เปิดวิธี "ย้ายค่ายเบอร์เดิม" เช็คเงื่อนไข กี่วันเรียบร้อย!! ยุ่งยากแค่ไหน!!

เปิดวิธี "ย้ายค่ายเบอร์เดิม" เช็คเงื่อนไข กี่วันเรียบร้อย!! ยุ่งยากแค่ไหน!!

"เคลียร์ลิ่ง เฮ้าส์" จะเป็นตัวกลางในการทำระบบ โดยที่ผ่านมาระยะเวลาของการย้ายค่ายเบอร์เดิมอยู่ที่ 2 วัน แต่หลังๆนี้ มีการร่นขั้นตอนและกระบวน เพื่อดึงลูกค้าไปอยู่ในเครือข่ายตัวเองจึงทำระบบให้เร็วขึ้น

จากกระแสข่าวอภิดีลการควบรวมของ TRUE ของ DTAC สร้างการพูดถึงในวงกว้าง ตามแต่ทัศนะของแต่ละคนในหลากหลายมุมมอง แน่นอนว่า แลนด์สเคปของอุตสาหกรรมย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงใน 1 ปีนับจากนี้อย่างแน่นอน 

หันกลับมายัง AIS ที่หลายคนปรามาทว่าจะถูก "โค่น" บัลลังก์เบอร์ 1 และยัดเยียดที่ 2 ให้โดยปริยาย หลังจากอยู่ในตำแหน่งมาตลอด 30 ปี เพราะหากสองค่ายนั้นรวมกันจะมีลูกค่ารวมกันมากถึง 51 กว่าล้านราย ขณะที่ AIS มี 43.7 ล้ายราย 

ประเด็นนี้จริงๆแล้ว กูรูหรือนักวิชาการ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า หากมองให้ลึกลงในโครงสร้างรายได้แล้ว การนับว่าใครผู้นำในตลาดในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ธนาคาร หรือ อสังหาริมทรัพย์เอง ก็ไม่เคยมีการนับกันว่า แบงก์ไหนมีลูกค้าเยอะที่สุด หรือ ใครขายบ้านได้มากกว่ากัน แต่สิ่งที่ต้องดูคือ รายได้ ผลประกอบการ มาร์เก็ต แคป ดังนั้น สถานะผู้นำในตลาดโทรคมนาคมยังคงเป็นของแชมป์เก่าไม่เปลี่ยนไป 

แต่ก็ด้วยภาพลักษณ์แล้ว การตีความเรื่องความเป็นที่ 1 อยู่ที่ใครจะมองในมิติไหน เมื่อบริบทเปลี่ยน แนวทางการทำธุรกิจและกลยุทธ์ต้องเปลี่ยนตาม และ AIS เองก็ไม่สามารถนิ่งเฉยในสถานการณ์นี้ และก็ถือเป็นการโต้กลับกลายๆตามแผนการตลาด ทำให้เราได้เห็นแคมเปญที่ออกมาในช่วงดังกล่าว ทั้งการดึงลูกค้ามาอยู่ด้วย การชวนย้ายมาอยู่กับ AIS ผ่านพรีเซ็นเตอร์ของบริษัทนับ 10 คน วันนี้ กรุงเทพธุรกิจ ชวนมาทำความรู้จัก ว่าอะไรกันคือ การย้ายค่ายเบอร์เดิม 
 

อะไรคือ "ย้ายค่ายเบอร์เดิม"

บริการย้ายค่ายเบอร์เดิม (Mobile Number Portability: MNP) คือ บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ลูกค้าสามารถโอนย้ายเบอร์มือถือจากผู้ให้บริการรายเดิมไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ได้โดยยังสามารถใช้เบอร์มือถือเบอร์เดิมได้ตามปกติ โดยบริการดังกล่าวเป็นไปตามประกาศของสำนักงานกสทช.ที่ออกมาแก้ปัญหา ในช่วงแรกที่มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทาน มาสู่ระบบใบอนุญาต และการเปลี่ยนผ่านจากระบบอะนาล็อกยุค 2จีเข้าสู่ยุค 3จี

