ส่องจุดแข็ง 3 บ.เกมใหญ่ หลังดีล "Microsoft-Activision" ปลุกสมรภูมิเกมเดือด!
ส่องจุดแข็ง 3 บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) “เทนเซ็นต์” (Tencent) และ “โซนี่” (Sony) หลังดีลประวัติศาสตร์ ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสหรัฐทุ่มซื้อค่ายเกมดัง “แอคติวิชัน” (Activision) มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ทำให้สมรภูมิเกมโลกเดือดตั้งแต่ต้นปี
หลังจากเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา เกิด "บิ๊กดีล" เขย่าวงการเกมโลก เมื่อบริษัทไมโครซอฟท์ ประกาศซื้อกิจการแอคติวิชัน ค่ายเกมแถวหน้าในอุตสาหกรรม ผู้สร้างแฟรนไชส์เกมสุดฮิตอย่าง Call of Duty, World of Warcraft และ Candy Crush ด้วยมูลค่า 68,700 ล้านดอลลาร์ (ราวกว่า 2.25 ล้านล้านบาท) นับว่าเป็นดีลซื้อกิจการแพงที่สุดในประวัติศาสตร์วงการเกม
แม้ข้อตกลงผนึกกำลังกันครั้งนี้ ระหว่างไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี กับ แอคติวิชัน ยักษ์ใหญ่ด้านการพัฒนาเกม น่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้า แต่คาดว่าจะเสริมความแข็งแกร่งให้ไมโครซอฟท์ในตลาดเกมที่กำลังเฟื่องฟูอย่างมาก ควบคู่ไปกับการใช้จุดแข็งของไมโครซอฟท์ทั้งในด้านซอฟต์แวร์และระบบประมวลผลคลาวด์
- เครดิตรูป : Microsoft -
3 ยักษ์ชิงเค้กตลาดเกม
การซื้อกิจการค่ายเกมดังอย่างแอคติวิชัน จะทำให้ไมโครซอฟท์ ขยับเป็นบริษัทเกมรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในแง่ของรายได้ รองจากเบอร์ 1 อย่าง เทนเซ็นต์ บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีน และเบอร์ 2 โซนี่ ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า เทนเซ็นต์มีจุดแข็งตรงเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเอเชีย และลงทุนในค่ายเกมหลายรายนอกตลาดจีน
นอกจากนี้ เทนเซ็นต์ยังเป็นเจ้าของ “ไรออท เกมส์” (Riot Games) สตูดิโอผู้สร้างเกมยอดฮิตอย่าง League of Legends และยังมีหุ้นใน “ยูบิซอฟท์” (Ubisoft) ค่ายเกมดังจากฝรั่งเศส และถือหุ้นส่วนหนึ่งในแอคติวิชันด้วย
- เครดิตรูป : Epic Games -
ขณะที่โซนี่ ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ผู้บริโภค มีบทบาทในตลาดเกมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจากเกมฮาร์ดแวร์สำคัญอย่าง “PlayStation” (PS) ที่เป็นผู้นำตลาดเครื่องเกมคอนโซล ทำให้โซนี่มีรายได้ก้อนโตจากธุรกิจเกี่ยวกับเกมสูงขึ้นไปด้วย
ส่วนไมโครซอฟท์ได้ลงทุนพัฒนาเกมคอนโซลตระกูล “Xbox” ซึ่งเป็นคู่แข่งกับ PlayStation ของโซนี่ และเดินหน้าซื้อกิจการค่ายเกมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากดีลล่าสุดที่ซื้อแอคติวิชันแล้ว เมื่อปี 2563 ไมโครซอฟท์ได้เข้าซื้อกิจการ “เซนิแมกซ์ มีเดีย” (ZeniMax Media) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของค่ายเกมดังหลายเจ้า เช่น Bethesda Game Studios, id Software, ZeniMax Online Studios, Arkane, MachineGames, Tango Gameworks, Alpha Dog, และ Roundhouse Studios ด้วยมูลค่า 8,700 ล้านดอลลาร์
