‘เรียลมี’ หวังขึ้นท็อป 3 ตลาดสมาร์ทโฟนไทย
‘เรียลมี’ ตั้งเป้าปี 2565 ก้าวขึ้นสู่แบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับท็อป 3 ของไทย เล็งนำสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียม 5G และ AIoT เขย่าวงการไอทีไทย ชูจุดต่างสเปคดี ราคาจับต้องได้ ตัวเลือกหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ดิจิทัล
นายศิรศร เบญจาธิกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ เรียลมี ประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2565 เรียลมีเตรียมบุกหนักตลาดสมาร์ทโฟนไทยต่อเนื่อง โดยมุ่งนำสินค้าระดับพรีเมียมเข้ามาทำตลาด ควบคู่ไปกับสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G และผลิตภัณฑ์เอไอโอที โดยตั้งเป้าว่าจะขึ้นไปอยู่อันท็อป 3 สมาร์ทโฟนในประเทศไทยให้ได้
“กลยุทธ์จากนี้เน้นลงทุนพัฒนาสมาร์ทโฟนระดับเรือธงตระกูล GT series เพื่อนำเสนอสมาร์ทโฟนพรีเมียมสำหรับหนุ่มสาวรุ่นใหม่พร้อมเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในระบบ 5G และ AIoT เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่กำลังก้าวสู่ Smart Life”
เขากล่าวว่า realme วางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์หลากหลายกลุ่ม และจะนำเสนอสุดยอดเทคโนโลยีจำนวนมากเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดไอที จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากสมาร์ทโฟนพรีเมียม 30% กลางถึงล่าง 70% ปีหน้าหวังเพิ่มพรีเมียมไปที่ 35-40%
อย่างไรก็ดี เน้นนำเสนอสินค้าราคาที่จับต้องได้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดต่างๆ ได้สบายกระเป๋ามากยิ่งขึ้น ภายใต้ 4 แกนหลักคือ เน้นพัฒนานวัตกรรม การออกแบบ ฟังก์ชั่นครบ ราคาคุ้มค่า พร้อมกันนี้ ขยายแบรนด์ช้อปจากปัจจุบันมี 75 แห่ง ปีหน้าเตรียมเพิ่มไปเป็น 120 แห่งทั่วประเทศ
ปี 2565 realme วางแผนจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนระบบ 5G ให้ได้มากกว่า 30 รุ่น คิดเป็น 70% ของสัดส่วนสมาร์ทโฟนทั้งหมด และในอีก 2 ปีข้างหน้ามีแผนลงทุน 300 ล้านดอลลาร์ทั่วโลก สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 5G และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 5G เพื่อก้าวเข้าสู่ยุค 5G อย่างเต็มตัว
realme จะยังคงเดินหน้าทำตลาด AIOT ตามกลยุทธ์หลักของแบรนด์ นั่นคือ 1+5+T เพื่อสร้าง realme Ecosystem ให้เกิดขึ้นอยู่รอบตัวผู้บริโภค โดยสินค้าที่จะนำเสนอจะมีทั้งสมาร์ทโฟน แทบเล็ต สมาร์ททีวี หูฟัง แล็บท็อป และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถควบคุมได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น หลอดไฟ ทีวี เครื่องดูดฝุ่น และเครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ
1 แทน สมาร์ทโฟนที่จะเป็นศูนย์กลางการควบคุม Ecosystem ทั้งหมด
5 แทนหมวดหมู่หลักของอุปกรณ์ AIoT ทั้งหมด ได้แก่ 1. อุปกรณ์หูฟังไร้สาย 2. อุปกรณ์สวมใส่ 3. โทรทัศน์ 4. แท็บเล็ต และ 5. แล็ปท็อป
T ย่อมาจากแบนด์ TechLife ซึ่งทั้งหมดนี้จะมี realme Link แอพพลิเคชันเชื่อมต่อกัน และสร้างเป็น AIoT ecosystem เพื่อให้ผู้ใช้งานอุปกรณ์ realme สามารถใช้งานร่วมได้อย่างเต็มรูปแบบ
realme มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการทำตลาดสมาร์ทโฟนในระดับพรีเมียมได้ดีมาก และยังเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนตระกูล GT series ครบทุกรุ่น
หลังจากนี้ realme จะนำสมาร์ทโฟนสุดพรีเมียมในตระกูล GT Series นั่นคือ GT 2 series มาทำตลาดในไทย ซึ่งเป็นรุ่นพรีเมียมที่สุดของ realme พร้อมชูไฮไลต์ 3 เทคโนโลยีสุดล้ำเป็นครั้งแรกของโลก ทั้งการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมการถ่ายภาพ และเทคโนโลยีการสื่อสารขั้นสุด
“เราจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง 5G และ AIoT โดยนำเสนอภายใต้แบรนด์ไลฟ์สไตล์ใหม่ในชื่อ TechLife เพื่อตอบโจทย์ Smart Life ของผู้คนในปัจจุบันให้ครอบคลุมมากขึ้น”
ก้าวสู่ Top5 แม้เศรษฐกิจไทยผันผวน
รายงานการจัดอันดับของ Canalys ระบุว่าในไตรมาส 3 ของปี 2564 แบรนด์ realme ติดอันดับ 1 ใน 5 แบรนด์สมาร์ทโฟนชั้นนำในตลาด แสดงให้เห็นถึงความนิยมของผู้บริโภคที่แม้กำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มาตลอด 2 ปี แต่ผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงในระดับราคาที่คุ้มค่าสามารถครองใจผู้บริโภคและคว้าตำแหน่งแบรนด์ Top5 ได้สำเร็จ โดยมีส่วนแบ่งประมาณ 9-10% ขณะที่ปีหน้าซึ่งหวังขึ้นไปติดอันดับท็อป 3 จะส่วนแบ่งการตลาดราว 15%
ความสำเร็จที่ผ่านมาของ realme เกิดจากการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ 1. แนวคิดพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยมุ่งเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และนำเสนอสินค้าที่สอดคล้องกับค่านิยมของหนุ่มสาวที่ต้องการสมาร์ทโฟนล้ำสมัยและใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ
ขณะที่ 2. ส่งมอบสมาร์ทโฟนที่มีนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบชาร์จ UltraDart 125W การใช้ชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 888 เป็นเจ้าแรก ๆ รวมถึงเทคโนโลยีกล้องความละเอียด 64 ล้านพิกเซล ฯลฯ ในระดับราคาที่จับต้องได้ 3. ช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่ง realme ยังคงพัฒนาช่องทางการตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น
4. พันธกิจ Dare to Leap ซึ่งเปิดรับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน โดยพนักงานบริษัทมีอายุเฉลี่ยเพียง 29 ปี ทำให้บริษัทมีไอเดียการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สดใหม่อยู่เสมอ
สำหรับ ภาพรวมการแข่งขันสมาร์ทโฟนไทยในปีหน้าน่าจะรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง โดยแต่ละแบรนด์จะพยายามหาจุดต่างผลิตภัณฑ์เพื่อทำตลาด ขณะที่ การเปลี่ยนผ่านไป 5จี น่าจะยังอยู่ระดับ 30-40% เป็นไปตามขยายโครงข่าย และจะขยายได้มากขึ้นหากแบรนด์ผู้ผลิตสร้างการรับรู้ผู้บริโภคได้มากขึ้น
“สมาร์ทโฟนยังคงมีแนวโน้มเติบโต จากความจำเป็นต้องใช้งาน การเติบโตของเกมออนไลน์บนมือถือและเกมข้ามแพลตฟอร์ม อีกทางหนึ่ง 5จี มีความครอบคลุมมากขึ้น ด้านราคาขายสมา์ทโฟน 5จี จากราคาเฉลี่ย 8,900-9,900 บาทปีหน้าจะลดเหลือ 7,900 หรือ 6,900 บาท”