"การแพทย์ทางไกล" ในวันที่ "5G" ทำให้การรักษาตรงจุด อยู่ใกล้แค่เอื้อม
ชวนส่อง เทคโนโลยี “การแพทย์ทางไกล” (TeleMedicine) สำคัญอย่างไรในยุคที่ต้องเว้นระยะห่าง ไทยเราพัฒนาถึงไหน แล้ว "5G" จะเข้ามาเป็นส่วนช่วยสำคัญเพียงใด? หาคำตอบได้ที่นี่
การระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลาเกือบสามปีที่ผ่านมานี้ ได้เร่งรัดให้เทคโนโลยีล้ำหน้าในอนาคตหลายอุตสาหกรรมถูกพัฒนาและนำออกมาใช้อย่างรวดเร็วขึ้น
ทางด้านการแพทย์ก็เช่นกัน เมื่อโรคร้ายนี้ทำให้ผู้คนต้องรักษาระยะห่าง ไม่สามารถพบเจอกันได้ “การแพทย์ทางไกล” (Telemedicine) จึงเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นชนิดที่ว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดู “การแพทย์ทางไกล” (TeleMedicine) สำคัญอย่างไรในยุคที่ไม่สามารถเจอกันได้ ไทยพัฒนาไปถึงไหนแล้ว และ 5G มีบทบาทสำคัญอย่างไร?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
1. การรักษาทางไกล (Telemedicine) สำคัญอย่างไรในยุคนี้?
อันที่จริงแล้ว “การรักษาทางไกล” เป็นนวัตกรรมที่มีส่วนช่วยกับวิทยาการทางการแพทย์มานานแล้ว โดยมีจุดประสงค์สำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกสถานพยาบาล, ก้าวข้าวอุปสรรคด้านภูมิศาสตร์, เป็นแนวหน้าใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร และพัฒนา-ดูแล-รักษา สุขภาพให้ตรงจุดมากที่สุด
โดยเฉพาะเมื่อโลกทุกวันนี้ ต้องมีการเว้นระยะห่าง กักตัว ไม่สามารถเจอกันตัวเป็นๆ ได้เพื่อรักษา เพราะโรคโควิด-19 ทำให้การรักษาทางไกลต้องพัฒนากันอย่างจริงจัง
2. ประโยชน์ของการรักษาทางไกล
นอกจากการรักษาทางไกลจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่ผู้ต้องการรับการบริการทางการแพทย์ควรรู้ ดังนี้
- ช่วยให้คนที่อยู่ทางไกล เข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น
- ช่วยให้ได้รับคำแนะนำการดูแล รักษา และป้องกันได้ อย่างไม่โดดเดี่ยว
- อำนวยความสะดวกเรื่องการใช้เวลา การเดินทาง
- ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้อย่างรัดกุม เพราะปกติต้องไปที่สถานพยาบาล ก็มิอาจทราบได้เลยว่าอยู่ใกล้ผู้ป่วยที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่ หากมีภูมิคุ้มกันต่ำและอ่อนแอ อาจไม่ใช่เรื่องที่ดี
ภาพ: Medical Device Network
3. รูปแบบการบริการ “รักษาทางไกล” มีแบบไหนบ้าง?
สำหรับการบริการของการรักษาทางไกลมีด้วยกัน 3 รูปแบบ โดยส่วนใหญ่เป็นการรับ-ส่งข้อมูล ดังนี้
- รับหรือส่งข้อมูลเพื่อวินิจฉัยทางการแพทย์ เช่น เอ็กซเรย์ ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว ข้อมูลคนไข้ เมื่อแพทย์มีข้อมูลเหล่านี้ จะสามารถทำการวางแผนการรักษาต่อได้ด้วยความเชี่ยวชาญ
- ติดตามอาการผู้ป่วย ทั้งแบบอาการทั่วไปและอาการที่น่าเป๋นห่วง โดยเฉพาะบางกรณีที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล มีความจำเป็นอย่างมากหากเดินทางลำบาก
- สื่อสาร ตอบโต้ได้อย่างเรียลไทม์ ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนส์ ซึ่งทำให้แพทย์สามารถซักประวัติคนไข้ได้อย่างละเอียด ทั้งร่างกายและสภาวะจิตใจ
4. สถาบันการแพทย์ไทย ใช้การรักษาทางไกล มากแค่ไหน?
