อีคอมเมิร์ซปี 65 ไปต่อ!! - โควิดไม่จบ ออนไลน์ยืนหนึ่ง คริปโท คอมเมิร์ซ แรง
อีคอมเมิร์ซ ปี 65 ยังแรงไม่หยุด เมื่อโควิดยังไม่จบ ธุรกิจ ผู้ประกอบการเลือก "ออนไลน์" ช่องทางกระจายสินค้า จับตา เทรนด์แรงปีนี้ คริปโท คอมเมิร์ซ ไลฟ์ขายของ สุดปัง!! เอ็ตด้าประเมินไว้ปี 64 อีคอมเมิร์ซ ทะยานทะลุ 4.01 ล้านล้านบาท
อีคอมเมิร์ซ ปี 65 ยังแรงไม่หยุด เมื่อโควิดยังไม่จบ ธุรกิจ ผู้ประกอบการเลือก "ออนไลน์" ช่องทางกระจายสินค้า จับตา เทรนด์แรงปีนี้ คริปโท คอมเมิร์ซ ,ไลฟ์ขายของ สุดปัง!! 'เอ็ตด้า'ประเมินไว้ปี 64 มูลค่าอีคอมเมิร์ซจะเติบโตอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการฟื้นตัวหลังโควิด-19 ในช่วงปลายปี เป็น 4.01 ล้านล้านบาท
อีคอมเมิร์ซ กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจ "ดาวรุ่ง" ในยุควิกฤติการณ์โควิด ผู้ประกอบการรายย่อยใช้ช่องทางออนไลน์เป็นที่กระจายสินค้า ทำการตลาด และเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซ ประเมินทิศทางของอีคอมเมิร์ซไว้ในปีนี้ โดยประเมินไว้ถึง 10 เทรนด์สำคัญที่จะได้เห็นในปีนี้
สำหรับ 10 เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 มีดังนี้
1.ปี 2565 จะชัดมากว่าอีคอมเมิร์ซกลายเป็นช่องทางหลักในแง่ของบางธุรกิจยอดขายต่าง ๆ บางกลุ่มอีคอมเมิร์ซอาจจะไม่เมาก แต่เมื่อดูอัตราการเติบโตผมบอกได้เลยว่าน่าจะโตขึ้นอีกมหาศาลเลยทีเดียวในเชิงของการขาย
2.JSL ปีนี้จะเริ่มทำกำไรได้แล้ว กลุ่ม JSL ประกอบด้วย เจดีเซ็นทรัล (JD Central), ช้อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) จะพยายามเข้าสู่โหมดการทำกำไร อย่างเมื่อกลางปี 2564 ลาซาด้า ส่งงบกลางปีต่อกระทรวงพาณิชย์ ตอนนี้รายได้ 1.4 หมื่นกว่าล้านบาท กำไรสูงถึง 226 ล้านได้ ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่าสงครามยังคงมีอยู่ แต่บางเจ้าเริ่มหยุดการสาดเงิน เริ่มมาโฟกัสที่การทำให้เกิดรายได้ของธุรกิจมากขึ้น
3.สงครามการเป็นซูเปอร์แอพ (SuperApp) แอพที่ต้องเปิดทุกวัน เป็นแอพพลิเคชั่นที่มีทุกบริการอยู่ภายในรายที่มีความใกล้เคียงเป็นซูเปอร์แอพมาก คือ แกร็บ สั่งอาหารได้ ส่งสินค้าได้ ปัจจุบันสั่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้ ยังมีวอลเล็ทมีให้กู้เงิน ฯลฯ หรือ “ทรูมันนี่” เริ่มเป็นซูเปอร์แอพแล้ว ปัจจุบันมีกระเป๋าเงินจ่ายเงินได้ ซื้อกองทุน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ ทำได้หมดทุกอย่าง
“อีกรายที่น่ากลัวมาก คือ ช้อปปี้ ที่ปัจจุบันมีทุกอย่างและรุกหนักมาก และจะไปต่อ คือ ShopeeFood, Shopee Travel นี่คือแนวโน้มของการทำอีคอมเมิร์ซในปีหน้า ทุกรายพยายามจะกระโดดเข้ามาเป็นซูเปอร์แอพ ทุกรายขายของอยู่แล้วแต่พยายามจะขายของให้มีความหลากหลายมากขึ้น อาศัยฐานที่ตัวเองมี ทำให้ลูกค้าไม่ต้องออกไปไหนอยู่แต่ในแพลตฟอร์มตัวเองเท่านั้น เช่นเดียวกับ "แฟลช เอ็กซ์เพรส นอกจากทำขนส่ง ยังมีแผนจะไปทำ Flash Pay, Flash Warehouse พยายามกระโดดไปทำทุกอย่างเหมือนกัน"
