Single Last Mile มัดรวมสายสื่อสาร! จับตา กสทช ถก ร่วม การไฟฟ้า - กทม. จันทร์นี้

Single Last Mile มัดรวมสายสื่อสาร! จับตา กสทช ถก ร่วม การไฟฟ้า - กทม. จันทร์นี้

จับตา จันทร์ 20 ธ.ค. สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ กฟน. กฟภ. เเละ กทม. ตั้งโต๊ะถกประเด็น จัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ ตามนโยบาย นายกรัฐมนตรี ปูทางสู่การจัดระเบียบสายสื่อสารแบบการใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน (Single last mile)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันจันทร์ที่ 20 ธ.ค. 2564 ทางสำนักงาน กสทช. จะเชิญผู้แทนของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมประชุมหารือเพื่อกำหนดแผนบูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ที่มีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร) เป็นหน่วยงานหลักรับไปประสานความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนบูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าในเส้นทางหลักทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าโดยเร่งด่วน รวมทั้งปรับปรุงระบบสายสื่อสารของผู้ประกอบกิจการให้มีสายสื่อสารปลายทางเพียงรายเดียว (single Last Mile)

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. จะเป็นผู้ประสานงานระหว่าง กฟน. กฟภ. และ กทม. กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ รวมถึงการนำสายสื่อสายลงใต้ดิน ภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยจะรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะๆ

"การจัดระเบียบสายสื่อสารต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าของเสา/ท่อร้อยสาย และเจ้าของสายสื่อสาร มีการตรวจสอบสภาพเสาที่จะนำสายสื่อสารไปพาด ไม่พาดเกินน้ำหนักที่เสาจะรับได้ พาดสายให้เรียบร้อยเป็นระเบียบ ต้องมีการสำรวจตรวจสอบ และจัดการนำสายสื่อสารที่ไม่มีการใช้งาน หมดอายุลงจากเสา ไม่ปล่อยให้ห้อยระโยงระยาง ด้วยการร่วมมือกันจัดการคาดว่าปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังจะสามารถแก้ไขได้" นายไตรรัตน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสายที่พาดระโยงระยาง รกรุงรังบนเสาไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นสายสื่อสาร ได้แก่ สายโทรศัพท์ สายอินเทอร์เน็ต และสายเคเบิ้ลทีวีทั้งหลาย โดยสายไฟฟ้าจะถูกติดตั้งอยู่ด้านบน และบางพื้นที่ถูกนำลงร้อยสายไว้ใต้ดิน ซึ่งสายสื่อสารดังกล่าว อยู่ในการกำกับของสำนักงาน กสทช. โดย พล.อ.ประยุทธ์ มอบนโยบายในการประชุมคณะรัฐมนตรี ให้สำนักงาน กสทช จัดทำแผนบูรณาการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้วยการจัดระเบียบสายสื่อสารในเส้นทางหลักที่ไม่เป็นระเบียบ ให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อลดจำนวนการพาดสาย อย่างเร่งด่วน และ ให้มีสายเข้าบ้านเรือนประชาชนเส้นเดียว (Single last mile) โดย บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) หรือผู้ประกอบการเอกชน และให้ สำนักงาน กสทช. กำกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้กำหนดเวลาที่วางแผน
 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินการจัดสายสื่อสารตามลำดับความจำเป็นเป็นเร่งด่วนของแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

และสำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงาน กสทช. บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีแนวคิดร่วมกันที่จะนำรูปการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบการใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน (Single last mile) มาใช้ในการจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง ซึ่งรูปแบบแนวคิด Single Last Mile เป็นการกำหนดให้หน่วยงานผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้บริหารจัดการในส่วนของโครงข่ายสายปลายทางที่มีเพียงรายเดียว (Single Last Mile Provider) 

โดยผู้ให้บริการทุกราย จะต้องไปเช่าใช้ เมื่อลูกค้าหรือผู้ใช้บริการใดต้องการใช้บริการกับผู้ประกอบการรายใด ๆ ผู้ให้บริการ Single Last Mile ก็จะมาเชื่อมสายสื่อสารจากผู้ประกอบการรายนั้น ๆ ไปยังที่พักอาศัยหรือสถานประกอบการของลูกค้า ซึ่งการนำรูปแบบแนวคิด Single last mile มาใช้ จะทำให้จำนวนสายสื่อสารปลายทางมีจำนวนลดลง ทำให้ลดสภาพสายสื่อสารที่รกรุงรังบนเสาไฟฟ้าลงได้

ทั้งนี้ การจัดระเบียบสายสื่อสารแบบ Single Last Mile (การใช้ทรัพยากรร่วมกัน) สามารถทำได้ทั้งการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบแขวนอากาศ และการจัดระเบียบสายสื่อสารโดยนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ซึ่งการนำแนวคิดนี้มาใช้ หน่วยงานภาครัฐต้องกำหนดหลักเกณฑ์และข้อบังคับมารองรับเพื่อใช้ในการดำเนินการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