กรมสุขภาพจิตไทย ได้เปิดเผยว่า ประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐอเมริกา ใน ปี 62 มีการใช้การรักษาทางไกลถึง 96,000 ราย ตามด้วย ปี 63 มีมากถึง 18 ล้านราย ซึ่งเพิ่มขึ้น 190 เท่าตัว โดยคาดว่าปี 64 ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ อาจทำรายได้ได้ถึง 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกัน ทาง SCB ก็ได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่า สถาบันการแพทย์ในประเทศไทยได้มีการนำโปรแกรมการรักษาทางไกล มาใช้บ้างแล้ว เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการใช้การรักษาแบบนี้ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Chula Teleclinic โดยรุดหน้าพัฒนาแนวทางการรักษาให้ครอบคลุมด้วยสิ่งต่างๆ ดังนี้
- แอพพลิเคชั่นต้องมีการรักษาความปลอดภัยสำหรับข้อมูลของผู้ป่วย
- ดิจิทัล ดีไวซ์ เช่น สมาร์ทวอช หรือรองเท้าอัจฉริยะ และสมาร์ทโฟน สามารถส่งข้อมูลสุขภาพให้กับทางสถานรักษาพยาบาลได้
- สัญญาณเน็ตครอบคลุมในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ และเชื่อมต่อกับดาต้าของ Digital Health Center ในประเทศ
- นวัตกรรม AI จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการและโรคได้ตรงจุด-แม่นยำมากขึ้น
ภาพ: Science.org
5. เทคโนโลยี 5G จะมีส่วนช่วยพัฒนา การรักษาทางไกล ได้ขนาดไหน?
แม้ก่อนหน้านี้เทคโนโลยี 4G จะทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้มากขึ้น แต่ก็ยังสู้ประสิทธิภาพของ 5G ในวันนี้ไม่ได้เพราะการตอบสนอง, ความถี่ในการใช้งาน, การรับรองพื้นที่การใช้งาน และการถ่ายโอนข้อมูล ของเทคโนโลยีล่าสุดนี้เหนือชั้นเรื่องความไวกว่าหลายเท่าตัว
โดย 5G จะช่วยเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีทางการแพทย์และทุกอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้าขึ้นได้มากขึ้น เพิ่มการเชื่อมต่อในวงกว้างให้มีประสิทธิภาพ การสื่อสารกันจะมีความคมชัดกว่าเดิม ในระดับ 4K หรือ 8K มีความเสถียร รวมถึงจะช่วยให้ประมวลผล และลดค่าใช้จ่ายาส่วนอื่นๆได้
หากอยากรู้ว่า เทรนด์ 5G จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างไรในยุคที่การสื่อสารต้องมีระยะห่าง แต่จะทำอย่างไรให้ความไร้พรมแดนของเครือข่ายไม่เป็นอุปสรรคในการแก้โจทย์ของอุตสาหกรรมตนเองได้ตรงจุด ถึงแก่น และประสบความสำเร็จ สามารถรับฟังเพิ่มเติมได้ที่งานสัมมนา 5G THAILAND BIG MOVE ในวันพฤหัสบดี ที่ 2 ธันวาคม 2564 เวลา 08.30 น. – 15.30 น. ลงทะเบียนได้ที่ www.bangkokbiznews.com/seminar/5GThailandBigMove สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 338 3000 กด 1
----------------------------------
อ้างอิง: SCB, depa, Alcohol Rhythm, AIS, Marketingoops, กรมสุขภาพจิต(1), กรมสุขภาพจิต(2), โรช ไทยแลนด์