การย้ายค่ายเบอร์เดิมระบบใหม่นี้ สำนักงาน กสทช. ได้ออกแบบเครื่องมือเพื่อให้ผู้ใช้บริการที่ประสงค์จะย้ายค่ายสามารถเช็คหรือตรวจสอบสิทธิของตัวเองได้ฟรีก่อนย้ายค่าย เพียงกด *151* เลขบัตรประชาชน 13 หลัก (หรือเลขบัตรที่เคยใช้ลงทะเบียนซิม) # โทรออก หากไม่ติดเงื่อนไขใดๆ เช่น เป็นบุคคลเดียวกับที่เคยลงทะเบียนซิมไว้ และไม่มียอดค้างชำระกับค่ายมือถือที่ใช้งานอยู่ ก็จะได้รับรหัสแสดงตน 8 หลัก ทาง SMS ภายใน 10 นาที เพื่อนำไปสมัครย้ายค่าย ณ จุดบริการของค่ายใหม่ โดยจะสามารถย้ายไปใช้งานกับค่ายใหม่ได้ภายใน 2 วันทำการเท่านั้น

ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการเปิดให้บริการ 3G มียอดการโอนย้ายเลขหมายสะสมในต้นปี 2559 จำนวน 53.2 ล้านเลขหมาย และเพิ่มขึ้นเป็น 58.7 ล้านเลขหมายในเดือนมกราคมปี 2560 ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวโน้มการย้ายค่ายเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ส่วนปี 2563 ล่านั้น สำนักงาน กสทช. ระบุตัวเลขว่ามีการโอนย้ายเลขหมายแล้วมากกว่า 97 ล้านเลขหมาย

ซึ่งการย้ายค่ายเบอร์เดิมเป็นการอำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้กับผู้ใช้บริการในการเลือกใช้บริการกับค่ายที่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ดีกว่า มีราคาที่เหมาะสม และมีบริการที่ประทับใจ พร้อมทั้งส่งผลให้มีการแข่งขันในอุตสาหกรรมสูงขึ้น

คาปาซิตี้สูงสุด9หมื่นเบอร์

สำนักงานกสทช. เป็นตัวกลางในการำเรื่องนี้ โดยได้ตั้งบริษัทหนึ่งขึ้นมาในชื่อ "เคลียร์ลิ่ง เฮ้าส์" เป็นคนกลางทำระบบเวลาที่มีผู้ใช้งานคนไหนต้องการออกจากค่ายเก่าไปอยู่ค่ายใหม่ โดยนอกจากดูเรื่องหนี้สินคงค้างระหว่างกันที่มีอยู่กับค่ายเก่าให้เรียบร้อย เคลียร์ลิ่ง เฮ้าส์จะจัดการคอนฟริกเบอร์จากค่ายเดิมเข้าไปยังค่ายใหม่ และระบุตัวตนของเบอร์นั้นๆให้ไปเบอร์ของค่ายใหม่ โดยอดีตที่ผ่านมา ระยะเวลาของการย้ายค่ายเบอร์เดิมอยู่ที่ 2 วัน แต่พักหลังๆนี้ ก็มีการทำงานของค่ายใหม่ที่อยากจะรับลูกค้าเข้าไปอยู่ในบ้านของตัวเองพยายามทำระบบให้เร็วขึ้น

แหล่งข่าวจากสำนักงานกสทช. ยอมรับว่า ปัจจุบันความจุของรองรับการย้ายค่ายเบอร์เดิมอยู่ที่ 90,000 รายต่อวัน แต่ในขณะนี้ก็มีการส่งคำขอเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งทางเคลียร์ลิ่ง เฮ้าส์ก็เร่งดำเนินการไม่ให้ติดขัด

แต่ก็พบว่าหลังจากที่ข่าวการควบรวมออกไป ก็มีลูกค้าที่ต้องการย้ายค่ายมากขึ้น แต่ตนไม่ขอบอกว่าย้ายจากค่ายไหนเป็นค่ายไหน แต่ยอมรับว่ามีคำขอย้ายเข้ามามากกว่าปกติ

ชวนย้ายค่ายแบบออนไลน์

แต่เดิมหากลูกค้าต้องการย้ายออกจากค่ายเก่าไปหาค่ายใหม่ ต้องไปศูนย์บริการเพื่อทำเรื่อง กรอกเอกสาร เคลียร์หนี้สินที่คงค้างระหว่างกันอยู่ถ้าหากมี แต่ปัจจุบันเริ่มมีการให้บริการผ่านทางออนไลน์ โดยทั้ง 3 ค่ายมือถือก็มีขั้นตอนที่แตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย แต่รวมๆแล้ว จะมีด้วย 4 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1  เช็กให้พร้อมก่อนย้าย ถ้าใช้ระบบรายเดือนอยู่ ก็ต้องเช็กว่าไม่มียอดค้างชำระเหลืออยู่ และไม่อยู่ระหว่างการโอนเปลี่ยนเจ้าของ และไม่ติดสัญญาแพ็กเกจหรือสัญญาอื่นๆ กับเครือข่ายเดิม แต่ถ้าใช้ระบบเติมเงิน ก็ต้องเช็กให้มั่นใจว่าเลขหมายของคุณ ได้รับการลงทะเบียนภายใต้ชื่อของคุณเรียบร้อยแล้ว และใช้เงินที่เหลืออยู่จนหมด เพราะการย้ายค่ายจะไม่สามารถโอนเงินและโอนวันจากเครือข่ายเดิมได้

