ยิบอินซอย’ มองไอทีปี 2565 ดิจิทัล ขับเคลื่อนโลกธุรกิจ - เอไอ อาวุธสำคัญ

ยิบอินซอย’ มองไอทีปี 2565 ดิจิทัล ขับเคลื่อนโลกธุรกิจ - เอไอ อาวุธสำคัญ

โควิด-19 เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับธุรกิจที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวเข้าสู่ ระบบดิจิทัล แบบฉับพลันทันที ทำให้หลายองค์กรต่างมองหาเทคโนโลยีที่ทำให้การพัฒนาแอพพลิเคชันหรือบริการทางธุรกิจรวดเร็วและเป็นอัตโนมัติมากขึ้น

ไม่นานมานี้ “การ์ทเนอร์” ได้เผยถึงแนวโน้มเทคโนโลยีไอทีปี 2565 ในฐานะเครื่องมือเชิงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจยุคดิจิทัลใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ คุมเข้มความน่าเชื่อถือ (Engineering Trust) ปรับแต่งเปลี่ยนแปลง (Sculpturing Change) และเร่งสร้างการเติบโต (Accelerating Growth)

สุภัค  ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด กล่าวว่า ความปลอดภัยของข้อมูลและกระบวนการดำเนินธุรกิจ คือ เครื่องหมายการันตีความน่าเชื่อถือขององค์กรดิจิทัล

ทั้งนี้ องค์กรต้องให้ความสำคัญอย่างสูงกับระบบจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่ต้องคำนึง ประเด็นความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล โดยต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับทั้งในและต่างประเทศ เช่น PDPA หรือ GDPR ตลอดจนมี โซลูชั่นบริหารจัดการความปลอดภัย ในทุกลำดับชั้นของระบบไอที ซึ่งมีความสำคัญสูงต่อการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรธุรกิจดิจิทัล
 

แปลงโฉมสู่ระบบ ‘อัตโนมัติ’

การ์ทเนอร์ กล่าวว่า เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นข้อมูล แอพพลิเคชั่น หรือแพลตฟอร์มการบริการ ต่างกระจายการใช้งานอยู่ทั้งบนคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบความปลอดภัยที่ทำงานแยกส่วนจึงไม่ช่วยให้องค์กรประเมินภาพรวมได้ครบถ้วนและอาจกลายเป็นการเพิ่มช่องโหว่ให้กับภัยคุกคามเสียเอง

องค์กรจึงต้องวางแนวทางการรับมือภัยคุกคาม บูรณาการเครื่องมือความปลอดภัยแต่ละชนิดในทุกโลเคชั่นให้สามารถแลกเปลี่ยนความหลากหลายของข้อมูลภัยคุกคาม รวมถึงกำหนดแนวทางโต้ตอบร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยเฉพาะเพื่อการรับมือกับแรนซัมแวร์ที่พุ่งเป้าการโจมตีแบบมีเป้าหมายมากขึ้นต่อระบบงานและข้อมูลสำคัญขององค์กร

เขากล่าวว่า โควิด-19 นับเป็นสถานการณ์ที่ให้บทเรียนราคาแพงสำหรับธุรกิจที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัลแบบฉับพลันทันที ทำให้หลายองค์กรต่างมองหาเทคโนโลยีที่ทำให้การพัฒนาแอพพลิเคชันหรือบริการทางธุรกิจรวดเร็วและเป็นอัตโนมัติมากขึ้น
 

นายสุภัค กล่าวว่า ถึงตรงนี้ คงพอเห็นภาพของกระบวนการแบบ DevOps ที่สามารถแบ่งปันทรัพยากรเพื่อการพัฒนาและส่งมอบแอพพลิเคชันสู่การใช้งานทางธุรกิจได้รวดเร็วมากขึ้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ กลายเป็นอาวุธสำคัญในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล

ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาระบบตรวจสอบกระบวนการดำเนินธุรกิจหรือการทำงานของระบบไอที การเสริมประสิทธิภาพระบบการตัดสินใจของผู้บริหารให้เกิดความแม่นยำสูงสุด การต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ เป็นต้น

เร่งเติบโต ‘เหนือคู่แข่ง’

เชื่อว่าเป้าประสงค์สูงสุดขององค์กร คือ การมีระบบไอทีที่สามารถนำพาธุรกิจยืนหนึ่งเหนือคู่แข่ง หรือยึดครองส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากที่สุด การ์ทเนอร์ระบุว่า องค์กรควรมองเทคโนโลยีให้ไกลกว่ามีไว้เพื่อปฏิบัติงานประจำวันแต่คือหนึ่งในเครื่องมือพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จและความได้เปรียบทางการแข่งขันในยุคดิจิทัล แม้องค์กรจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีไอทีที่ก้าวหน้าอย่างคลาวด์ อีอาร์พี บิสสิเนส อินเทลลิเจนซ์ แอพพลิเคชั่นด้านการตลาด แมชีนเลิร์นนิ่ง หรือ เอไอ แต่หากขาดเครื่องมือกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อป้อนเข้าสู่แพลตฟอร์มการทำงานเหล่านี้ ก็ยากที่องค์กรจะสามารถคาดหวังผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ 100%

นั่นคือเหตุผลที่เราต้องมี วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ที่จะช่วยองค์กรในการจัดการข้อมูลที่มีรูปแบบต่างกันให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่เป็นมาตรฐานเดียวเพื่อใช้ในการดำเนินงานหรือกระบวนการวิเคราะห์ขั้นสูงต่อไป

เคลื่อนด้วย ‘ข้อมูลดิจิทัล’

ปัจจุบัน องค์กรที่ต้องการจัดแคมเปญเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้าสามารถใช้เทคโนโลยีไอทีร่วมกับกระบวนการวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ขณะเดียวกัน เห็นการสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อสร้างคุณค่าเชิงบวกให้กับแบรนด์ ตัวผลิตภัณฑ์และบริการผ่าน เอไอ หรือ แชทบอท ในการจัดการหรือปรับแต่งเนื้อหาไปตามกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันโดยอัตโนมัติ  การใช้ เออาร์ หรือ วีอาร์ เพื่อสร้างการสื่อสารการตลาดแบบอินเตอร์แอคทีฟ 

กระทั่ง การสื่อสารผ่านการค้นหาด้วยเสียง (Voice Search) ซึ่งต้องอาศัยฐานข้อมูลดิจิทัลขนาดใหญ่เพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเรื่อง Content Atomization เพื่อสร้างจุดต่างการนำเสนอคอนเทนท์  การจัดการทรัพยากรทางการตลาด (Marketing Resource Management-MRM) เพื่อร่วมกำหนดแผนการตลาดและงบประมาณ ปรับปรุงประสิทธิภาพงานในการสร้างแคมเปญเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของแบรนด์