Digital ID ไทยพร้อมแค่ไหน? เมื่อชีวิตในโลกยุคใหม่ต้องง่ายขึ้น
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องของ Digital Identity หรือ Digital ID นับว่าได้รับความสนใจจากสังคมพอสมควร ถึงทิศทางที่ไทยจะก้าวไปสู่การยืนยันตัวตนด้วยระบบดิจิทัลต่างๆ การประกาศยกเลิกรับสำเนาบัตรประชาชน เป็นอีกหนึ่งการเริ่มต้นที่ Digital ID จะก้าวเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องของ Digital ID นับว่าได้รับความสนใจจากสังคมพอสมควร ถึงทิศทางที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่การยืนยันตัวตัวด้วยระบบดิจิทัลต่างๆ การประกาศยกเลิกจอสำเนาบัตรประชาชน ก็เป็นอีกหนึ่งการเริ่มต้นที่ Digital ID จะก้าวเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อน Digital ID ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
'ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส กล่าวว่า ปัจจุบัน โลกกำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างผันตัวเองเข้าสู่ระบบและบริการดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด หลาย ๆ หน่วยงานแชร์ทรัพยากร ข้อมูล รวมถึงเอกสารผ่านทางคลาวด์กันอย่างแพร่หลาย สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของประชาชนโดย ETDA ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการช่องทาง เครื่องมือ หรือบริการ ที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันดำเนินไปได้อย่างสะดวก มั่นคงปลอดภัยมากขึ้น โดยการจะผลักดันให้การทำธุรกรรมในยุคดิจิทัลนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องมีกลไกสำคัญ คือ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID
นอกจากนี้ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ คือ ความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน ความมั่นคงปลอดภัย และการมีมาตรฐานของการใช้ Digital ID โดยแพลตฟอร์มที่อยากให้ผนวกกับการใช้ Digital ID มากที่สุด คือ บริการสวัสดิการจากทางภาครัฐ รองลงมาคือ บริการทางการเงิน บริการเกี่ยวกับทะเบียนราษฎรต่าง ๆ และบริการทางการศึกษา
ดังนั้น จากความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะประชาชนผู้ใช้บริการดิจิทัล การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Digital ID ให้เกิดขึ้นกับสังคม พร้อมๆ กับสร้างความร่วมมือในกลุ่มภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันผลักดัน ขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งาน Digital ID ในทุกบริการดิจิทัลของไทย จึงเป็นประเด็นที่จะต้องให้ความสำคัญ ซึ่ง แคมเปญ MEiD มีไอดี “บริการไทย…ไร้รอยต่อ” โดย ETDA นี้จะเป็นหนึ่งช่องทางสำหรับการสื่อสาร ตลอดจนการสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ เพื่อร่วมผลักดันให้คนไทยเกิดการใช้งาน Digital ID รองรับโลกอนาคตได้อย่างแพร่หลาย
จับตา Face Digital ID
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ประเทศไทยเดินหน้าส่งเสริมให้เกิดการใช้ Digital ID มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมุมของกฎหมาย มาตรฐานที่เกี่ยวข้องและพัฒนาโครงการพื้นฐานทางสารสนเทศที่รองรับการใช้งาน ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบและอนุมัติในหลักการด้านการพัฒนาระบบรองรับ Digital ID ด้วย Face Verification Service (FVS)
ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งดำเนินงานเพื่อยกระดับชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับ Digital ID ตามกฎหมาย ได้เดินหน้าผลักดันในเรื่องนี้ ให้ไร้รอยต่อมากที่สุด ทั้งการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ลดภาระที่ไม่จำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้คนไทยเกิดการใช้งาน Digital ID อย่างแพร่หลาย
