เจาะอินไซต์ ‘คนวัยทำงาน’ จุดเปลี่ยนบนชีวิตวิถีใหม่

เจาะอินไซต์ ‘คนวัยทำงาน’ จุดเปลี่ยนบนชีวิตวิถีใหม่

งานวิจัยล่าสุด โดย “ออราเคิล” และ “เวิร์กเพลส อินเทลลิเจนซ์” บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล ระบุว่า ผู้คนทั่วโลกต่างรู้สึกว่ากำลังติดอยู่กับภาวะน่าเบื่อหน่ายที่ไม่สามารถหาทางออกได้ทั้งในเรื่องอาชีพการงานและเรื่องส่วนตัว

ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้วิกฤติโควิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผู้คนมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้พนักงานบริษัท คนทำงานเกิดความเครียด เบื่อหน่าย รู้สึกไม่มั่นคงต่อทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน

สำหรับในเอเชียแปซิฟิกพบว่า คนวัยทำงานรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก และควบคุมการใช้ชีวิตของตัวเองไม่ได้ มาตรการล็อกดาวน์และความผันผวนที่ยาวนานกว่าหนึ่งปีจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนทำงานเกิดความสับสนทางอารมณ์ รู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงานของตัวเองได้ โดยบริษัทนายจ้างต่างตระหนักถึงเรื่องนี้ และเริ่มดำเนินการเพื่อดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน

ปีที่ตึงเครียดมากที่สุด

ข้อมูลระบุว่า ผู้คนกว่า 80% ได้รับผลกระทบเชิงลบจากปีที่แล้ว 31% มีความเดือดร้อนทางการเงิน, 29% รู้สึกทรมานจากสภาพจิตใจที่หดหู่, 25% ขาดแรงจูงใจในการทำงาน, 25% รู้สึกโดดเดี่ยวมากกว่าเดิม และ 22% รู้สึกถูกตัดขาดไม่สามารถชีวิตของตัวเองได้

นอกจากนี้ 63% คิดว่าปี 2564 เป็นปีที่ตึงเครียดที่สุดในการทำงาน โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 55% ต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตจากเรื่องงานในปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา

โดยผู้คนรู้สึกถึงการไม่สามารถควบคุมการใช้ชีวิตได้ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งหลังจากเกิดการแพร่ระบาด โดย 47% รู้สึกสูญเสียการควบคุมเรื่องชีวิตส่วนตัว อนาคต 46% และการเงิน 45%

ขณะที่ มีผู้คนกว่า 78% รู้สึกติดอยู่ในภาวะเบื่อหน่ายในเรื่องหน้าที่การงาน, 77% รู้สึกติดอยู่ในภาวะน่าเบื่อหน่ายในด้านชีวิตส่วนตัว มี 32% วิตกกังวลกับอนาคตของตนเอง, 27% ติดอยู่กับกิจวัตรประจำวันเดิมๆ

เขากล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ของการทำงานในอนาคต ถึงแม้ว่าคนส่วนมากจะรู้สึกยึดติดอยู่กับสิ่งต่างๆในชีวิต วิตกกังวลถึงอนาคต ติดอยู่กับกิจวัตรประจำวันเดิมๆ และรู้สึกโดดเดี่ยว แต่บรรดาพนักงานกลับรู้สึกมีพลังในการเรียกร้อง ไม่ลังเลที่จะมองหาความสำเร็จ 

'work-life balance’ สำคัญ

ดังนั้นองค์กรในประเทศไทยจำเป็นต้องกระตือรือร้นมากขึ้น ที่จะรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ในองค์กร โดยบริษัทต้องเพิ่มการดูแลพนักงานในด้านต่างๆ เป็นสองเท่าเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ และสามารถแนะนำสายงานที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อให้พนักงานสามารถกลับมาควบคุมการใช้ชีวิต หน้าที่การงานได้เหมือนเดิม

ทั้งนี้ หากต้องการรักษาและพัฒนาบุคลากรผู้มีความสามารถภายใต้สภาวะการทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ นายจ้างต้องใส่ใจต่อความต้องการของลูกจ้างมากกว่าในอดีต และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาในด้านบุคลากรต่างๆให้มากขึ้น

ผลสำรวจระบุว่า ผู้คนถูกกระตุ้นให้รู้จักเปลี่ยนแปลง แต่ยังพบความท้าทายครั้งใหญ่ โดย 93% ใช้ประสบการณ์จากปีที่ผ่านมาเพื่อไตร่ตรองชีวิตของตัวเอง, 90% ระบุว่านิยามความสำเร็จได้เปลี่ยนไปหลังเกิดการแพร่ระบาด โดยผู้คนหันไปให้ความสำคัญอย่างมากกับ work-life balance 43%, สุขภาพจิต 38% และความยืดหยุ่นในสถานที่ทำงาน 34%

หวั่นผลกระทบเชิงลบกับชีวิต

ออราเคิลพบด้วยว่า 78% รู้สึกตัน และ 27% ติดอยู่กับอาชีพการงานเพราะไม่มีโอกาสก้าวหน้าในสายงานได้, 23% รู้สึกเหนื่อยเกินไปที่จะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง

ที่น่าสนใจ 72% ที่กล่าวว่ารู้สึกจมอยู่กับอาชีพการงานมีผลกระทบเชิงลบต่อชีวิตส่วนตัวด้วย เนื่องจากเกิดความเครียดและความวิตกกังวลมากขึ้น 42%, ทำให้ยิ่งรู้สึกติดอยู่กับความรู้สึกส่วนตัวตามไปด้วย 31%, และเลิกให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัว 28%

โดย 84% พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพการงาน แต่ 79% ระบุว่าพวกเขากำลังเผชิญอุปสรรคใหญ่หลายด้าน ทั้งการขาดเสถียรภาพทางการเงิน 24% ไม่รู้ว่าการเปลี่ยนงานจะเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ 23% ไม่มั่นใจพอที่จะเปลี่ยนแปลง 22% และมองไม่เห็นโอกาสเติบโตในบริษัทเดิม 22%

เมื่อก้าวสู่ปี 2565 สิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญมากที่สุดคือ “การสร้างอาชีพ” ขณะเดียวกันต้องการ “ทักษะใหม่” และใช้ “เทคโนโลยี” เพื่อช่วยในการพัฒนาตัวเอง โดยที่จะมีบทบาทอย่างมากคือเทคโนโลยีหุ่นยนต์