"ฮารุนะ" ผงผักพรีไบโอติก นวัตกรรมรางวัลนิลมังกร
เมื่อ “อาการท้องผูก” เป็นหนึ่งในความกังวลของบรรดาแม่ๆ และเช่นเดียวกันกับหลานชายวัยขวบเศษที่มีปัญหา “ท้องผูก” อย่างรุนแรง จากเพนพอยท์สู่แรงบันดาลใจในการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อมาแก้ปัญหา จนเป็นที่มาของ “ผงผักพรีไบโอติกและเส้นใยรวมจากธรรมชาติ” ภายใต้ชื่อ “ฮารุนะ”
นที และ จิรินทร์กาญจน์ ศิริธรรมวัฒน์ สองพี่น้องได้ค้นคว้าวิจัยและทดลอง กระทั่งนำมาผลิตภัณฑ์เชิงธุรกิจ “ผงผักพรีไบโอติกและเส้นใยรวมจากธรรมชาติ” เริ่มต้นธุรกิจในปี 2562 ภายใต้ชื่อ “ฮารุนะ”
เน้นออนไลน์สร้างยอดขาย
นที ในฐานะผู้บริหารบริษัท เอ็น.ที.อินเตอร์บิสซิเนส จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมผลิตภัณฑ์ด้านพรีไบโอติก ส่วนใหญ่จะเป็นเคมีสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนในตลาดประเทศไทยยังไม่ชัดเจนมากนัก ขณะที่จุดเด่นที่ทำให้ผลิตภัณฑ์แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ เขามองว่า คือ ปลอดภัย ทานง่าย และเห็นผล เนื่องจากเป็นผงผักพรีไบโอติกทำจากธรรมชาติ 100%
ช่องทางจำหน่ายจะเป็นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยออนไลน์ก็ผ่านทางโซเชียลมีเดียและมาร์เก็ตเพลสส่วนออฟไลน์จะจำหน่ายผ่านทางร้านแม่และเด็ก และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเข้าสู่ร้านเฮลธ์แอนด์บิวตี้ ซึ่งได้ดีลกับตัวแทนแล้วเบื้องต้น อีกทั้งมีแผนจะขยายสู่โมเดิร์นเทรดด้วยเช่นกัน
ขณะที่แผนดำเนินการในระยะสั้น จะเป็นในเรื่องของการก้าวเข้าสู่เส้นทางการประกวดสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย หรือโครงการนิลมังกร จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ รวมทั้งมีแผนที่จะแตกไลน์ไปสู่ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุและความสวยความงาม คาดว่าจะลอนซ์สู่ตลาดไตรมาส 1 ปี 2565 ส่วนแผนดำเนินการในระยะยาวจะเป็นเรื่องของการตั้งโรงงานผลิต ก่อนที่จะขยับสู่การส่งออก
“สำหรับผลประกอบการคาดว่าจะสามารถทำยอดขายเติบโตถึง 300% ภายในปีนี้ ส่วนปี2565 ตั้งเป้าที่จะโต 3 เท่าการที่จะโตได้ตามเป้าหมายนั้นปัจจัยสำคัญคือการขยายสู่ตลาดออฟไลน์และการวางโพสิชั่นผลิตภัณฑ์ให้เป็นอาหารประจำบ้านในระยะยาว”
ด้านความท้าทายในมุมของการทำธุรกิจ นที มองว่าคือ 1.การสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ ที่จึงต้องอาศัยช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในทุกช่องทาง และดึงอินฟลูเอนเซอร์ที่เกี่ยวข้องด้านนี้ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าไว้ว่า 10 ล้านคน จะต้องรู้จักฮารุนะ 2.การจับมือกับผู้กระจายสินค้า เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
ความรักของแม่สู่ธุรกิจทำเงิน
หากย้อนกลับมาดูสถิติข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีปัญหาท้องผูกในประเทศไทย ไม่น่าเชื่อว่าพบถึง 15-20% ของประชากร และ 1 ใน 4 ของเด็กที่ท้องผูกจะมีปัญหาต่อเนื่องจนโตอย่างคาดไม่ถึง
ข้อมูลการวิจัยพบว่า เด็กที่มีปัญหาท้องผูกมาเป็นเวลานาน และปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษา จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ได้ โดยแบ่งผลกระทบทั้งพัฒนาการของร่างกาย เมื่อเด็กท้องผูกจะรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ อาจส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อย ตัวเล็กและขาดสารอาหาร
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคท้องผูกในเด็กซึ่งมีมากถึง 5 แสนคน หรือคิดเป็น 15-20% ของประชากรวัยเด็กอายุไม่เกิน 5 ปี โดย “โรคท้องผูกในเด็ก” เป็นโรคที่พบบ่อยใน เด็กอ่อนและเด็กเหมือนกับในผู้ใหญ่ ซึ่งทั่วไปแล้วเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและอุปนิสัยการขับถ่าย เนื่องจากเด็กรับประทานผักและผลไม้น้อย
“เราพยายามศึกษาข้อมูลงานวิจัยประกอบกับพื้นฐานการศึกษา ชีววิทยา จึงนำข้อมูลที่ได้ไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขยายผลสู่ผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ ไม่มีการปนเปื้อนจากกระบวนการผลิต โดยสูตรที่พัฒนาขึ้นไม่ใส่สารเคมีและปลอดภัยสำหรับเด็ก”
ทั้งนี้ “ฮารุนะ” ได้นำวัตถุดิบจากธรรมชาติ อาทิ เม็ดแปะก๊วย ผักโขม ข้าวโพดและข้าวกล้อง มาผ่านกระบวนการจนเป็นแป้งทนการย่อย ซึ่งจะมีคุณสมบัติพิเศษคือ จะไม่ถูกย่อยและดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
แต่จะสามารถผ่านเข้าไปจนถึงบริเวณลำไส้ใหญ่ เพื่อเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์หรือพรีไบโอติก สำหรับกระตุ้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์บางชนิดที่มีประโยชน์บริเวณลำไส้ใหญ่ ปรับสมดุลกรด-ด่าง และเพิ่มปริมาณของเหลว ส่งผลให้ลำไส้ใหญ่ทำงานดีขึ้นและแข็งแรง ดังนั้นระบบขับถ่ายจึงดีขึ้นในระยะยาว
“บ้าน”จุดเริ่มแรงบันดาลใจ
นที กล่าวว่า ต่อมาได้ยื่นขอเงินอุดหนุนในโครงการ “คูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ไทยไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระยะที่ 2” จากสำนักงานนวัตกรรมฯ เพื่อทำการวิจัยยืนยันประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และรูปแบบการใช้ผงผักฮารุนะ
ขณะที่มุมมองประสบการณ์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการทำธุรกิจ ในแบบฉบับนทีนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว สำคัญคือต้องรู้ว่า “ทุกสิ่งสร้างได้” และมองว่าการที่จะพัฒนาสิ่งใดให้สำเร็จที่ไม่เพียงแต่มองว่าจะสร้างอะไร แต่จะต้องเปลี่ยนเป็น “จะแก้ปัญหาอะไร” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่มีในตลาด เพราะหากมีปัญหา มีตลาด มีผู้ที่ต้องการได้รับการแก้ปัญหามากพอ ก็จะเกิดธุรกิจขึ้น และท้ายที่สุดนี้ในมุมของเขา “บ้าน” คือแรงบันดาลใจ และคนในบ้านคือจุดสำคัญที่ทำให้สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์จริง จนเกิดไอเดียและต่อยอดสู่ธุรกิจได้ในที่สุด