‘เอกชน’ ยก ‘5G’ บิ๊กมูฟสำคัญ ท้าทายโลกเศรษฐกิจยุคใหม่
งานสัมมนา 5G Thiland Big Move เปิดเวทีให้ภาคเอกชน อาทิ สมาคมไอโอที ซีเมนส์ อีริคสัน พริ้นซิเพิล เอสทีที จีดีซี และซิสโก้ ร่วมถ่ายทอดแนวคิด พลังของ 5จี ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ ภายใต้หัวข้อ 5G Big Move...Drive New Econony]
นายนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า 5จี จะมีส่วนสำคัญช่วยสนับสนุนการผลิตผ่านไปสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจ และการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของอาเซียน นอกจากนี้ ที่สำคัญปลดล็อกศักยภาพธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี โดยมีโจทย์สำคัญคือจะนำ 5จี มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ที่ผ่านมาความเป็นไปได้ที่ประเมินไว้มีทั้งการพัฒนาด้านสาธารณสุข ธุรกิจอาหาร การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์ โทรคมนาคม การผลิต ผลักดันการใช้พัฒนานวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ แก้ปัญหาความยากจน การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านบุคลากรในระดับภูมิภาค
เขากล่าวว่า ในไทยกระทรวงอว.ตั้งเป้าหมายว่าจะผลักดันเอสเอ็มอี 1 พันรายให้มีรายได้ 1 พันล้านบาท และสิ่งที่ทำให้เป็นไปได้ต้องมีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เหมาะสม ผลักดันให้การนำ 5จีมาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกันนี้ ดึงบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาในประเทศ
“ประเทศมีบุคลากรที่มีคุณภาพ ภาครัฐและเอกชนพร้อมให้การสนับสนุน แม้แต่ละองค์กรมีโจทย์และบทบาทที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญคือการร่วมมือกัน และมีไอโอทีเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน ด้วยการเริ่มต้นต้องเริ่มจากข้อมูล”
พร้อมระบุว่า การเปลี่ยนผ่านไม่ใช่แค่เปลี่ยนจากอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล มีความเกี่ยวเนื่องไปในหลากหลายอุตสาหกรรม เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมีทั้งไอโอที แอดวานซ์โรโบติกส์ เอไอ พิมพ์ 3 มิติ ที่สำคัญต้องมีการให้การศึกษา เทรนนิ่ง เพื่อที่ประเทศไทยจะได้มีอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์
‘ซีเมนส์’ชี้กลไกสำคัญเคลื่อนสมาร์ทซิตี้
นางสาวสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีเมนส์ ประเทศไทย กล่าวว่า 5จี จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ และเป็นส่วนหนึ่งในโรดแมพของไทยแลนด์4.0 ซึ่งเมืองอัจฉริยะจะช่วยให้คนที่อยู่ในเมืองได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น โดยใช้นวัตกรรมไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่สามารถสั่งการได้ด้วยเสียง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าและสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้ รวมทั้งสามารถติดตั้งอุปกรณ์ ที่ผ่านอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือไอโอที ส่งผ่านระบบคลาวด์ และผ่านเทคโนโลยี 5จี ประเมินข้อมูลทำให้เมืองมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เป็นเมืองสีเขียวที่ช่วยประหยัดพลังงาน
“ล่าสุดงาน Expo 2020 ที่จัดขึ้นที่ประเทศดูไบ มีเมืองอัจฉริยะขนาดพื้นที่ 4.4 ตร.กม.ทางบริษัทเป็นซีเนียร์พาร์ทเนอร์ในการบริหารจัดการระบบเมืองนี้ มีการวางแผนถึง 5 ปี มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็น 2 เท่าของเมืองโมนาโก ซึ่งมีระบบเซ็นเซอร์ส่งผ่านข้อมูลกว่า 300,000 ตัว ซึ่งบริษัทยังคงมีแผนบริหารจัดการเมืองให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นในหลายประเทศ คาดว่า จะได้เห็นเทรนด์เมืองอัจฉริยะภายในเร็วๆ นี้”
