‘ไมโครซอฟท์’ ผนึก ‘7 ประเทศ’ ปลุก ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ทั่วเอเชีย
ไมโครซอฟท์ ดึงเครือข่ายผู้นำจากภาครัฐ และเอกชน 7 ประเทศ ร่วมผนึกกำลัง สำรวจแนวคิดเชิงนโยบายในยุคแห่ง “คลาวด์” และ “นวัตกรรมดิจิทัล” มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงเท่าเทียม
ไมโครซอฟท์ ร่วมกับวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เปิดตัวเครือข่ายพันธมิตรดิจิทัลของผู้นำแห่งเอเชียแปซิฟิก (APAC Leaders Digital Alliance) อย่างเป็นทางการ สมาชิกเครือข่ายจัดประชุมครั้งแรกในแนวคิด “Digital for Growth: Harnessing the Power of Data for National Recovery” หรือการนำข้อมูลดิจิทัลมาขับเคลื่อนฟื้นฟูประเทศ
รวมพลัง 7 ประเทศฟื้นเศรษฐกิจ
โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐของ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ธนาคารโลก ไอดีซี และไมโครซอฟท์ เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือแนวคิดการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในองค์รวม และการวางกรอบนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนการตัดสินใจที่มีข้อมูลเป็นรากฐานสำคัญ
“การจัดตั้งเครือข่ายนี้ขึ้น นับว่าเป็นก้าวสำคัญ และยังเป็นความร่วมมือในรูปแบบนี้เป็นครั้งแรกสำหรับไมโครซอฟท์ ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกล้วนตระหนักดีถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีในการสร้างงาน คงความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจและเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่เข้าขั้นวิกฤติ"
“ฌอง-ฟิลลิปป์ คูร์ตัวส์” รองประธานกรรมการบริหารและประธานกลุ่มความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับชาติของไมโครซอฟท์ กล่าว ทั้งระบุว่า ที่ผ่านมา ได้นำแนวคิดที่มุ่งดิจิทัลเป็นหลักมาปรับใช้ในตลาดหลายแห่ง
"เราเชื่อว่า เวลานี้เป็นช่วงเวลาเหมาะสม ที่ผู้นำจากรัฐบาลจะมารวมตัวกัน เพื่อวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างการฟื้นตัวให้กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในระยะต่อไป”
ดึง‘คลาวด์-เอไอ’เสริมศักยภาพ
จากการสำรวจโดย Economist Intelligence Unit เมื่อไม่นานมานี้ พบว่า บุคลากรภาครัฐ 8 จาก 10 คนที่เข้าร่วมการสำรวจ เห็นว่ามีการลงทุนในด้านดิจิทัลมากขึ้น หลังการระบาดของโควิด-19 ต่างเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน
“สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นนี้ เน้นย้ำถึงเทรนด์ใหญ่ที่มีอิทธิพลมหาศาลในชีวิต คือ ความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องก้าวสู่โลกดิจิทัลให้มากขึ้น โดยไม่ได้มีปัจจัยขับเคลื่อนจากเหตุการณ์ด้านสาธารณสุข แต่รวมถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจ สังคม เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นภารกิจที่เครือข่ายพันธมิตรดิจิทัลของผู้นำแห่งเอเชียแปซิฟิก จะเข้ามาตอบโจทย์ ด้วยการรวบรวมความรู้ มุมมอง และแนวคิดที่เป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญมากมาย” แดนนี่ ควาห์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และคณบดีแห่งวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว
ขณะที่ รายงานวิจัยเกี่ยวกับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง ที่ต้องเกิดขึ้นโดย The Economist เผยว่า รัฐบาลและองค์กรต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว รวมถึงการลงทุนด้านการปฏิรูปด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) ช่วยให้การปฏิบัติงานของรัฐมีความมั่นคง ต่อเนื่อง ปรับตัวได้ทันสถานการณ์
เปิด 3 เรื่องหลักที่ผู้นำโลกสนใจ
“เจอราลด์ หวัง” หัวหน้าฝ่ายกิจการภาครัฐประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ ไอดีซี เผยว่า ทุกวันนี้ ประเทศ เมือง และชุมชนทุกหนแห่งต่างกำลังเดินหน้าเข้าสู่โลกดิจิทัลด้วยนวัตกรรมมากมาย คู่ไปกับการเปิดประเทศอีกครั้งอย่างระแวดระวัง สองปีที่ผ่านมา เห็นว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานเพื่อการบริการในภาครัฐได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ความสนใจของผู้นำโลกในช่วงก่อนก้าวเข้าสู่ปี 2565 นี้ ก็มุ่งไปที่สามประเด็นหลัก ได้แก่ ความมั่นคงปลอดภัย วิกฤตในห่วงโซอุปทาน และความยั่งยืน
"ผู้นำในด้านไอทีก็ควรต้องหันมาให้ความสำคัญกับความรับรู้และเข้าใจในด้านนวัตกรรมดิจิทัล ผ่านนโยบายสาธารณะและข้อบังคับต่างๆ การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุนทางดิจิทัล และตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่ตรวจสอบได้อย่างชัดเจนเพื่อให้ได้มาซึ่งความเชื่อถือของประชาชนผู้เสียภาษี และการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น 5จี คลาวด์คอมพิวติ้งเจเนอเรชันถัดไป ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ บล็อกเชน, เทคโนโลยีเออาร์/วีอาร์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือไอโอที รวมถึงระบบเอดจ์คอมพิวติ้งและควอนตัมคอมพิวติ้ง”
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายพันธมิตรทางดิจิทัลของผู้นำแห่งเอเชียแปซิฟิก จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อสานต่อการเสวนา สำรวจสถานการณ์แต่ละประเทศ และร่วมผลักดันให้เกิดการดำเนินงานและความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวต่อไป