"มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564" เวทีอวดโฉมวิจัยระดับชาติกว่า 500 ผลงาน!
หนึ่งปีมีครั้งเดียว! ยกทัพโชว์สุดยอดงานวิจัยพร้อมใช้ใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564" เวทีระดับชาติที่ถูกจัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมคุณภาพของไทย ผ่านการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ สู่สายตาสาธารณชน
พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต
ในยุคโควิด-19 แม้จะมีสถานการณ์วิกฤติที่ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน แต่กระนั้นในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นภาพของสังคมไทยที่เข้มแข็ง และยืดหยุ่น ซึ่ง "งานวิจัย" ก็ได้ถูกนํามาใช้ประโยชน์และตอบโจทย์อย่างมากต่อประเทศ ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยไปได้มากเลยทีเดียว
และแน่นอนว่าประเทศไทยได้มีการผลักดันด้านงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาโดยตลอด และก็เช่นเดียวกันกับ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564" หรือ Thailand Research Expo 2021 เวทีระดับชาติที่ถูกจัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมคุณภาพของประเทศไทย ผ่านการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน และพาณิชย์ อุตสาหกรรม
โดยมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ได้ถูกจัดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ด้วยการผลักดันของ "สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)" ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ คัดผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 500 ผลงาน มาให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มาเรียนรู้อย่างใกล้ชิด ซึ่งในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 26 พ.ย. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” เพื่อแสดงถึงพลังของงานวิจัยที่เป็นกลไกเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลและการวางแผนปฏิบัติทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยี
ดมกลิ่นประเมินมะเร็ง
ในขณะที่งานวิจัยที่ถูกนำมาจัดแสดงนั้นมีหลากหลายมิติ ในครานี้ "กรุงเทพธุรกิจ" จะพาไปเรียกน้ำย่อย ทำความรู้จักกับผลงานวิจัย 4 ชิ้นระดับชาติ เริ่มต้นกันที่ “นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ” ผลงานวิจัยโดย ดร.วรรณา เลาวกุล หัวหน้าคณะวิจัยจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ได้ทำการวิจัยได้ร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ เป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินความเสี่ยงมะเร็งของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
โดยนวัตกรรมดังกล่าว มีคุณสมบัติใช้งานง่าย เพียงเป่าลมหายใจเข้าไปในเครื่อง ใช้เวลาประมวลผลเพียง 20 วินาที สามารถประเมินผลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ว่ามีแนวโน้มควรเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งหรือไม่ ปัจจุบันทดสอบการใช้งานนวัตกรรมฯ กับผู้ป่วยมะเร็งปอดและกลุ่มคนปกติในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พบว่า ประสิทธิภาพของนวัตกรรม มีความแม่นยำถึง 70% ในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม นำไปขยายผลประเมินความเสี่ยงของประชาชนผู้ได้รับหรือสัมผัสสารมลพิษทางอากาศ เช่น พื้นที่ปัญหาหมอกควัน เป็นต้น
บุ๋งบุ๋งฟอกอากาศ
ถัดมาคือผลงานวิจัยที่สอดรับเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างนวัตกรรม “เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง” รางวัลระดับนานาชาติ นวัตกรรมถูกและดี ช่วยสิ่งแวดล้อมปลอดภัย "นายแพทย์อานนท์ จำลองกุล" โดยเป็นการเครื่องกรองอากาศสำหรับพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่ปิดและพื้นที่เปิด ที่มีต้นทุนการบำรุงรักษาต่ำและไม่ต้องใช้แผ่นกรองที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก เลยกลายเป็นต้นแบบเครื่องกรองอากาศ “บุ๋งบุ๋ง” ซึ่งที่เป็นผลงานพัฒนาเครื่องรุ่นที่3