4. ไลฟ์คอมเมิร์ซ+โออีเอ็ม (OEM) การขายของออนไลน์ผ่านการถ่ายทอดสดปีนี้ จะเป็นการขายทางออนไลน์แบบซีเรียสขึ้น เรียกว่า เป็นโปรเฟสชั่นนัล ไลฟ์ คอมเมิร์ซ และ ขายได้ในระดับหลายร้อยล้าน เช่น พิมรี่พาย
“live commerce + OEM คือ เมื่อก่อนเราอาจจะเอาของคนอื่นมาขาย แต่ปัจจุบันไม่ต้อง เมื่อไลฟ์บ่อย มีฐานลูกค้ามีคนติดตามแล้ว ก็หันจ้างบริษัทอื่นผลิตสินค้าเองเลย จะเริ่มเห็นหลายๆ คนเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง เพราะอาจได้กำไรมากกว่าเดิม 100-200%”
5.คอมบายน์ แอนด์ ออโตเมท อีคอมเมิร์ซ (Combine and automated e-commerce) ต่อไปทุกช่องทางการขายจะถูกหล่อหลอมเข้าด้วยกัน อยู่ในช่องทางเดียวกัน ยอดขายจากออนไลน์ ยอดขายจากทีวี และจากทุกสื่อทุกช่องทาง จะสามารถดึงข้อมูลมารวมไว้ที่เดียว เพื่อมาวิเคราะห์ว่าช่องทางไหนมีประสิทธิภาพมากที่สุด ช่องทางไหนเวิร์คสุดเมื่อรวมข้อมูลทั้งหมดมาอยู่ในที่เดียวกันได้ สิ่งที่ตามมาคือ automated คือสามารถต่ออัตโนมัติ เอาพวกแชทบอทเข้ามาช่วยได้ ระบบออกบิล การเก็บข้อมูลทุกอย่าง ฯลฯ การขายของในปัจจุบันจะรวดเร็วขึ้นและจะอัตโนมัติมากขึ้นเลยทีเดียว
6. รีเทล ออโตเมชั่น การมาของเครื่องขายของอัจฉริยะตลอด 24 ชั่วโมงไม่ต้องใช้คนการค้าปลีกแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คน จะเริ่มเห็นพวกเวนดิ้ง แมชชีน พวกตู้ขายสินค้าอัตโนมัติต่างๆ ที่สามารถขายสินค้าได้ 24 ชั่วโมงมากขึ้น
"ข้อดีคือไม่ต้องจ่ายเงินเดือน ไม่ต้องมีโบนัส สามารถขายได้ 24 ชั่วโมง เป็นเครื่องที่คอยเก็บเงินอย่างเดียว มีระบบดูแลความปลอดภัยอย่างดี ใครที่ทำธุรกิจขายของอยู่แล้วอยากให้ลองมาวิเคราะห์ดูว่าเราจะสามารถใช้ตู้พวกนี้ขายของได้อย่างไรบ้าง”
7.การขายของออนไลน์จะดุมากขึ้น aggressiveขึ้น งบประมาณโฆษณาที่ใช้เท่าเดิม ยอดขายจะได้น้อยลง เมื่อทุกคนกระโดดเข้ามาสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ เขาต้องใช้งบประมาณในการกระตุ้นต่างๆ เมื่อเริ่มใช้งบมากขึ้น งบเริ่มไม่ค่อยได้ผล การแข่งขันมากขึ้น ดังนั้น ตลาดการลงโฆษณา ตลาดการแข่งขันขายของออนไลน์จะดุเดือดมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา
8.คริปโทคอมเมิร์ซ เป็นคำใหม่ ที่ผมขอใช้คำว่า “Crypto Commerce” คือ ใช้สกุลเงินคริปโตมาร่วมกับการค้าอย่างจริงจัง ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการใช้เหรียญคริปโตมาใช้ แต่เป็นการใช้ในแง่การลงทุน เก็งกำไร จะเริ่มเจอว่ามีการเอาเงินคริปโตมาซื้อของ ซึ่งปี 2564 เริ่มมีให้เห็นแล้ว เช่น ใช้คริปโตซื้อรถยนต์ได้
9. D2C จะเริ่มเหิมเกริมมากกว่าเดิม (Direct to Consumer) เพราะทุกแบรนด์สินค้าและโรงงานต่างๆ ต่างโดดเข้ามาขายออนไลน์เองกันหมด เริ่มหันมาขายในมาร์เก็ตเพลส ขายผ่านโซเชียลมีเดีย เริ่มสร้างทีมของตัวเอง และเปิดร้านขายเอง ส่งเอง ตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น
