กสว.หนุนงบวิจัยวัคซีนโควิด เน้นทดสอบประสิทธิภาพการสร้างภูมิ

กสว.หนุนงบวิจัยวัคซีนโควิด เน้นทดสอบประสิทธิภาพการสร้างภูมิ

คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เห็นชอบสนับสนุนงบประมาณการวิจัยวัคซีนโควิด เพิ่ม 4 โครงการ ใต้การบริหารจัดการทุนวิจัยของ บพข. จำนวน 94,500,000 ล้านบาท เน้นทดสอบประสิทธิภาพการสร้างภูมิและความปลอดภัยวัคซีนแต่ละชนิดที่มีต่อผู้ฉีดแต่ละช่วงวัย

เมื่อเร็วๆนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ  ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานการประชุม  คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)  ครั้งที่ 12/2564  ผ่านระบบการประชุมออนไลน์  โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญของการหารือวันนี้คือ  ความก้าวหน้าการบริหารงบประมาณสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ของแผนงานภายใต้โปรแกรมที่ 17 งานวิจัยที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 

รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  ให้ข้อมูลว่า  การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) วาระพิเศษ ครั้งที่1/2564 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ได้มีมติเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยเป็นงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) จำนวน และงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund)  โดยในส่วนของแผนงานการวิจัยภายใต้โปรแกรม 17 การแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ  จัดอยู่ในงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ มีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการ  

ซึ่งหลักเกณฑ์การทำงานคือ เมื่อหน่วยบริหารและจัดการทุน (พีเอ็มยู) มีความประสงค์จะใช้งบประมาณในส่วนนี้ ให้เสนอการใช้งบประมาณผ่าน วช. และเมื่อโครงการได้รับความเห็นชอบจากคณะทำงานร่วมดำเนินการหน่วยบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นปัญหาวิกฤตสำคัญของประเทศ (National Crisis Management) หรือ คณะกรรมการโปรแกรม 17 แล้ว สกสว.  จึงจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะทำงานร่วมดำเนินการหน่วยบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นปัญหาวิกฤตสำคัญของประเทศ (National Crisis Management) ได้พิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยและนวัตกรรมโครงการวิจัยวัคซีนโควิด-19 และเห็นว่าข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม  ที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เสนอขอทั้ง 4 โครงการ เป็นประโยชน์และเป็นประเด็นสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการ โดยประกอบด้วย 


1) การศึกษาวิจัยแบบสุ่ม โดยปกปิดข้อมูลผู้สังเกตการณ์ เพื่อประเมินความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ด้วยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้า        เซนเนก้า (ซีเอชเอดีโอเอ็กซ์1 เอแซดดี1222) หรือวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทค (บีเอ็นที 162บี2) ในผู้ใหญ่คนไทยที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดเชื้อตายของบริษัทซิโนแวคมาแล้วจำนวน 2 โดส

2) การศึกษาผลตอบสนองทางภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยต่อการให้วัคซีนโควิด-19 เข็มแรกด้วยวัคซีน CoronaVac แล้วกระตุ้นเข็มที่สองด้วยวัคซีน ChAdOx-1 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์

3) การศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1/2 เพื่อประเมินความปลอดภัยและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ในวัยรุ่นไทย

4) การศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1/2a เปรียบเทียบผลตอบสนองทางภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยต่อการให้วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ด้วยวิธีฉีดเข้าผิวหนัง การฉีดเข้ากล้ามเนื้อในเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุ 18-30 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาก่อน

ทั้งนี้จากการประชุมวันนี้ คณะกรรมการ  กสว. รับทราบและเห็นชอบ ผลการพิจารณาการขอรับงบประมาณโปรแกรม 17 การแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ ตามที่คณะทำงานร่วมดำเนินการหน่วยบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นปัญหาวิกฤติสำคัญของประเทศ เห็นสมควร  เพื่อสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมโครงการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ของ บพข. จำนวน 94,500,000 ล้านบาท (เก้าสิบสี่ล้านห้าแสนบาทถ้วน) โดยหลังจากนี้  สกสว. จะเบิกจ่ายจากงบประมาณโปรแกรม 17 ที่ตั้งไว้ที่กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ให้กับ บพข. ต่อไป