โดย เครื่องรุ่นที่ 3 มีหลักการทำงานโดยดึงอากาศลงไปในน้ำ จากนั้นอากาศจะลอยพ้นน้ำมาอีกด้าน ซึ่งจะมีตัวดักฝุ่น ดักฟองน้ำที่จะลอยคืนกลับให้ฟองน้ำแตกตัว โดยใช้แผ่นฟองน้ำ โดยไม่ให้ฟองอากาศลอยกลับไปอีกด้านและดูดอากาศกลับคืนสู่บรรยากาศ ทั้งปรับจากปั๊มลมที่ดันอากาศลงน้ำมาเป็นพัดลมอัดอากาศที่ดูดอากาศออกจากน้ำซึ่งช่วยลดแรงต้านทานออกจากน้ำ
ทั้งนี้อัตราการดูดอากาศของปั๊ม 900 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง 2 ตัวรวม 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สามารถใช้งานในพื้นที่วัดความสูงจากพื้นถึงเพดาน 2-3 เมตรเป็นพื้นที่ประมาณ 100-500 ตารางเมตร
ขจัดไวรัส-ฝุ่นละออง
นอกจากเครื่องฟอกอากาศจะช่วยทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดแล้วเชื่อว่ายังจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสในอากาศได้ จากการวัดค่าฝุ่นที่เครื่องสามารถกรองได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ PM0.3-0.10 ขณะที่ไวรัสโควิด-19 มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดPM 0.125 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าฝุ่น PM 0.1 เครื่องวัดในห้องปฏิบัติการยังไม่สามารถวัดได้ แต่จากผู้คนที่เดินไปมา เชื้อไวรัสมีการปะปนออกมากับละอองน้ำลายที่มีขนาดเกินกว่า PM 0.3 จึงคาดการณ์ว่า จะสามารถกรองหรือฆ่าเชื้อได้
นายแพทย์อานนท์ กล่าวต่อว่า ต้นทุนการพัฒนาเครื่องต้นแบบรุ่นที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท แต่หากมีการผลิตในระดับอุตสาหกรรมจะอยู่ระหว่าง 20,000 -30,000 บาทหรือต่ำกว่านี้ ทั้งมีค่าใช้จ่ายถูกทั้งค่าน้ำและค่าไฟไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน สามารถปรับทำให้มีขนาดเล็กหรือใหญ่ตามที่ต้องการ เวลานี้มีการจดอนุสิทธิบัตรกระบวนการทำงานไว้แล้ว และจะมีการทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นและการทดสอบทางไฟฟ้าจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเพื่อนำผลงานเข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย และเตรียมพร้อมสำหรับการจดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญาระดับนานาชาติต่อไป
ทั้งนี้นวัตกรรมชิ้นนี้สามารถการันตีความโด่งดังได้จากรางวัลระดับนานาชาติ เป็นประกาศเกียรติคุณระดับเหรียญทอง จากเวที "Innovation Week in Africa” (IWA 2021) และได้รับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จากบทความวิจัยเรื่อง Semi-outdoor filterless air purifier for smog and microbial protection with water purifier system ในวารสาร Environmental research ซึ่งอยู่ในฐาน Scopus ระดับ Q1 อีกด้วย
น้ำหอมจากขนแพะ
ต่อมาก็มีดีไม่แพ้กันนั่นก็คือ ผลงานวิจัยด้านความสวยความงามอย่าง "น้ำหอมจากขนแพะ" นวัตกรรมรีไซเคิลที่ ได้โจทย์มาจากการที่ "ขนแพะ" เป็นขยะเหลือทิ้ง และจากการบอกเล่าของ นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานกรรมการบริษัท ศรีผ่องพานิช จำกัด ขนแพะโดยปกติถูกกำจัดโดยวิธีเผาทิ้งอย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าคือวัตถุดิบที่มีมูลค่ามหาศาล
ผลงานวิจัยโดย นางสาวขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงได้ลงพื้นที่ไปจังหวัดกระบี่ นำขนแพะมาสกัดพบว่า ได้สารสกัดมีกลิ่นหอมที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นน้ำหอมได้ รวมถึงพัฒนาเป็นอย่างอื่นได้ เนื่องจากมีคุณค่ามีคุณสมบัติสูง มีกรดไขมันสูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ เมื่อนำมาทำน้ำหอมแล้ว นอกจากได้กลิ่นน้ำหอมแล้ว
ยังนำมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอมและเครื่องสำอาง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทางด้านเครื่องสำอางและน้ำหอม หากนำมาใช้มากจะทำให้เกิดความต้องการจากท้องถิ่นและทำให้ขนแพะมีมูลค่าสามารถขายได้ แม้ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งราคา แต่ในการวิจัยที่ผ่านมาซื้อขนแพะจากจังหวัดกระบี่มาที่ราคา 1,000 บาท ต้องใช้ขนแพะปริมาณ 100 กรัมได้ สารสกัด 0.5 มิลลิกรัม ทำน้ำหอมได้ 3 ขวด ราคาประมาณ 3,000 บาท
ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริม BCG (BCG Economy) ในการเป็น Circular Economy สามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์สูงมีคุณค่า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วย นอกจากนี้ยังจะช่วยส่งเสริมนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเพื่อการแข่งขันกับนานาชาติด้วย และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่เป็น Green Economy ในบีซีจีอีกด้วย