ดีลดังกล่าวทำให้ Xbox ได้แฟรนไชส์เกมดังไปอยู่ในมือหลายเกมด้วยกัน เช่น Fallout 4, The Elder Scrolls V: Skyrim และ Doom Eternal
นอกจากนั้น ไมโครซอฟท์ยังลงทุนด้านเทรนด์เกี่ยวกับเกมที่เหล่าสตรีมเมอร์หรือนักแคสต์เกมนิยมสตรีมโดยตรงผ่านระบบคลาวด์ด้วย
“เป้าหมายของไมโครซอฟท์คือทำให้คนเล่นเกมในเวลาไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ และกับใครก็ได้” โคลิน เซบาสเตียน นักวิเคราะห์จากบริษัทเบียร์ด อีควิตีระบุ
“ไมโครซอฟท์ VS โซนี่” ศึกนี้เพื่อคอนโซล
เมื่อปลายปี 2563 โซนี่เปิดตัวเครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่ PlayStation5 หรือ PS5 และได้รับกระแสตอบรับล้นหลามจนเกิดเหตุการณ์ของขาดตลาดในหลายประเทศ ขณะที่ไมโครซอฟท์ไม่ยอมน้อยหน้า เปิดตัว Xbox Series X มาแข่งขันกับ PS5 ในปี 2564
- หน้าตาของ PS5 (ขวา) และ Xbox Series X (ซ้าย) เครดิตรูป : Wired -
ก่อนหน้านี้ บริษัทวิจัย Ampere Analysis (แอมเพียร์ อะนาไลซิส) คาดว่า คอนโซลจากค่ายโซนี่จะยังเป็นเบอร์ 1 ในตลาดต่อไป โดยยอดขาย PS5 จะอยู่ที่ 66 ล้านเครื่องภายในสิ้นปี 2567 เทียบกับยอดขาย 37 ล้านเครื่องของ Xbox Series X จากค่ายไมโครซอฟท์ภายในปีเดียวกัน
เพียร์ส ฮาร์ดิง-โรลล์ส ผู้อำนวยการฝ่ายเกมของ Ampere เผยว่า แม้คนในอุตสาหกรรมรู้สึกว่าตลาดคอนโซลเริ่มขาดแรงกระตุ้นแล้ว แต่เขายังเชื่อว่านวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และโมเดลธุรกิจ จะช่วยให้คอนโซลยังคงเป็นแพลตฟอร์มเล่นเกมหลักอย่างน้อยก็จนถึงรุ่นต่อไป
ข้อมูลจาก StatCounter Global Stats ระบุว่า ในช่วง 1 ปี นับถึงเดือน ธ.ค. 2564 PlayStation ของค่ายโซนี่ยังคงครองตลาดเครื่องเกมคอนโซลทั่วโลกในอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งมากถึง 92.24% ทิ้งห่าง Xbox ของค่ายไมโครซอฟท์ อันดับ 2 ในตลาด ซึ่งมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 7.72% ตามมาด้วย “นินเทนโด” บริษัทเกมระดับตำนานของญี่ปุ่น ที่มีส่วนแบ่งเพียง 0.04%
“คอนเทนท์” ยังเป็น “ราชา”
ในโลกเกมยุคปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า “คอนเทนท์” ยังคงเป็น “ราชา” ที่ทุกบริษัทต่างแข่งกันพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อหวังครองตลาดนี้ให้ได้
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า การซื้อกิจการแอคติวิชัน อาจช่วยให้ไมโครซอฟท์ “อุดจุดอ่อน” ของตน เมื่อต้องแข่งขันด้าน “เกมมือถือ” และ “อีสปอร์ต” (E-Sports) กับผู้เล่นรายอื่น ๆ
“หลังการซื้อกิจการครั้งนี้ ไมโครซอฟท์จะมีตำแหน่งที่ดียิ่งขึ้นในวงการอีสปอร์ต ซึ่งเป็นจุดที่บริษัทประสบความยากลำบากในการตีตลาดมาโดยตลอดที่ผ่านมา” รูปันตาร์ กูฮา หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทโกลบอลดาต้า กล่าว “นอกจากนี้ แอคติวิชันยังเป็นผู้นำเกมมือถือ ที่มีแผนเปิดตัวเกมมือถือมากขึ้นในอนาคต”
--------------------