ขั้นตอนที่ 2 เลือกแพ็กเกจ ที่จะย้ายไปโดยใน ขั้นตอนนี้จะสำคัญมาก เพราะค่ายเก่าก็จะรั้งคุณเอาไว้ด้วยโปรโมชั่นใต้ดินที่จะงัดออกมาเพื่อไม่ให้ลูกค้าหนีไปหาคู่แข่ง ส่วนค่ายใหม่ที่จะไปหา ส่วนใหญ่จะมีโปรโมชั่นล่อใจเรียกว่า ดัมพ์ราคาแพคเก็จถึง 50% บวกกับเอาสมาร์ทโฟนรุ่นที่ร่วมรายการไปใช้ได้ฟรีๆ ทั้งแบบรายเดือนและแบบเติมเงิน จะเน้นโทรหรือเน้นเล่นเน็ต ชอบแบบไหนก็เลือกได้เลย

ขั้นตอนที่ 3 เตรียมเอกสารสำหรับย้ายค่าย สิ่งที่ต้องเตรียมก็จะมีบัตรประชาชน แค่นี้ก็ทำการย้ายค่ายออนไลน์ตามขั้นตอนนี้ได้เลย 1.ใส่เบอร์ที่ต้องการย้ายค่ายออนไลน์ พร้อมรหัส OTP 2.ใส่ข้อมูลส่วนตัว แนบบัตรประชาชน พร้อมที่อยู่ในการจัดส่ง 3.ใส่รหัสย้ายค่าย โดยกด * 1 5 1 *
หมายเลขบัตรประชาชน(13 หลัก) # ตรวจสอบคำขอย้ายค่าย และส่งข้อมูล     

ขั้นตอนที่ 4 ทำเสร็จตามขั้นตอนการย้ายค่ายออนไลน์เรียบร้อย ลูกค้าสามารถเข้าไปยังค่ายที่จะไปแล้วทำตามขั้นตอนที่แจ้งในระบบออนไลน์ได้เลย    หลังจากทำครบทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้วก็รอรับซิมการ์ดใหม่ของค่ายที่เราจะไอยู่ด้วย โดยจะจัดส่งไปให้ตามที่อยู่ที่ได้ลงทะเบียนแจ้งไว้ และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมบริการโอนย้ายเครือข่ายด้วย จากนั้นก็รอรับ SMS แจ้งผลการย้ายเครือข่าย โดยในระหว่างรอใช้ซิมของเครือข่ายเดิมไปก่อน โดยระบบจะแจ้งผล SMS ส่งข้อความไปที่ซิมเครือข่ายเดิมของคุณ วันที่ 2 หลังจากยื่นเอกสาร โดยจะบอกเลยว่าได้รับอนุมัติ วันที่/เวลาเท่าไหร่ที่สามารถเริ่มใช้งานได้ หรือถ้าไม่ได้รับอนุมัติ ก็จะแจ้งสาเหตุว่าเพราะอะไรถึงไม่ได้รับอนุมัติ และจะมีแจ้งผล SMS ส่งข้อความไปที่ซิมของเดิมของคุณ

จับตาสมรภูมิฝุ่นตลบช่วงนี้ 

ดังนั้น เป็นที่น่าจับตาดูว่า ช่วงสุญญากาศระหว่างการควบรวมเบอร์ 2 และ เบอร์ 3 ของตลาดเพื่อต่อกรกับพี่ใหญ่นั้น เราจะได้เห็นผู้นำสาดโปรโมชั่น แคมเปญเพื่อรักษาฐานลูกค้า หรือ ชวนลูกค้าใหม่ที่อาจจะมีความไม่แน่นอนกับการควบรวมมาอยู่กับตัวเอง หรืออาจจะได้เห็นการผนึกกำลังของพันธมิตรหน้าใหม่เพื่อรุมกินโต๊ะแชมป์เก่าก็เป็นได้