ขนิษฐา กล่าวต่อว่า ขณะนี้การวิจัยมีความคืบหน้าถึงการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ มีสารสกัดที่มีการทดสอบฤทธิ์ มีความพร้อมสูงที่จะนำไปเป็นส่วนประกอบของน้ำหอม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความหอม หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ปล่อยกลิ่นหอมระเหยและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ดีสู่ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและประเทศอีก โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นเจ้าแรกของประเทศและเป็นเจ้าแรกของเอเชีย
ขณะนี้ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมประมาณ 9 กลิ่น เป็นกลิ่นสำหรับผู้หญิง 7 กลิ่น และกลิ่นสำหรับผู้ชาย 2 กลิ่น ซึ่งเป็นกลิ่นที่มีการพัฒนาแล้วและมีส่วนผสมของแพะที่มีสารฟีโรโมนอยู่ในนั้นด้วย นอกจากใช้ในน้ำหอมแล้ว ยังใช้ในครีม โลชั่น สบู่
ส่วนการพัฒนาต่อจากนี้อาจเป็นการนำสิ่งที่เหลืออยู่ ได้แก่ ขนแพะที่เหลือจากการสกัดสารออกแล้ว หรือ ขนแพะที่สะอาดแล้ว โดยอาจจะทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรงปัดแก้มขนแพะ และอาจพัฒนาใช้ในรูปแบบเทคโนโลยีเอนแคปซูเลชัน ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้อีกด้วย
และสุดท้ายคือ “เครื่องดื่มน้ำนมข้าวสีไทยทับทิมชุมแพ” สุดยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผลงานนักวิจัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชันจากข้าวสีไทย พันธุ์ทับทิมชุม 100% เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์
เนื่องด้วย "ข้าวสีไทย" เป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศ โดยเฉพาะพันธุ์ทับทิมชุมแพที่มีความโดดเด่น คือ เป็นข้าวเจ้าเยื่อหุ้มสีแดง คล้ายทับทิม มีคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระฟีนอลิกสูง และฟลาโวนอยด์ที่สูงกว่าข้าวสีไทยพันธุ์อื่น สามารถให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ป้องกันเลือดอุดตัน และมะเร็ง อีกทั้งมีปริมาณอมิโลสต่ำ เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน นับเป็น Functional Drink ที่สำคัญ
นางพวงเพ็ชร์ นิธยานนท์ นักวิจัยจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ผู้วิจัยต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพโดยใช้ข้าวสีไทยพันธุ์ทับทิมชุมแพ โดยการบูรณาการศาสตร์ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายตลาดข้าวไทย โดยเฉพาะในกลุ่มข้าวสีซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศโดยคัดสรรวัตถุดิบสายพันธุ์ข้าวสีสายพันธุ์แท้ จากวิสาหกิจชุมชนแปลงนาสะอาด จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ที่มีคุณภาพและปลอดภัย
สามารถให้ผลผลิตตลอดทั้งปีเพื่อนำมาพัฒนาเป็นเครื่องดื่มน้ำนมข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นเครื่องดื่มฉลากทางเลือกสุขภาพ โดยวิสาหกิจชุมชนฯมีความเข้มแข็ง พร้อมพัฒนาร่วมกับนักวิจัยเพื่อต่อยอดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดย้ำนมข้าวสีไทย ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยระบบพาสเจอร์ไรซ์ เก็บได้ในอุณหภูมิเย็น ได้นาน 15 วัน ปราศจากสารกันเสียและสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ ไม่เติมสี และแต่งกลิ่น
ด้าน ผศ.ดร.รวมพร เลี่ยมแก้ว จากคณะการจัดการธุรกิจอาหาร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า นักวิจัยตั้งใจทำผลิตภัณฑ์ออกมาในรูปแบบที่ทานง่าย ตอบโจทย์ผู้บริโภค เป็นเครื่องดื่ม Healty beauty ที่ทำจากข้าวเต็มเมล็ด โดยขณะนี้ได้ขยายผลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ สู่การผลิตในระดับเล็ก เพื่อเป็นแนวทางในการขยายผลการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และความสนใจจาก บริษัท วีฟู๊ด (ประเทศไทย) จำกัด ในการร่วมทุนดำเนินโครงการ พร้อมทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย เพื่อวางแผนการตลาด และยังได้รับการจดอนุสิทธิบัตรผลงานร่วมกัน