กางแผนยุทธศาสตร์ดัน "Sport Economy" อัพมูลค่าด้วยองค์ความรู้-นวัตกรรม

กางแผนยุทธศาสตร์ดัน "Sport Economy" อัพมูลค่าด้วยองค์ความรู้-นวัตกรรม

ม.กรุงเทพ ฉายภาพ “เศรษฐกิจการกีฬา" (Sport Economy) พร้อมผลักดันสู่แผนกลยุทธ์มุ่งเป้าสู่การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศทางด้านการกีฬา อ้างอิงบทเรียนความสำเร็จในต่างประเทศที่มีการทำคลัสเตอร์กีฬา

ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บนเวทีการจัดประชุมเฉพาะเรื่อง ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนา Sport Economy ในประเทศไทย” ทางด้านคณาจารย์และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันฉายภาพการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจการกีฬา (Sport Economy) ในประเทศไทย ผ่านการจัดทำกระบวนการกลุ่ม พร้อมกับนำมาจัดทำแผนกลยุทธ์มุ่งเป้าสู่การสร้างเศรษฐกิจการกีฬาในประเทศไทย เพื่อเป็นอีกหนึ่งแผนในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศทางด้านการกีฬา และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

รับลูกจัดตั้ง 'เมืองกีฬา' 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กาญจนา ส่งวัฒนา รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้อภิปรายเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจการกีฬา (Sport Economy) ในประเทศไทย โดยมีใจความสำคัญว่า การพัฒนาเครือข่ายเศรษฐกิจการกีฬา เริ่มต้นจากการดำเนินการของคลัสเตอร์เศรษฐกิจการกีฬา ที่หมายถึง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มงานวิจัย รวมถึงเครือข่ายอื่นๆ มารวมตัวดำเนินกิจการอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยมีความร่วมมือเกื้อหนุนและเชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร

รวมทั้งเชื่อมโยงผู้ประกอบการธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคม สถาบันการศึกษา หน่วยงาน และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยประโยชน์ของการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ได้แก่ 1.การสร้างเครือข่ายที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งไม่ได้จำกัด อยู่เพียงแต่ภาคเอกชน แต่รวมไปถึงสถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน องค์กรภาครัฐ และสมาคมต่างๆ 

2.การสร้างเครือข่ายก่อให้เกิดความร่วมมือกัน ซึ่งจะร่วมกันหารือถึงโอกาสและกำหนดกลยุทธ์ที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

3.ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยตนเองและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

"หลักๆแล้วจึงเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพของการผลิตและการบริหารจัดการ นอกจากนี้คือการสร้างองค์ความรู้เฉพาะทางทำให้สมาชิกมีองค์ความรู้ ทั้งนี้ต้นแบบคลัสเตอร์กีฬาของต่างประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบตะวันตกค่อนข้างมาก

ดังนั้นจึงได้มีการสำรวจการทำเกี่ยวกับการทำคลัสเตอร์กีฬาในต่างประเทศ ที่สามารถแบ่งออกเป็นฝั่งสหรัฐ ที่มีเศรษฐกิจเกี่ยวกับกีฬาค่อนข้างมาก  โดยมีการแบ่งหมวดกิจกรรมกีฬา ตั้งแต่กิจกรรมกีฬาที่สามารถเข้าร่วมได้ อาทิ ยิม ศูนย์กีฬา ฟิตเน็ต สมาคม และอีกจำพวกคือกิจกรรมดูกีฬา อาทิ สปอร์ตทีม ในระดับมหาวิทยาลัยที่จะสามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอื่นๆเช่น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการถ่ายทอดสด ซึ่งไม่เพียงแต่ตัวนักกีฬา แต่จะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเช่นมีเดีย หรือ การออกแบบสถานที่ต่างๆด้วยเช่นกัน"

ส่วนประเทศไทยมีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาเช่นกัน 1.แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) ที่จะเกี่ยวเนื่องในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา Sport Economy 

2.แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ที่จะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มตรงจุดนี้จะเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการกีฬา รวมทั้งการพัฒนาการกีฬาเพื่อการท่องเที่ยวและนันทนาการ (Sport Tourism) 
 

3.แผนยุทธศาสตร์กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (2560-2564) โดยแผนยุทศาสตร์สำคัญคือ การมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาและการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม 4.แผนยุทธศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย (2560-2564) ที่จะเน้นไปที่การบริการจัดการองค์กร สถานกีฬา อุปกรณ์กีฬา ให้มีมาตรฐานโดยมุ่งเน้นการบูรณาการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนากีฬาของประเทศ และการบริหารทางการกีฬา

