Crescendo Lab ซอฟต์แวร์ไต้หวันปักหมุดตลาดไทย
“เครสเซนโด แลป” บริษัทซอฟต์แวร์ไต้หวัน รุกเปิดให้บริการในไทย ส่งโซลูชั่นจัดการข้อมูลการตลาดอัตโนมัติเสริมแกร่งธุรกิจ ยกระดับประสบการณ์ชอปปิง มุ่งเจาะธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ ตั้งเป้าปีนี้ฐานลูกค้าแตะ 100 ราย
นายจิน เสวีย ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเครสเซนโด แลป (Crescendo Lab) ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการตลาดชั้นนำจากไต้หวัน กล่าวว่า งบประมาณการลงทุนเพื่อขยายตลาดบนช่องทางดิจิทัลมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง องค์กรธุรกิจมีโจทย์ที่ต้องเพิ่มยอดขาย และเข้าถึงลูกค้าให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
เขากล่าวว่า ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ พฤติกรรมผู้บริโภคมีความใกล้เคียงกับที่ไต้หวัน ดังนั้นบริษัทได้ขยายการให้บริการโซลูชั่นด้านการตลาดดิจิทัล มายังประเทศไทย เพื่อเสริมประสิทธิภาพธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ โดยมีเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีนี้จะเข้าถึงลูกค้าไม่น้อยกว่า 100 แบรนด์
สำหรับแนวทางการขยายตลาดในระยะแรก เน้นเพิ่มบุคลากร ทีมงานขาย กลุ่มนักลงทุน พร้อมร่วมมือกับเป็นพันธมิตรกับไลน์ประเทศไทย และกำลังมองหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อทำงานร่วมกัน ด้านลูกค้าเน้นโฟกัสธุรกิจระดับกลางถึงขนาดใหญ่ ส่วนค่าบริการคิดตามจำนวนผู้ติดตามบนไลน์ เบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อปี และจะเพิ่มขึ้นตามฟีเจอร์ที่เลือกใช้บริการเพิ่มเติม
“เราขยายโซลูชั่นเข้ามาในประเทศไทย โดยมุ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซสามารถเข้าใจและเห็นภาพข้อมูลลูกค้าในยุคดิจิทัลได้แบบองค์รวม รวมถึงช่วยให้แบรนด์สามารถผสานข้อมูลลูกค้าระหว่างแพลตฟอร์มไลน์กับแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้อย่างครอบคลุม เพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพด้านกลยุทธ์การตลาด”
ปัจจุบัน หนึ่งในความท้าทายที่แบรนด์ต้องเผชิญในการขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์คือ การลดอัตราการละทิ้งตะกร้าสินค้าซึ่งสูงถึง 65% จากจำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด และเพื่อช่วยธุรกิจให้สามารถก้าวข้ามผ่านความท้าทายนี้ บริษัทได้พัฒนาโซลูชั่น ไลน์มาร์เก็ตติ้ง ที่มีฟีเจอร์สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ เพื่อช่วยธุรกิจเพิ่มจำนวนคำสั่งซื้อสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์ด้วยการใช้บิ๊กดาต้า
รวมถึง ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าได้ชัดเจนมากขึ้น นำไปสู่การต่อยอดการสร้างประสบการณ์การชอปปิงให้กับลูกค้าได้แบบอัตโนมัติ อาทิ การส่งข้อความเตือนถึงลูกค้าให้ดำเนินการสั่งซื้อผ่านบัญชีไลน์ ฯลฯ
ผลสำรวจโดย วันเดอร์แมน ธอมสัน พบว่า มีผู้บริโภคไทยกว่า 94% หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้าแทนออฟไลน์ในช่วงปี 2564 พบด้วยว่า มีคนไทยที่ใช้จ่ายในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 62% ในช่วงที่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาด
ขณะที่ 92% เลือกที่จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องแม้หลังการแพร่ระบาด โดยอีคอมเมิร์ซเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากนักช้อปไทยกว่า 45% ขณะที่เวบไซต์ได้รับความนิยม 11% และ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย 10%
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ต่างๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบใหม่ ในการสร้างฐานข้อมูลลูกค้าได้อย่างครอบคลุม เนื่องจากการจัดเรียง และผสานข้อมูลลูกค้าจากช่องทางซื้อขายที่หลากหลายนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ และทรัพยากรที่ล้ำสมัย ซึ่งความท้าทายนี้ส่งผลให้ธุรกิจไม่สามารถออกแบบประสบการณ์การชอปปิงแบบเฉพาะบุคลลให้แก่ลูกค้า หรือออกแบบกิจกรรมด้านการตลาดให้สามารถตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ แบรนด์ยังไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่มีความซับซ้อนได้อย่างชัดเจน ทำให้แบรนด์ไม่สามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายและเพิ่มฐานลูกค้า
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์