“อนาคตของค้าปลีกตัวกลางอย่างดีเลอร์ และร้านค้าต่างๆ ที่ผมเคยเตือนไว้ เริ่มชัดแล้วว่าบทบาทความสำคัญจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ และปีหน้าจะเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออีคอมเมิร์ซเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ”
10.การถดถอยของธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่น (Local Business Decline) เมื่อ 1-9 มารวมกันจะเกิดการที่ธุรกิจท้องถิ่นที่อยู่ต่างจังหวัด ร้านโชห่วย ร้านค้าขนาดเล็ก ฯลฯ จะเริ่มเห็นการหดตัวในปี 2565 เพราะผู้บริโภคจะเริ่มคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์มากขึ้น จะกระทบกับธุรกิจค้าปลีกทันที ไม่ว่าจะเป็นร้านขายเสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ต่อไปจะมีผลกระทบมากขึ้นเลยทีเดียว ร้านเหล่านี้จะมีขนาดเล็กลง ยอดขายจะตกลงด้วยเหมือนกัน
เอ็ตด้า ประเมิน อีคอมเมิร์ซคือทางเลือก
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่หรือ New Normal ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้ผู้คนในสังคมใช้ชีวิตเปลี่ยนไป มีการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก และจำนวนผู้ประกอบการในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นมากมาย
เช่น การดูคอนเทนต์ออนไลน์ การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) จึงส่งผลกระทบในเชิงบวกกับมูลค่าอีคอมเมิร์ซในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง อุตสาหกรรมข้อมูลและข่าวสาร ในขณะเดียวกันด้วยมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศกลับส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอันเป็นธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งธุรกิจนี้อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก ส่งผลให้อัตราการเติบโตของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในภาพรวม ปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่ใช่ทางเลือกแต่ถือเป็นทางรอดสำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน
ย้อนไปดูตัวเลข เมื่อปี 2562 ไทยยังคงครองแชมป์มูลค่า B2C สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกัน 6 ปีซ้อน โดยมีมูลค่า 55.92 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นมาเลเซีย 46.19 พันล้านดอลลาร์ อินโดนีเซีย 17.52 พันล้านดอลลาร์เวียดนาม 10.08 พันล้านดอลลาร์ ฟิลิปปินส์ 2.36 พันล้านดอลลาร์ และสิงคโปร์ 2.16 พันล้านดอลลาร์
มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ปี 2563 ยังคงมีมูลค่าสูงที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท (57.39%) ในขณะที่ B2B มีมูลค่าการขายออนไลน์เท่ากับ 0.84 ล้านล้านบาท (22.14%) และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท (20.47%) สาเหตุที่ยอดขายออนไลน์ของผู้ประกอบการกลุ่ม B2B ลดลงเป็นอย่างมากในปีนี้ เกิดจากการที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการปรับตัวโดยขายสินค้าและบริการกับผู้บริโภคโดยตรง (Direct to Customer)