ทั้งนี้ 5จี ยังช่วยเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในไทยให้เติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่อุตสาหกรรม4.0
“เราเป็นทั้ง OT และ IT ที่จะประสาน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า อีกทั้งเทคโนโลยี 5จี จะเป็นตัวสนับสนุนความต้องการของลูกค้าให้เกิดขึ้นจริงได้ ที่สำคัญ 5จี นับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมในยุค 4.0 รวมทั้งจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ ดันให้ไทยแข่งกับประเทศทั่วโลกได้”
'5จี' จ่อคิวเครือข่ายหลักของโลก
นายอิกอร์ มอเรล ประธานบริษัท อีริคสัน ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ระยะ 2 ปีที่ผ่านมา 5จี เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับ เป็นเจเนอเรชั่นเครือข่ายไร้สายที่มีการพัฒนารวดเร็วที่สุดมากที่สุดในประวัติศาสตร์
โดยภายในสิ้นปีนี้อีริคสันคาดการณ์ว่า ยอดผู้ใช้บริการ 5จี ทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวไปแตะ 660 ล้านบัญชี ครอบคลุม 25% ของประชากรโลก สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านคน ภายในปี 2570 เทคโนโลยี 5จี จะกลายเป็นเครือข่ายหลักของโลก โดยมีผู้ใช้งาน 4.4 พันล้านบัญชี หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของจำนวนผู้ใช้มือถือทั่วโลก
ดังนั้นเกิดคำถามคือ ผู้ให้บริการเครือข่ายจะสร้างจุดต่างการให้บริการ ส่งมอบประสบการณ์ใหม่ๆ สู่ผู้บริโภคอย่างไร หากทำได้ดีมีโอกาสอย่างมากที่จะเพิ่มการเติบโตของอาร์ปู้ สร้างความภักดีต่อแบรนด์
สร้างยูสเคส ต่อยอดสู่รายได้
เขากล่าวว่า 5จี ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภค แต่มีส่วนสำคัญต่อการปรับโฉมภาคอุตสาหกรรม และจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศไทย ที่เป็นศูนย์กลางของการผลิตจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ การผลิต สาธารณสุข สาธารณูปโภค ฯลฯ”
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้หลายองค์กรในไทยยังคงใช้เทคโนโลยีแบบเก่า ไม่ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การนำศักยภาพ 5จี มาใช้ เพื่อสร้างการเชื่อมต่อ และนำไปพัฒนาต่อยอด สร้างยูสเคส
โดย 3 อุตสาหกรรมที่อีริคสันให้ความสำคัญอย่างมากคือ การผลิต ยานยนต์ พลังงานและยูทิลิตี้ เชื่อว่ามีการนำ 5จี มาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมจะทำให้รายได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ที่ขาดไม่ได้คือ การสร้างแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างเครือข่าย ปูทางพัฒนาระบบนิเวศที่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล และเมื่อสร้างยูสเคสสำเร็จแล้ว สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปคือ การสร้างรายรับ ทำให้การลงทุนเกิดผลตอบแทน มีการนำความรู้ส่งต่อไปยังนักวิชาการ รัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และสังคมในภาพรวม
รพ.พริ้น ชี้ 5จีบิ๊กมูฟ รพ.ครั้งใหญ่
นายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอลจำกัด (มหาชน) หรือ PRINC กล่าวว่า เทคโนโลยี 5จี เป็นก้าวกระโดดก้าวใหญ่ของธุรกิจโรงพยาบาล โดย 5จี มาช่วยขยายงานอย่างรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลงทุน
จากการที่เราเป็นเครือข่ายโรงพยาบาล เมื่อมี 5จี ทำให้สามารถยกระบบโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไปอยู่ที่บ้านของคนไข้และในพื้นที่ห่างไกลได้ทันที
ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มโครงการ PRINC Next Gen (5G ) สำหรับการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่เฮลธ์เทค และขยายบริการต่างๆ เช่น เทเลเฮลธ์ ศูนย์ดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุ บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน หุ่นยนต์ทางการแพทย์ PRINC BORDERLESS HEALTHCARE PLATFORM และกระจายบริการเฮลธ์แคร์ไปในพื้นที่ห่างไกลได้ เป็นต้น
