‘IBM Client Engineering’ ทีมเฉพาะกิจ ช่วยองค์กรไทยสู้ศึก ‘ดิจิทัล’
วันนี้องค์กรไม่ได้ต้องการแค่การ demo ผลิตภัณฑ์แบบเดิมๆ แต่ต้องการเห็นว่าการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในบริบทของตนเองมีความจำเป็นหรือไม่ ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร และการลงทุนนั้นๆ สามารถวัดผลเชิงธุรกิจได้อย่างไร
ปีที่ผ่านมาองค์กรต่างถูกบังคับให้ต้องปรับตัว เดินหน้าสู่ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งการใช้เทคโนโลยีขององค์กรต่างๆ ภายใต้เป้าหมายหลักคือ การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
สุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า ทุกอุตสาหกรรมต่างได้รับผลกระทบ ต้องปรับตัว ถูกบีบบังคับให้ต้องก้าวไปสู่โลกดิจิทัลแบบเร่งด่วน จากเดิมที่มีการคาดการณ์ไว้ว่าการเปลี่ยนผ่านต้องใช้เวลานับสิบปี ทว่าที่เกิดขึ้นจริงตามรายงานของแมคคินซี่พบว่าเกิดขึ้นภายในปีเดียว
สำหรับ “ไอบีเอ็ม” นอกเหนือจากการนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญเชิงอุตสาหกรรมเข้าช่วยสนับสนุนองค์กรต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศแล้ว ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ยังได้ลงทุนสร้าง “IBM Client Engineering” เพื่อเป็นทีมพิเศษ (squad) ที่รวมความเชี่ยวชาญและทักษะหลากหลาย
ทั้งนี้เพื่อช่วยตอบโจทย์เฉพาะทางของลูกค้า พร้อมเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ด้วยจุดเริ่มต้นที่ไม่ต้องใหญ่ ไม่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าให้คำปรึกษา ทว่ามีความรวดเร็วในแบบ “startup speed” และผลลัพธ์ที่ได้ในภาพรวมทั้งผลิตภัณฑ์ การบริการ รวมถึงโจทย์ธุรกิจที่เข้าไปแก้ปัญหาอยู่ในระดับ “enterprise scale”
ผสาน ’จิ๊กซอว์’ เติมเต็มความสำเร็จ
เขากล่าวว่า หน้าที่ของทีมคือการเข้าไปศึกษาความต้องการและทำงานร่วมกับลูกค้า เพื่อสะท้อนภาพเหล่านี้ให้กับลูกค้าตามสเตจหรือความต้องการของแต่ละโครงการ เริ่มตั้งแต่ business framing ไปจนถึงการสร้าง minimum viable product (MVP) โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
โดยมีหลักสำคัญคือ ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เข้าไปช่วยลูกค้า ต้องเกิดประโยชน์ต่อองค์กรและลูกค้าขององค์กรนั้นๆ อย่างแท้จริง การสร้างความสำเร็จดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น จิ๊กซอว์ที่ช่วยเติมเต็มต้องมีทั้ง “เครื่องมือ” “กระบวนการ” และที่สำคัญที่สุด “วัฒนธรรม” ขององค์กรที่พร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลง
“วันนี้องค์กรไม่ได้ต้องการแค่การ demo ผลิตภัณฑ์แบบเดิมๆ แต่ต้องการเห็นว่าการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในบริบทขององค์กรตนเองมีความจำเป็นหรือไม่ ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร และการลงทุนนั้นๆ สามารถวัดผลเชิงธุรกิจได้อย่างไร”
IBM Client Engineering เป็นทีม cross-function ที่รวมทีมงานที่มีทักษะที่จำเป็นในการสนับสนุนลูกค้าในโครงการดิจิทัลและบิสิเนสทรานส์ฟอร์เมชั่นต่างๆ โดยประกอบด้วย Solution Architect, Cloud Engineer, Developer, Data Scientist, Security Consultant และ Designer
'ทำงานร่วมกัน’ กุญแจสำคัญ
ด้านแนวทางการทำงานหัวใจหลักอยู่ภายใต้ “IBM Garage Methodology” โดยสามารถแบ่งได้เป็นสามช่วง คือ co-create, co-execute และ co-operate ซึ่งทุกกระบวนการจะมีการเรียนรู้และร่วมกันทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด
ช่วงของการ co-create คือการวิเคราะห์ตลาดและความต้องการของลูกค้า ผ่านเวิร์คช็อป Enterprise Design Thinking เพื่อตอบให้ได้ก่อนว่าควรโฟกัสที่จุดใด ผลตอบแทนการลงทุน (ROI) คืออะไร และควรต้องเดินหน้าไปในทิศทางใด