สำหรับความพร้อมของประเทศไทยในการใช้งาน Digital ID ตั้งแต่ปี 2562 เรามี พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ซึ่งรองรับว่า "ใครก็ตามยืนยันตัวตน หากมีการยืนยันตัวตนผ่านระบบ ถือว่าได้ทำแล้ว และหากระบบนั้นน่าเชื่อถือ เชื่อได้เลยว่าเป็นตัวจริง ไม่ต้องมาพิสูจน์" ซึ่งระบบที่ว่า อยู่ในกฎหมายลูก (ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. ....) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่งคาดหว้งว่าจะเสร็จในราวสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า
หากกฎหมายฉบับนี้เสร็จ ETDA ก็จะกระบวนการตรวจ รับรอง และให้ใบอนุญาตกับผู้ให้บริการ Digital ID ซึ่งหน่วยงานที่จะนำบริการจากผู้ให้บริการเหล่านี้ก็จะเกิดความเชื่อมั่นและมีผลตามกฏหมาย และเชื่อว่าคนที่พิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านระบบเหล่านี้เป็นตัวจริง
ในเรื่องของมาตรฐาน Digital ID ทาง ETDA มีการจัดทำมาตรฐาน ซึ่งมีการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2561 และเพิ่งมีเวอร์ชันอัพเดทในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งบอกว่าระดับของความน่าเชื่อถือในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนมีกี่ระดับ ซึ่งแต่ละบริการ แต่ละ sector ควรจะใช้ระดับไหน
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการใช้ Digital ID ไม่แพร่หลาย ซึ่งปัญหาและอุปสรรค มาทั้งจากความพร้อมของหน่วยงาน และความพร้อมของประชาชนผู้ใช้งาน ซึ่งหากสร้างเป็นระบบนิเวศที่น่าเชื่อถือ ปัญหาต่าง ๆ จะค่อย ๆ หมดไป
ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการใช้งาน Digital ID
ดร.ชัยชนะ กล่าวว่า ภาพที่อยากเห็นในการขับเคลื่อนการใช้งาน Digital ID ให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่
-นโยบาย Top-down ซึ่งขณะนี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่นายกรัฐมนตรีผลักดันให้มีการใช้งาน Digital ID โดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีอยู่หลายครั้ง ซึ่งเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ก็มีมติรับทราบและอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงดิจิทัลฯ เสนอเรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service - FVS) และอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการพัฒนาและจัดให้มีระบบ FVS และดำเนินการให้บริการกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อให้บริการตรงนี้น่าเชื่อถือ และมติตามมาเมื่อ 3 สิงหาคม 2564 ว่าควรจะมีบริการภาครัฐที่นำร่องระบบตรงนี้ในปี 2565 จำนวน 12 บริการ
-การทลายระบบ SILO ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนที่เดิมเป็นไซโลเหมือนกัน ไม่เชื่อมโยงข้อมูลหรือระบบกัน ปัจจุบันเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกฝ่ายพยายามบูรณาการทำงานด้วยกัน เช่น การใช้ข้อมูลใบหน้าออกมาให้บริการ ก็จะเป็นการทลายไซโลออกไป ให้ทำงานร่วมกันได้มากขึ้น ภาคธุรกิจก็ตั้งบริษัท NDID ที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันง่ายขึ้น ประหยัดขึ้น
-การเสริมบริการภาครัฐที่มีประสิทธิผลสูง ซึ่งก็เลือกมาแล้วคือ 12 บริการมาทดลองก่อน
-การสร้างความชัดเจนในเชิงกฎหมายและการกำกับดูแล ซึ่งอยู่ในกระบวนการหมดแล้ว ทั้งกฎหมายลูก และส่วนตัวนโยบายที่รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลฯ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยมีรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยตอนนี้ ETDA ได้ร่าง Digital ID Framework ขึ้นมา เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาบริการ Digital ID ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อน Digital ID เกิดขึ้นได้จริง