แผนงานปีหน้าของบริษัทที่สามารถใช้ประโยชน์จาก 5จี มาสนับสนุนช่วยขยายธุรกิจตามเป้าหมายตั้งเป้ามี 20 โรงพยาบาล และ 100 คลินิกตามที่วางไว้ได้ อย่างไรก็ตาม จากการที่เราได้หารือกับพันธมิตรที่จะเปิดโรงพยาบาลในพื้นที่ห่วงไกล พบว่า หากสามารถตั้งเสา 5จีในพื้นที่ดังกล่าว เราก็สามารถตั้งโรงพยาบาลได้ทันทีใน 1 สัปดาห์
พร้อมกันนี้ ในปีหน้าเราจะขยาย KIOSK ตู้กดยา หรือบริการหมอในบ้าน เป็นตู้กดยา เข้าตั้งในชุมชน นิคมอุตฯ คอนโด พื้นที่ห่างไกล มียาเท่าที่จำเป็นทำให้แพทย์สั่งยาให้กับคนไข้ได้ด้วย
“5จี จะสนับสนุนการทำงานของรัฐและเอกชน ตอนนี้ถือว่าเราอยู่ช่วงการเริ่มต้น 5จี และต้องมีไอโอทีมาเชื่อมโยงด้วย แต่เราต้องลงทุนเทคโนโลยีในพร้อม และ นำ5จี จะมาเชื่อมโยงให้ระบบต่างๆ เกิดขึ้นได้เร็วขึ้นและลดต้นทุนได้ตั้งแต่วันแรกที่ลงทุน ธุรกิจเฮลธ์แคร์ ขอให้มีความเร็ว 5จี ความเร็ว 1 กิกะบิต คุณหมอสามารถทำการรักษาได้ทันที”
‘ซิสโก้’ ชี้ 5จี เปลี่ยนคู่แข่งสู่พาร์ทเนอร์
นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า 5จี สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 30% ของจีดีพีภายในปี 2030 หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท
เทคโนโลยี 5จี เป็นเครือข่ายที่สามารถรับส่งข้อมูลจำนวนมากได้รวดเร็วมากขึ้น จึงช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างลูกค้ากลุ่มต่างๆ รวมไปถึงแอพพลิเคชั่น และเทคโนโลยีทางด้านธุรกิจที่หลากหลาย รวมถึงโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในภาคธุรกิจที่สำคัญ เช่น ภาคการผลิต
ที่สำคัญคือ 5จี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุนในอินฟราสตรักเจอร์มากมาย ต่อจากนี้ การลงทุนของ อินฟราสตรักเจอร์ในการสร้าง 5จี เน็ตเวิร์ค จะถูกรวมเป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียว และถูกควบคุมโดยซอฟต์แวร์
จากระบบเปิดของเทคโนโลยี 5จี ทำให้ปัจจุบันมีเวนเดอร์เป็น 100 ต่างจากในยุค 3จี หรือ 4จี ที่มีเวนเดอร์จำนวนไม่มาก ดังนั้นประสบการณ์ในการใช้ถือเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงเรื่องของความปลอดภัย (Security) ต้องสามารถกำหนดได้ว่า เมื่อมีคนเข้ามาในเน็ตเวิร์คของเรา เขาจะสามารถให้แอคเซสส่วนไหนได้บ้าง หรือเข้าแอพพลิเคชั่นไหนได้บ้าง มันต้องทำได้ด้วยระบบออโต้เมชั่น
“อย่างไรก็ตาม ในโลกยุค 5จี ไม่ใช่การแข่งขันในเวนเดอร์ด้วยกันเอง แต่เป็นการร่วมมือต้องคุยร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 5.0 ให้เดินหน้า”
ต้องเตรียมรับเทคอื่นที่มาพร้อม 5จี
นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มีคำถามว่าประเทศไทยจะเตรียมตัวอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เตรียมตัวสำหรับ 5จี เพียงอย่างเดียว แต่จะมีเทคโนโลยีอื่นที่จะมาพร้อมกับ 5จี เมื่อเปรียบเทียบ 4จี ให้นึกถึงเครื่องบิน ซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้วใช้งานได้ แต่ในส่วน 5จี ให้นึกถึงภาพเครื่องบินที่มีศักยภาพสูงกว่านี้ ต่อให้ไทยไม่ได้เตรียมความพร้อมอะไร 5จี ก็เกิดขึ้นอยู่ดี
สำหรับ “ดาต้าเซ็นเตอร์” ในประเทศไทย ก่อนการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เติบโต 15% แต่พอโควิด-19 เกิดขึ้นเติบโตถึง 26% อย่างไรก็ตาม ธุรกิจคลาวด์ อาทิ ไมโครซอฟท์ TikTok อเมซอน และกูเกิล ก็มีความต้องการ 5จี ด้วยเช่นกัน โดยมองว่าตลาดในอนาคตจะเติบโต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัลที่คาดการณ์ไว้ 20% ในระยะ 2-3 ปี ดังนั้นต้องผลักดัน 5จี ให้เติบโต