ผ่า 10 เทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 65 คริปโทคอมเมิร์ซ-ไลฟ์ขายของ แรง
ปี 2564 แม้โลกยังเผชิญกับการแพระระบาดของโควิด และยังคงมีทิศทางที่ไม่น่าไว้วางใจเพิ่มขึ้น เมื่อค้นพบโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่าง “โอมิครอน” หากปีนี้ต้องถือว่ามีอุตสาหกรรมหลายกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากวิกฤติการณ์โควิด หนึ่งในนั้น คือ อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ
“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ผู้คร่ำหวอดใน อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ของไทย ผู้ก่อตั้งและซีอีโอตลาดดอทคอม เปิดคาดการณ์ 10 เทรนด์อีคอมเมิร์ซในปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "คริปโทคอมเมิร์ซ" "ซูเปอร์แอพ” รวมไปถึงการเติบโตของ “วิธี” การในการทำอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะในเรื่องของการ “ไลฟ์” ที่จะกลายเป็นเทรนด์ใหญ่ ขณะที่ กลุ่มJSL อันประกอบด้วยJD Central , Shopee และ Lazada ที่ปีหน้าจะเริ่มทำกำไรได้แล้ว
สำหรับ 10 เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 มีดังนี้
1.อีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นช่องทางหลักของธุรกิจปี 2564 อาจจะยังไม่ค่อยชัดมากเท่าไหร่ แต่ปี 2565 จะชัดมากว่าอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นช่องทางหลักในแง่ของบางธุรกิจยอดขายต่าง ๆ บางกลุ่มอีคอมเมิร์ซอาจจะไม่เมาก แต่เมื่อดูอัตราการเติบโตผมบอกได้เลยว่าน่าจะโตขึ้นอีกมหาศาลเลยทีเดียวในเชิงของการขาย
2.JSL ปีหน้าจะเริ่มทำกำไรได้แล้ว กลุ่ม JSL ประกอบด้วย เจดีเซ็นทรัล (JD Central), ช้อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) จะพยายามเข้าสู่โหมดการทำกำไร อย่างเมื่อกลางปี 2564 ลาซาด้า ส่งงบกลางปีต่อกระทรวงพาณิชย์ ตอนนี้รายได้ 1.4 หมื่นกว่าล้านบาท กำไรสูงถึง 226 ล้านได้ ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่าสงครามยังคงมีอยู่ แต่บางเจ้าเริ่มหยุดการสาดเงิน เริ่มมาโฟกัสที่การทำให้เกิดรายได้ของธุรกิจมากขึ้น
"กำไรของพวกมาร์เก็ตเพลสนั้น lazada กับ shopee จะได้มาต่างกัน shopee จะมาจากค่าคอมมิชชั่นจากการขายทุกร้านที่ไปเปิดต้องเสียค่าคอมมิชชั่นและการซื้อโฆษณาภายในเว็บไซต์ แต่ลาซาด้าจะเอาโมเดลจากจีนมาซึ่งมี 2 โมเดล คือ แบบแรกแบบ Taobao ก็คือแบบลาซาด้ามาร์เก็ตเพลสทั่วไปตรงนี้รายได้มาจากโฆษณา ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไปขายของจะไม่ต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น แต่หากต้องการยอดขายเพิ่มอาจต้องไปซื้อโฆษณาเพิ่ม"
ส่วนอีกโมเดลหนึ่งคือ LazMall ตรงนี้เปิดให้เฉพาะเจ้าของแบรนด์สินค้า ซึ่งต่องจ่ายค่าคอมมิชชั่น 2-10% ขึ้นอยู่กับประเภทหมวดหมู่สินค้า เมื่อเปรียบเทียบก็ยังถือว่าต่ำการนำไปขายในช่องทางค้าปลีกทั่ว ๆ ไปที่อาจอยู่ที่ 30% เลย นอกจากนี้ยังค่าเช่าพื้นที่ ค่าพนักงานที่ไปยืนขาย ฯลฯ