การ co-execute คือการพัฒนา Minimum Viable Product ; MVP พร้อมทดสอบซ้ำๆ บนพื้นฐานของข้อมูล การวิจัย และมุมมองเชิงลึก จนมั่นใจว่าสิ่งที่พัฒนาขึ้นจะเหมาะสมกับตลาดหรือตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ผ่านเลนส์ “DevSecOps” ที่ผสานการทำงานของทั้งนักพัฒนาไปพร้อมกันกับซิเคียวริตี้และโอเปอร์เรชั่นเข้าด้วยกัน
เพื่อให้มั่นใจว่าแอพหรือแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นจะมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ยืดหยุ่น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและมีซิเคียวริตี้ที่แข็งแกร่งสูงสุดแบบเอนเตอร์ไพรซ์
นอกจากนี้ ยังมีการนำแนวทาง continuous integration and continuous delivery (CICD) มาใช้ โดยใส่ระบบออโตเมชั่นไว้ในขั้นตอนของการพัฒนาแอพ เพื่อลดปัญหาระหว่างทีมพัฒนาและทีมโอเปอร์เรชั่นก่อนจะเริ่มขั้นตอนโปรดักส์ชั่น
ต้องเร็ว เกิด Quick Win มากที่สุด
ส่วนขั้นตอน co-operate คือการสเกลผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ ในวงกว้างหรือทั่วทั้งองค์กร ซึ่งการใช้หลักการและเทคโนโลยี cloud-native app development จะเป็นจุดที่ทำให้แน่ใจว่าแอพนั้นๆ สามารถสเกลได้ และทำงานได้บนทุกสภาพแวดล้อมของไฮบริดคลาวด์ ไม่ว่าจะบนระบบภายในองค์กร ไพรเวทคลาวด์ หรือพับบลิคคลาวด์ โดยขั้นตอนนี้ถือเป็นจุดที่เปลี่ยนจากนวัตกรรมเป็นทรานส์ฟอร์เมชั่น และเป็นจุดที่องค์กรเริ่มเห็นผลลัพธ์
พร้อมกันนี้ ผสานทักษะด้านเทคโนโลยีเชิงลึกของทีม รวมถึง “best practices” ของทีมงานที่มีอยู่ทั่วโลก ผ่านขั้นตอนการทำงานดังนี้ Business Framing, Technical Discovery, Design Thinking Workshop, Custom Demo, Proof Of Concept, Custom App Development และการสร้าง MVP โดยอาศัยความเชี่ยวชาญจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ของไอบีเอ็ม
รัชนีกร เทวอักษร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสนับสนุนเทคโนโลยี ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า โลกธุรกิจได้เปลี่ยนไปแล้ว ทุกวันนี้ลูกค้าต้องการอะไรที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้แบบทันที
“ทุกวันนี้ทุกธุรกิจต่างถูกดิสรัป หากไม่ยอมปรับตัวก้าวตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงย่อมต้องกลายเป็นผู้ตามหรือตายจากไป ที่สำคัญนอกจากการปรับใช้เทคโนโลยีแล้ว จะต้องทำได้แบบรวดเร็ว มีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังเพื่อหาวิธีการที่จะทำให้เกิด Quick Win มากที่สุด”
ชูจุดแข็ง ‘เทคโนโลยี-อีโคซิสเต็ม’
รัชนีกรบอกว่า เทคโนโลยีหลักๆ ที่ทางทีมนำมาสนับสนุนลูกค้า ประกอบด้วยดาต้า เอไอ คลาวด์ ซิเคียวริตี้ ระบบอัตโนมัติ แต่ทั้งนี้ทางไอบีเอ็มได้ผสานจุดแข็งด้านเทคโนโลยีที่มี รวมถึงไอบีเอ็มวัตสัน แมชีนเลิร์นนิง และไฮบริดคลาวด์เข้าไป ซึ่งทำให้สามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับธุรกิจได้แบบเฉพาะทาง
สำหรับ กลุ่มลูกค้าที่โฟกัสเบื้องต้นมุ่งเจาะธุรกิจและขนาดกลางและขนาดใหญ่ และขณะนี้มีแผนที่จะขยายไปสู่ระดับเล็กลงมาด้วย ด้านอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมีทั้งธุรกิจการเงินการธนาคาร ประกันภัย เฮลธ์แคร์ พลังงาน และภาคการผลิต
ไอบีเอ็มมั่นใจว่า มีจุดแข็งทั้งด้านเทคโนโลยี ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ทีมงาน ทรัพยากร แนวคิดการทำงาน อีโคซิเต็มพาร์ทเนอร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการระดับโลกที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งมุมเทคนิคอลและธุรกิจ
แม้ว่าท้ายที่สุดจะไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้แบบ 100% แต่มั่นใจอย่างมากว่าการทำงานที่ผ่านมาจะไม่สูญเปล่า สามารถนำไปหาจุดบกพร่อง และพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจได้ในอนาคต