุนเทคโนโลยี หรือการดึงดูดการลงทุนในเทคโนโลยี ในเรื่องของเทคสตาร์ทอัพ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่ๆ
“การแข่งขันในสเต็ปต่อไปคือ การแข่งขันในระดับภูมิภาค ระดับโลก เราต้องมีการผนึกกำลัง มีความจำเป็นในลักษณะ PPP เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทย”
นายเยอเก้น โรสทริป รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า “ข้อตกลงในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างฐานของเราในเอเชียให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างคุณค่า และพัฒนาตลาดในภูมิภาคนี้ในระยะยาว
“บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100 – 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย”
แจ้งตลาดไฟเขียว “ควบรวม”
ขณะที่ วานนี้ ( 22 พ.ย ) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ถึงมติคณะกรรมการทั้ง 2 บริษัทเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ควบบริษัทระหว่างกัน และรับทราบความประสงค์ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ นอกจากนี้ยังได้พิจารณากำหนดอัตราการจัดสรรหุ้นด้วย
สำหรับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท ให้แก่ผู้ถือหุ้นของทรู และผู้ถือหุ้นของดีแทคในอัตราส่วน ดังนี้ คือ 1 หุ้นเดิมในทรู ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมในดีแทคต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่
อัตราการจัดสรรหุ้นข้างต้นกำหนดขึ้นจากสมมุติฐานว่า ภายหลังการควบบริษัท บริษัทใหม่จะมีหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด จำนวน 138,208,403,204 หุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
อย่างไรก็ตาม จำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดและมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นของบริษัทใหม่ ภายหลังการควบบริษัทจะมีการเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของทรู และดีแทคพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนของการควบบริษัทต่อไป
นอกจากนี้คณะกรรมการ 2 บริษัท รับทราบจากบริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture Company) ระหว่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของทรู และเทเลนอร์ เอเชีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของดีแทคโดย Citrine Global มีความประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อทรูในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 5.09 บาท ขณะที่ความประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของดีแทคโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ ราคาเสนอซื้อหุ้นละ 47.76 บาท
ทั้งนี้การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ที่ไม่ประสงค์จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ สามารถขายหุ้นของตนในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจได้
เสียงอ่อนไม่น่าผิดกฎ กสทช.
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค ได้เดินทางมาชี้แจงที่สำนักงาน กสทช.ว่า ขณะนี้การดำเนินการอยู่ระหว่างระดับบนคือ เทเลนอร์ กรุ๊ป และซีพี ซึ่งหากอยู่ในขั้นตอนเหล่านี้ จึงยังไม่เกี่ยวข้องกับ กสทช. ส่วนระดับกลางซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565 นั้นเป็นระดับของ ดีแทค และกลุ่มทรู ซึ่งยังไม่มีการเจรจากันถึงระดับล่างในบริษัทผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.คือบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น)และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) จึงยังไม่เข้าเงื่อนไข กฎเกณฑ์ หรือ ประกาศของ กสทช.
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องกระบวนการตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องอำนาจเหนือตลาด หรือการผูกขาดตลาดในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม กสทช.จะมีการตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะซึ่งทั้ง ดีทีเอ็น และทียูซีต้องแจ้งและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของ กสทช.โดยในวันนี้ (23 พ.ย. ) และ กสทช.จะเชิญตัวแทนจากทรูเข้ามาชี้แจงด้วย
จี้ต้องดูแลหวั่นลูกค้ากระทบ
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า แม้ว่าสำนักงาน กสทช.มีการชี้แจงว่า ไม่สามารถห้ามการควบรวมของทรูและดีแทค เพราะไม่ได้เป็นบริษัทผู้รับใบอนุญาต แต่ทั้งสองบริษัทคือ บริษัทแม่ และเป็นผู้ถือหุ้นของทั้งดีทีเอ็นและทียูซี ดังนั้น กสทช.ต้องดู และมีการกำหนดเงื่อนไขการให้บริการไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งตามระเบียบแล้วทั้ง 2 บริษัทต้องแจ้งให้ กสทช.ทราบก่อนการควบบริษัท 90 วัน และสำนักงาน กสทช.แจ้งว่า กสทช.ไม่สามารถยับยั้งการควบบริษัทได้ ซึ่งตนเองก็ยังคาใจว่ากฎหมายเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ซึ่งต้องขอดูในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากลงมาถึงระดับล่างทั้งดีทีเอ็น และทียูซี รวมเป็นบริษัทเดียว ในมุมผู้บริโภคจะมีตัวเลือกในการใช้บริการน้อยลง ซึ่ง กสทช.ต้องกำกับดูแลและวางเงื่อนไขในการให้บริการไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์