ภาวุธ เชื่อว่า โมเดลรูปแบบใหม่ที่เป็นออนไลน์จะทำให้เจ้าของสินค้าต่างๆ เริ่มสนใจเพราะค่ามาร์จิ้นหรือคอมมิชชั่นที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าของช่องทางการขายค่อนข้างต่ำกว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมี บรรดามาร์เก็ตเพลสหรือ JSL จึงมุ่งไปที่แบรนด์สินค้าหรือโรงงานต่าง ๆ เพราะกลุ่มนี้เมื่อลงโฆษณาออนไลน์จะจ่ายน้อยกว่าและเห็นยอดขายเลยทันที ซึ่งตรงนี้จึงทำให้รายได้ของผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสโตขึ้น เพราะแบรนด์ต่าง ๆ เบนเข็มเบนเม็ดเงินจากที่ไปจ่ายตามสื่อต่าง ๆ มาลงบนออนไลน์เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นว่าผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสเริ่มมีรายได้มากขึ้นและเห็นแววว่าจะมีกำไรแล้ว
3.สงครามการเป็นซูเปอร์แอพ (SuperApp) แอพที่ต้องเปิดทุกวัน เป็นแอพพลิเคชั่นที่มีทุกบริการอยู่ภายในรายที่มีความใกล้เคียงเป็นซูเปอร์แอพมาก คือ แกร็บ สั่งอาหารได้ ส่งสินค้าได้ ปัจจุบันสั่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้ ยังมีวอลเล็ทมีให้กู้เงิน ฯลฯ หรือ “ทรูมันนี่” เริ่มเป็นซูเปอร์แอพแล้ว ปัจจุบันมีกระเป๋าเงินจ่ายเงินได้ ซื้อกองทุน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ ทำได้หมดทุกอย่าง
“อีกรายที่น่ากลัวมาก คือ ช้อปปี้ ที่ปัจจุบันมีทุกอย่างและรุกหนักมาก และจะไปต่อ คือ ShopeeFood, Shopee Travel นี่คือแนวโน้มของการทำอีคอมเมิร์ซในปีหน้า ทุกรายพยายามจะกระโดดเข้ามาเป็นซูเปอร์แอพ ทุกรายขายของอยู่แล้วแต่พยายามจะขายของให้มีความหลากหลายมากขึ้น อาศัยฐานที่ตัวเองมี ทำให้ลูกค้าไม่ต้องออกไปไหนอยู่แต่ในแพลตฟอร์มตัวเองเท่านั้น เช่นเดียวกับ "แฟลช เอ็กซ์เพรส นอกจากทำขนส่ง ยังมีแผนจะไปทำ Flash Pay, Flash Warehouse พยายามกระโดดไปทำทุกอย่างเหมือนกัน"
4. ไลฟ์คอมเมิร์ซ+โออีเอ็ม (OEM) การขายของออนไลน์ผ่านการถ่ายทอดสดปีหน้า จะเป็นการขายทางออนไลน์แบบซีเรียสขึ้น เรียกว่า เป็นโปรเฟสชั่นนัล ไลฟ์ คอมเมิร์ซ และ ขายได้ในระดับหลายร้อยล้าน เช่น พิมรี่พาย
“live commerce + OEM คือ เมื่อก่อนเราอาจจะเอาของคนอื่นมาขาย แต่ปัจจุบันไม่ต้อง เมื่อไลฟ์บ่อย มีฐานลูกค้ามีคนติดตามแล้ว ก็หันจ้างบริษัทอื่นผลิตสินค้าเองเลย จะเริ่มเห็นหลายๆ คนเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง เพราะอาจได้กำไรมากกว่าเดิม 100-200%”
5.คอมบายน์ แอนด์ ออโตเมท อีคอมเมิร์ซ (Combine and automated e-commerce) ต่อไปทุกช่องทางการขายจะถูกหล่อหลอมเข้าด้วยกัน อยู่ในช่องทางเดียวกัน ยอดขายจากออนไลน์ ยอดขายจากทีวี และจากทุกสื่อทุกช่องทาง จะสามารถดึงข้อมูลมารวมไว้ที่เดียว เพื่อมาวิเคราะห์ว่าช่องทางไหนมีประสิทธิภาพมากที่สุด ช่องทางไหนเวิร์คสุดเมื่อรวมข้อมูลทั้งหมดมาอยู่ในที่เดียวกันได้ สิ่งที่ตามมาคือ automated คือสามารถต่ออัตโนมัติ เอาพวกแชทบอทเข้ามาช่วยได้ ระบบออกบิล การเก็บข้อมูลทุกอย่าง ฯลฯ การขายของในปัจจุบันจะรวดเร็วขึ้นและจะอัตโนมัติมากขึ้นเลยทีเดียว