ทั้งนี้สำหรับการขับเคลื่อนแผนฯฉบับที่ 6 ที่มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี สามารถแบ่งแนวทางการขับเคลื่อนในมิติต่างๆ ได้เป็น 2 ระยะ เริ่มที่ 1.กีฬาพื้นฐาน ที่แนวทางระยะสั้นจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพ สร้างมาตรฐาน และพัฒนาหลักสูตรพลศึกษากลาง ส่วนแนวทางระยะกลางคือ การส่งเสริมการพัฒนาความรู้ ความตระหนักในน้ำใจนักกีฬา พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนครูพลศึกษาและผลักดันการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

กางแผนยุทธศาสตร์ดัน \"Sport Economy\" อัพมูลค่าด้วยองค์ความรู้-นวัตกรรม

2.กีฬาเพื่อมวลชน  แนวทางระยะสั้นจะเป็นการส่งเสริมการจัดกิจกรรมออกกำลังกายและเล่นกีฬา ส่วนระยะกลางคือ ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดกิจกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมจิตสาธารณะรองรับความต้องการทั้งประเทศ 

3.กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ/อาชีพ โดยในระยะสั้นจะเป็นการเฟ้นหานักกีฬาและผลักดันสู่การแข่งขัน ส่วนระยะกลางคือ การพัฒนามาตรฐานและคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรการกีฬา และส่งเสริมระบบการพัฒนานักกีฬาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

4.อุตสาหกรรมการกีฬา โดยที่แนวทางระยะสั้น จะมีการจัดให้หน่วยงานรับผิดชอบ ส่งเสริมการจัดกิจกรรม Sport tourism และศึกษาพัฒนา Sport City ส่วนระยะกลางคือ การสร้างบรรยากาศการลงทุนในอุตสาหกรรมการกีฬา ประชาสัมพันธ์กิจกรรม Sport Tourism จัดตั้ง Sport City และเตรียมความพร้อมให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมสากล

5.องค์ความรู้และนวัตกรรมกีฬา ที่ระยะแรกจะต้องประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักและจัดตั้งมหาวิทยาลัยกีฬา ถัดมาในระยะกลางคือการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และผลักดันให้มีการนำองค์ความรู้ไปใช้ 

6.การบริหารจัดการกีฬา ที่ระยะสั้นจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ ส่วนระยะกลางจะมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง เสริมสร้างการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆและยกระดับระบบการบริหารขององค์กรกีฬาภาครัฐสู่มาตรฐานสากล

สถานการณ์ Sport Economy ในช่วงที่ยังไม่มีโควิดเข้ามาเกี่ยวข้อง จะพบว่าการเติบโตของกีฬาจะแตกต่างออกไป อันดับ 1 คือ  อีสปอร์ต จากที่รวบรวมข้อมูลในปีล่าสุดถึงแม้จะเผชิญกับสถานการณ์โควิดแต่ในหลายๆประเทศ อาทิ เอเชีย หรือ อเมริกา ก็มีการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับกีฬามากขึ้น โดยอุตสาหกรรมกีฬาสามารถแบ่งย่อยเป็น ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสมาคมกีฬา หรือ บริษัทเทคโนโลยีทางด้านกีฬา ที่สามารถพัฒนาการกีฬาให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ได้

กางแผนยุทธศาสตร์ดัน \"Sport Economy\" อัพมูลค่าด้วยองค์ความรู้-นวัตกรรม

ส่วนเทรนด์ของกีฬาโดยอันดับแรกก็ยังคงเป็นฟุตบอล การต่อสู้ในหลายๆหมวด สำหรับโครงสร้างของคลัสเตอร์จะมาจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยก่อนที่จะทำ Sport Economy ได้มีการทำคลัสเตอร์กีฬาเฉพาะที่มีความซับซ้อน เช่น มวยไทยอาจจะไม่ใช่แค่ภาพของกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นในส่วนของมรดกชาติ วัฒนธรรมประเทศร่วมด้วย ดังนั้นการพัฒนามวยไทยจึงไม่ใช่แค่การพัฒนากีฬา แต่จะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ ศิลปวัฒธรรม รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้วยเช่นกันที่สามารถสร้างความบันเทิงให้กับผู้พบเห็น และดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวในละแวกใกล้เคียง

ทั้งนี้เครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับ Sport Economy ได้แก่ 1.เครือข่ายอุปกรณ์กีฬา อาทิ ลูกฟุตบอล ลูกบาส จักรยาน ไม้แบตมินตัน ไม้กอล์ฟ เป็นต้น 2.เครือข่ายบริการสนับสนุนธุรกิจกีฬา เช่น สถานที่ออกกำลังกาย อาทิ ฟิตเน็ต โรงเรียนฝึกสอน รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อการกีฬา 3.เครือข่ายเครื่องแต่งกายกีฬาและอุปกรณ์เสริม อาทิ เสื้อ กางเกง 4.เครือข่ายอาหารและยาสำหรับนักกีฬา ไม่ว่าจะเป็น ยาสมุนไพร อาหารเสริมสร้างกล้ามเนื้อ หรือบำรุงร่างกาย  5.เครือข่ายสื่อและผู้จัดการแข่งขันกีฬา อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี สื่อออนไลน์ งานอีเว้นท์ สปอนเซอร์


"สำหรับมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศไทยในช่วงหนึ่งที่มีการวิ่งมากขึ้น จะส่งผลต่อการเติบโตของกลุ่มรองเท้าวิ่ง และเสื้อผ้าสำหรับการออกกำลังกาย อย่างไรก็ดีมีปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ หรือ อุปกรณ์การกีฬา ในบางครั้งหากต้องการโปรโมทอุตสาหกรรมการกีฬาในประเทศไทย

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือการโปรโมทแบรนด์ไทย ที่จะต้องเน้นในเรื่องของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือ อุปกรณ์การกีฬา ที่จะต้องอาศัยการผลิต การประชาสัมพันธ์ แหล่งเงินทุนของผู้ผลิตรายย่อยที่จะต้องมี และพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะที่จะขับเคลื่อนในด้านต่างๆ อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา การวิจัยและพัฒนาทางด้านผลิตภัณฑ์และการบริหารสินค้า เพื่อให้มีการผลิตที่มากขึ้น" ผศ.กาญจนา กล่าว

ดังนั้นหากพูดถึงอุตสาหกรรมการกีฬาประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนและราคาขายอุปกรณ์และเครื่องแต่งกายกีฬา มีวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตปริมาณมาก เช่น ยางพารา พลาสติก สมุนไพร อีกทั้งมีทั้งที่ตั้งเหมาะสำหรับการจัดงานและการกระจายสินค้า 

ส่วนโอกาสไม่ว่าจะเป็น 1.เทรนด์ด้านสุขภาพและความนิยมในกีฬาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก 2.ผู้คนในประเทศมีการตื่นตัวเรื่องกีฬามากขึ้น 3.โอกาสจากการท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาจากการจัดกิจกรรมด้านกีฬา เช่น ไตรกีฬา Motorsport 


สำหรับจุดอ่อนจะเป็นในเรื่องของด้านคุณภาพ และมาตรฐานของอุปกรณ์กีฬาและสถานบริการ รวมทั้งความรู้ด้านการบริหารจัดการของผู้ให้บริการเมื่อเทียบกับต่างประเทศ รวมทั้งเทคโนโลยีด้านอาหารและยา ที่ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทาง อีกทั้งการขาดการส่งเสริมในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา 

ส่วนอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนยังให้ความสนใจในระยะสั้น ปัญหาด้านการใช้ภาษาสำหรับการดำเนินธุรกิจ การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าของธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งการที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการยังเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการลงทุนการสนับสนุนทางด้านภาษี การส่งเสริมการใช้สินค้าและบริการในประเทศ รวมทั้งการสร้างปัจจัยในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจการกีฬา 

"ทั้งหมดนี้การผลักดันจะต้องเริ่มจากการสร้างค่านิยม ทัศนคติที่เกี่ยวกับกีฬาและสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาผ่านการศึกษา การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาเพื่อเพิ่มการพัฒนาการกีฬาในโรงเรียน ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน ผู้ฝึกสอน ที่มีจุดเด่นด้านกีฬา ถัดมาคือการพัฒนาด้านการตลาดของหน่วยธุรกิจมากขึ้น อาทิ การขยายตลาดด้าน Sport Tourism หรือแม้กระทั้งการจัดหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ"

กางแผนยุทธศาสตร์ดัน \"Sport Economy\" อัพมูลค่าด้วยองค์ความรู้-นวัตกรรม

โดยทั้งหมดนี้จะเป็นการลดข้อจำกัดและอุปสรรคทั้งในเรื่องของการนำเข้าและส่งออก เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมการกีฬามากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มบทบาทเอกชนในการจัดการทรัพยากรกีฬาให้มากขึ้น การร่วมมือกับเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างในงานกีฬา อีกทั้งการจัดตั้งกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้เอกชน เพื่อลดอุปสรรคและเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กีฬาไทย เช่น การขนส่ง ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ จัดหาแหล่งเงินทุน และสุดท้ายคือการสร้างพื้นที่สำหรับการเล่นกีฬาในแต่ละชุมชน เพื่อเป็นการส่งเสริม และทำให้ประชาชนเข้าถึงการกีฬาได้ง่ายยิ่งขึ้น 

ข้อมูลทั้งหมดนี้ได้มาจากการทำกระบวนการกลุ่ม (Focus Group) พร้อมกับนำมาจัดทำแผนกลยุทธ์ โดยแผนกลยุทธ์จะมุ่งเป้าไปสู่การสร้าง Sport Economy ในประเทศไทย โดยนำความคิด ข้อคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค ข้อดี ข้อเสีย และสถานการณ์ต่างๆ มารวมเป็นแผนกลยุทธ์ และจัดตั้งเป็นวิสัยทัศน์โดยแบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่จะพึงกระทำและจะเป็นในลักษณะที่จะเกิดขึ้นจริง