นอกจากนั้น ระหว่างรอความชัดเจนของกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ETDA ก็มีการส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน Digital ID ผ่านกลไก Sandbox ซึ่งมีการดำเนินงานไปแล้วในเรื่องการเปิดบัญชีออนไลน์ การทดสอบในการประชุมผู้ถือหุ้น หรือการประชุมนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งเป็นการทดสอบกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็น Innovation Sandbox
Co-creation Ecosystem for Digital ID
ETDA พยายามจัดกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็น 3 กลุ่มง่าย ๆ คือ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ โดย
- ภาครัฐ คือ เบื้องหลังที่ดูแลเรื่องของความน่าเชื่อถือ เพราะภาครัฐมีอำนาจทางกฎหมายในการตรวจสอบ และเก็บข้อมูล ที่สำคัญคือต้องดูแลเรื่อง ความเป็นส่วนตัว หรือ privacy ด้วย ไม่ใช่นำข้อมูลมาแล้วปล่อยปละละเลย ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐก็มีการยกระดับความเข้มข้นในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น เพื่อตอบรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2565
-ภาคเอกชน คือ การออกแบบบริการ แอปพลิเคชัน ที่จะมาใช้ประโยชน์ตัว Digital ID และใช้ข้อมูลจากภาครัฐในการยืนยัน ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ซึ่งมีทั้งธุรกิจบริการที่มีอยู่แล้ว แต่จะขับเคลื่อนจากกระดาษไปเป็นอิเล็กทรอนิกส์ มีกลุ่มสตาร์ตอัปที่จะพัฒนานวัตกรรม นำ Digital ID เข้าไปในระบบบริการที่คิดค้น เพื่อนำให้บริการดิจิทัลของประเทศไทย ไร้รอยต่อมากขึ้น
-ภาคประชาชน ต้องทำความเข้าใจกับ Digital ID ซึ่งเลข 13 หลักในบัตรประชาชนก็เป็น Digital ID ได้ หากมาใส่ในแอปพลิเชัน อีเมล ก็เป็น Digital ID ได้ เบอร์โทร.ของแต่ละคน ก็เป็น Digital ID ได้ อย่างพร้อมเพย์ ก็นำเบอร์โทร. มาผูกกับบัญชีและชื่อของเรา ก็เป็น ID บัญชีของเรา ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็น Digital ID ได้หมด
ทุกฝ่ายต้องมาหาคำตอบร่วมกันในระบบนิเวศนี้ว่า จะจัดการ Digital ID ของเราอย่างไร และบริบทที่เหมาะสมในการใช้งานจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือ ประชาชน ต้องสามารถใช้งานอย่างเข้าใจ มีการดูแลการใช้งานบนข้อมูลของตนเอง
ทั้งนี้ ETDA ได้ร่าง Digital ID Framework หรือกรอบแนวทางการพัฒนาบริการดิจิทัลไอดีประเทศไทย ขึ้นมาแล้ว เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาบริการ Digital ID ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อน Digital ID เกิดขึ้นได้จริง
ตัวร่าง Framework ได้นำเอาหลักการของธนาคารโลก https://www.facebook.com/ETDA.Thailand/posts/5202687423078125 มาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทประเทศไทย โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้บริการ Digital ID ที่ครอบคลุม ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างทั่วถึง โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติหรืออุปสรรค
ในบริบทประเทศไทยก็ต้องคำนึงถึงระดับความพร้อมของหน่วยงานที่จะต้องทำหน้าที่สำคัญ เช่น เป็นผู้ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (Authoritative Source: AS) ให้แก่ผู้พิสูจน์และยืนยันตัวตน (Identity Provider: IdP) ผู้ให้บริการ (Relying Party: RP) และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม รวมถึงหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่สนับสนุนการให้บริการดิจิทัลไอดี เช่น ผู้ให้บริการดิจิทัลไอดีเฉพาะ (Transactional Digital ID) และผู้ให้บริการดิจิทัลไอดีแพลตฟอร์ม
ETDA ได้นำร่างดังกล่าวมารับฟังความคิดเห็นไปแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการให้ความเห็นจำนวนมาก ซึ่งจะนำไปสู่กรอบในการดำเนินงานที่ชัดเจนในอนาคตต่อไป