ส่องเทรนด์ ‘ดิจิทัล’ ปลุกองค์กร รับมือศักราชใหม่โลกธุรกิจ
เริ่มต้นศักราชใหม่ ปี 2565 สิ่งที่ยังคงเป็นความท้าทายของทุกธุรกิจหนีไม่พ้น การทรานส์ฟอร์มองค์กรไปเป็น “องค์กรดิจิทัล” ที่สมบูรณ์ เพื่อปูทางสำหรับการแข่งขันและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคที่เต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน...
‘คน-เทคฯ’ต้องทำงานร่วมกัน
ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยี ทาเลนท์ และความไว้วางใจ จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับองค์กรในปี 2565
ก้าวต่อจากนี้ไป คือก้าวที่มนุษย์และเทคโนโลยีต้องทำงานร่วมกัน และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรก
ผลศึกษาโดย “ไอบีเอ็ม” พบแนวโน้ม 5 ประการที่ผู้บริหารจะให้ความสำคัญกับธุรกิจในปี 2565 ที่เต็มไปด้วยดิสรัปชั่นและความเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย
1. ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจะกลายเป็นวิถีของชีวิต
2. ทุนมนุษย์นั้นมีค่าและหายาก
3. ความยั่งยืนและความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน
4. การนำเทคโนโลยีมาใช้ ควรเป็นไปเพื่อช่วยพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจและ
5. ความไว้วางใจและความปลอดภัยเป็นฐานรากของนวัตกรรมที่ยั่งยืน
รับมือ ‘ภัยไซเบอร์’ ป่วนธุรกิจ
ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดไชน่า พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ คาดการณ์แนวโน้มด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่จะส่งผลต่อโลกดิจิทัลในปี 2565 โดยเทรนด์ที่น่าสนใจพบว่า การโจมตีทางไซเบอร์จะยิ่งมีความซับซ้อน รุนแรงกว่าเดิม
องค์กรธุรกิจจึงต้องยกระดับการป้องกันด้วย เอไอ และมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้เสริมทัพ อีกทางหนึ่งบุคลากร องค์กร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกัน
สำหรับแนวโน้มที่น่าสนใจ แน่นอนว่าอาชญากรไซเบอร์จะพุ่งเป้าไปที่หน่วยงานรัฐ องค์กรธุรกิจ หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สร้างเม็ดเงินได้สูง ที่น่าจับตามองคือ การโจมตีบิตคอยน์ และด้วยเส้นแบ่งระหว่างโลกจริงกับโลกดิจิทัลที่เริ่มไม่ชัดเจนมีการโต้ตอบกันระหว่างอุปกรณ์อัจฉริยะหลากหลายรูปแบบ อุปกรณ์ไอโอทีจะทำให้ปัญหาข้อมูลรั่วไหลหรือการโจมตีทางไซเบอร์มีความรุนแรงยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เศรษฐกิจยุคพึ่งพา API จะนำไปสู่การฉ้อโกงและการแสวงหาประโยชน์ทางดิจิทัลในรูปแบบใหม่, ผู้โจมตีมุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีความสำคัญของประเทศ, การทำงานแบบไร้พรมแดนจำเป็นต้องใช้โซลูชั่นที่ไร้พรมแดน
โดยมีแนวคิดที่สำคัญคือ "ไม่วางใจทุกคน (Zero Trust)" และองค์กรต้อง"ไม่วางใจและตรวจสอบทุกสิ่ง" ที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับเครือข่าย
อีคอมเมิร์ซ ทางรอดยุควิกฤติ
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย กล่าวว่า พฤติกรรมนักช้อปคนไทยทุกวันนี้ไม่ว่าจะซื้อจากช่องทางไหน ออนไลน์มีอิทธิภาพต่อกระบวนการตัดสินใจ
โดยอีคอมเมิร์ซได้กลายเป็นทางรอดของหลายๆ ธุรกิจ และเชื่อว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าโควิดจะหมดไปแล้วก็ตาม
- สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนเปลี่ยนมาจับจ่ายบนช่องออนไลน์ประกอบด้วย
1.ข้อจำกัดช่วงโควิด
2.ดีลและโปรโมชั่น
3.ช้อปได้ 24 ชั่วโมง 7 วัน
4.ประหยัดเวลา
5.เปรียบเทียบราคาง่าย
- ขณะที่ 6 ช่องทางยอดนิยมคือ
- อีคอมเมิร์ซมาร์เก็ตเพลส
- โซเชียลมีเดีย
- แอพฟู้ดดิลิเวอรี่
- เว็บไซต์ของแบรนด์สินค้า
- เว็บไซต์ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่
- ร้านค้าออนไลน์ขนาดเล็กของธุรกิจเอสเอ็มอี
- ปีที่ผ่านมา แอพพลิเคชั่นที่คนไทยนิยมใช้งานมากที่สุด คือ
- ยูทูบ
- เฟซบุ๊ค
- ไลน์
- กูเกิล
- แมสเซ็นเจอร์
- ลาซาด้า
- ช้อปปี้
- อินสตาแกรม
- เป๋าตัง
- แอพฟังเพลง
ทั้งจะเห็นได้ว่าแอพประเภทโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมและมีอิทธิพลสูงที่สุด รองลงมาคืออีมาร์เก็ตเพลส
ที่น่าจับตามอง คนไทยมีพฤติกรรมชอปปิงแบบออมนิแชนแนล มักหาข้อมูลบนออนไลน์ก่อนการตัดสินใจ และมีการคาดการณ์ว่ากว่า 71% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทย หรือราว 42 ล้านคน จะเป็น “ดิจิทัล คอนซูมเมอร์” ที่มีการจับจ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการบนช่องทางออนไลน์
ขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล
ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่าแนวโน้มของเทคโนโลยียังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ คือ เอไอ บิ๊กดาต้า ไอโอที 5จี บล็อกเชน คลาวด์คอมพิวติ้ง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และเทคโนโลยีโลกเสมือน (เออาร์, วีอาร์)
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญคือ ผู้นำองค์กรธุรกิจต้องเปลี่ยนแนวคิดสร้างการเติบโตแก่องค์กรผ่านการเชื่อมต่อเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม
โดยองค์กรที่จะแข่งขันได้ในวันนี้ต้องมีแนวคิด Digital-first และ Remote-firstคือ ต้องคิดว่าทุกอย่างเป็นดิจิทัลเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานหรือการให้บริการลูกค้า
“ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องแนวโน้มเทคโนโลยี องค์กรจึงจะสามารถทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นได้สำเร็จอย่าให้การตามเทคโนโลยีไม่ทันของผู้บริหารเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กร”