“ล่าสุดผมพัฒนา TARAD U-Commerce 2.0 เป็นระบบที่สามารถรวบรวมยอดขายได้ทุกช่องทางไว้ที่เดียว รวมทั้งการส่งสินค้าจากหลายๆ ขนส่งที่ถูกกว่มปกติผ่าน Shippop และมีระบบชำระเงินทุกช่องทางของ PaySolutions รวมอยู่ที่เดียว”
6. รีเทล ออโตเมชั่น การมาของเครื่องขายของอัจฉริยะตลอด 24 ชั่วโมงไม่ต้องใช้คนการค้าปลีกแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คน โดยปีหน้าจะเริ่มเห็นพวกเวนดิ้ง แมชชีน พวกตู้ขายสินค้าอัตโนมัติต่างๆ ที่สามารถขายสินค้าได้ 24 ชั่วโมงมากขึ้น
"ข้อดีคือไม่ต้องจ่ายเงินเดือน ไม่ต้องมีโบนัส สามารถขายได้ 24 ชั่วโมง เป็นเครื่องที่คอยเก็บเงินอย่างเดียว มีระบบดูแลความปลอดภัยอย่างดี ใครที่ทำธุรกิจขายของอยู่แล้วอยากให้ลองมาวิเคราะห์ดูว่าเราจะสามารถใช้ตู้พวกนี้ขายของได้อย่างไรบ้าง”
7.การขายของออนไลน์ในปีหน้าจะดุมากขึ้น aggressive มากขึ้น งบประมาณโฆษณาที่ใช้เท่าเดิม ยอดขายจะได้น้อยลง เมื่อทุกคนกระโดดเข้ามาสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ เขาต้องใช้งบประมาณในการกระตุ้นต่างๆ เมื่อเริ่มใช้งบมากขึ้น งบเริ่มไม่ค่อยได้ผล การแข่งขันมากขึ้น ดังนั้น ตลาดการลงโฆษณา ตลาดการแข่งขันขายของออนไลน์จะดุเดือดมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา
8.คริปโทคอมเมิร์ซ เป็นคำใหม่ ที่ผมขอใช้คำว่า “Crypto Commerce” คือ ใช้สกุลเงินคริปโตมาร่วมกับการค้าอย่างจริงจัง ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการใช้เหรียญคริปโตมาใช้ แต่เป็นการใช้ในแง่การลงทุน เก็งกำไร ปีหน้าจะเริ่มเจอว่ามีการเอาเงินคริปโตมาซื้อของ ซึ่งปีนี้เริ่มมีให้เห็นแล้ว เช่น ใช้คริปโตซื้อรถยนต์ได้
9. D2C จะเริ่มเหิมเกริมมากกว่าเดิม (Direct to Consumer) เพราะทุกแบรนด์สินค้าและโรงงานต่างๆ ต่างโดดเข้ามาขายออนไลน์เองกันหมด เริ่มหันมาขายในมาร์เก็ตเพลส ขายผ่านโซเชียลมีเดีย เริ่มสร้างทีมของตัวเอง และเปิดร้านขายเอง ส่งเอง ตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น
“อนาคตของค้าปลีกตัวกลางอย่างดีเลอร์ และร้านค้าต่างๆ ที่ผมเคยเตือนไว้ เริ่มชัดแล้วว่าบทบาทความสำคัญจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ และปีหน้าจะเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออีคอมเมิร์ซเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ”
10.การถดถอยของธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่น (Local Business Decline) เมื่อ 1-9 มารวมกันจะเกิดการที่ธุรกิจท้องถิ่นที่อยู่ต่างจังหวัด ร้านโชห่วย ร้านค้าขนาดเล็ก ฯลฯ จะเริ่มเห็นการหดตัวในปี 2565 เพราะผู้บริโภคจะเริ่มคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์มากขึ้น จะกระทบกับธุรกิจค้าปลีกทันที ไม่ว่าจะเป็นร้านขายเสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ต่อไปจะมีผลกระทบมากขึ้นเลยทีเดียว ร้านเหล่านี้จะมีขนาดเล็กลง ยอดขายจะตกลงด้วยเหมือนกัน