"การทูตนวัตกรรม" ไทย-ฟินแลนด์ ชูโกบอลสตาร์ทอัพ ดันประเทศสู่ชาตินวัตกรรม
"เอ็นไอเอ" เดินหน้านโยบายการทูตนวัตกรรม พร้อมผนึกกำลังกับ Business Finland หน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรมของฟินแลนด์ ขยายความร่วมมือการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจระหว่างประเทศ รุกติดความพร้อมบีซีจีโมเดล ชูโกลบอลสตาร์ทอัพเพิ่มแรงหนุนการลงทุน 2 ประเทศ
สำหรับการลงนาม "การทูตนวัตกรรม" ครั้งนี้เป็นการลงนามขยายอายุสัญญาอีก 3 ปี โดยต่อเนื่องมาจากปี 2561 ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมระหว่างประเทศในหลากหลายมิติ ประกอบด้วย การสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยและฟินแลนด์ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG Economy) การพัฒนาธุรกิจดิจิตอล (Digitalization) การส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) การยกระดับความสามารถของเยาวชน (Entrepreneurial University) และการส่งเสริมด้านการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ซึ่งความร่วมมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลไก ‘การทูตนวัตกรรม’ หรือ Innovation Diplomacy ที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศ และสนับสนุนให้เกิดการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม”
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA มีแนวทางการพัฒนา ‘การทูตนวัตกรรม หรือ Innovation Diplomacy’ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทย โดยอาศัยพื้นฐานความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทและภารกิจคล้ายกับ NIA และองค์กรนานาชาติที่มีศักยภาพทางนวัตกรรมมายกระดับความเป็นสากลของนวัตกรรมไทย และเพื่อพัฒนาภาพลักษณ์ประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” ในสายตาของประชาคมโลก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา NIA และ Business Finland เคยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือกันมาตั้งแต่ปี 2561 ครั้งเมื่อ NIA เข้าเยี่ยมคารวะ Mr. Jari Gustafsson ปลัดกระทรวงและผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงการเศรษฐกิจและการจ้างงาน แห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ ณ House of Estate กรุงเฮลซิงกิ ซึ่งหลังจากนั้น NIA ก็ได้มีการประสานความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮลซิงกิ มาอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม และการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมของทั้งสองประเทศมาโดยตลอด รวมถึงการจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการด้านนวัตกรรมมาหลายครั้ง เช่น งานสัมมนา Fuse@Bangkok ด้านองค์กรนวัตกรรม และการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือการจัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ การส่งเสริมผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19 เป็นต้น
“สำหรับการลงนามครั้งนี้เป็นการลงนามขยายอายุสัญญาอีก 3 ปี โดยมีแผนการพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรมต่อเนื่องจากเดิมในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG Economy) ตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทย ทั้งในส่วนของการพัฒนาเมือง และการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ การพัฒนาธุรกิจด้านดิจิทัล (Digitalization) การส่งเสริม สตาร์ทอัพของทั้งสองประเทศผ่านการพัฒนาศูนย์บริการ Global Startup Hub และโปรแกรม Landing Pads การส่งเสริมการค้าการลงทุนของบริษัทที่มีศักยภาพ อีกทั้งครั้งนี้จะเพิ่มการพัฒนาความร่วมมือในเรื่องของการยกระดับความสามารถของกลุ่มนิสิต นักศึกษาและเยาวชน ผ่านเครือข่ายการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ระหว่าง NIA และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของฟินแลนด์ เพื่อให้การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของทั้งสองประเทศครอบคลุมในทุกมิติมากยิ่งขึ้น” พันธุ์อาจ กล่าวสรุป
ด้าน H.E. Mr. Jyri Jarviaho เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐฟินแลนด์ กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงนามความร่วมมือในวันนี้ ซึ่งถือเป็นการปูทางที่ดีสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่าง Business Finland และ NIA ในอีกสามปีข้างหน้า จะเห็นได้ว่าทั้งสององค์กรนี้มีความเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรม ทั้งการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การผลักดันด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว และการสนับสนุนด้านการเงิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในยุคนี้ไม่สามารถทำได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศนวัตกรรมของทั้งประเทศไทยและฟินแลนด์