กมธ.สภาฯสั่ง‘ทรู-ดีแทค’ชี้แจงข้อมูลควบรวมเพิ่ม - แจงยิบต้องควบรับมือ OTT!

กมธ.สภาฯสั่ง‘ทรู-ดีแทค’ชี้แจงข้อมูลควบรวมเพิ่ม - แจงยิบต้องควบรับมือ OTT!

กมธ.สภาฯ สั่ง ทรู ดีแทค ชี้แจงการควบรวมกิจการเพิ่มเติม!! ทั้งสาเหตุแท้จริงการควบรวม การลดต้นทุน หวั่นผู้บริโภคเจอผลกระทบ “อนุดิษฐ์” เผย ทรู ดีแทค แจงเหตุควบรวม ต้องรับมือกับ OTT คอนซูมดาต้ามหาศาล ต้องลดต้นทุน โทรคมทั่วโลกโดนหมด ตัวแทน ทรู ดีแทค แจง ไม่ควบสู้ "เอไอเอส" ยาก!!

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทค และการค้าปลีก-ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้บริหารค่ายมือถือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้ามาชี้แจงรายละเอียด ขั้นตอนกระบวนการควบรวมกิจการ รวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีการควบรวม

คณะกรรมาธิการฯ ได้ซักถามในหลายประเด็น แม้จะทราบเหตุผลหลักของการควบรวมกิจการแล้ว ทั้งแนวทางการควบรวมกิจการ ข้อกฎหมาย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่ยังมีบางประเด็นต้องการให้ทั้ง 2 บริษัท กลับไปทำข้อชี้แจงเพิ่มเติมมาให้คณะกรรมาธิการอีกครั้ง เพื่อนำข้อมูลไปศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 

"คำถามที่คณะกรรมาธิการฯ ยังติดใจ เช่น สาเหตุสำคัญจริงๆ ของการควบรวมกิจการครั้งนี้ แม้ 2 บริษัทจะแจงไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ครบ โดยเฉพาะกรณีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทางผู้บริการจะมีการให้บริการใหม่ๆ อย่างไรบ้าง เพื่อให้การใช้เครือข่ายมากขึ้น และไม่กระทบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของต้นทุนการบริการ

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการลดต้นทุนของผู้ประกอบการว่า จะกระทบต่อการให้บริการหรือไม่ และยังสามารถแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมต่อไปได้อย่างไรบ้าง หากมีการลดต้นทุนลงแล้ว 

“การเชิญมาชี้แจงจากทางผู้ให้บริการตอนนี้น่าจะเพียงพอแล้ว คงไม่ต้องเชิญมาอีก แต่ให้ไปตอบบางข้อสงสัย ส่วนอีกเรื่องที่ยังรอคำตอบ คือ ข้อมูลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยคณะกรรมาธิการฯ อยากรู้อำนาจการกำกับดูแลตามกฎหมายในกรณีการควบรวมจะมีมาตรการใดๆ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า ไม่ส่งผลกระทบ และได้รับบริการเครือข่ายที่มีคุณภาพ และราคาที่เป็นธรรม”
 

หากผู้ให้บริการตอบข้อสงสัยเพิ่มเติมกลับมาแล้ว จะพิจารณาข้อมูลอีกครั้ง จากนั้นในสัปดาห์ถัดไปจะเชิญ กสทช. มาตอบคำถามต่าง ๆ ทั้งหมด แล้วจะสรุปข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด เพื่อเสนอทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับไปพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ขอความมั่่นใจควบกันอย่างถูกกฏหมาย 

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ต่อว่า คณะกรรมาธิการฯ ต้องการมั่นใจว่าการควบรวมครั้งนี้ ได้ปฏิบัติตามกระบวนการที่กฏหมายกำหนด ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลอย่าง กสทช ก็ต้องมั่นใจว่า การควบรวมดังกล่าวเป็นไปตามกฏหมาย หรือต้องมีมาตรการเฉพาะออกมา เพื่อกำกับดูแลให้การควบรวมต้องทำให้คุณภาพการบริการดีขึ้น ราคาเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

“ประเด็นหลักๆ ที่ทางผู้ให้บริการทั้งทรู และดีแทค ชี้แจง คือ ข้อเท็จจริงรูปแบบการควบรวม รายละเอียดต่างๆ กำหนดเวลา ในส่วนของ คณะกรรมาธิการฯ เอง เราเห็นว่า การควบรวมทำได้แต่ต้องดูว่ากระบวนการควบรวมเป็นอย่างไร และต้องศึกษาวิเคราะห์ทั้งก่อน และหลังการควบรวมว่า มีผลกระทบต่อประชาชน และตลาดโทรคมนาคมอย่างไร ซึ่งทางคณะกรรมธิการเองเมื่อได้รับข้อมูลมาก็ต้องทำรายงานเพื่อแจ้งให้สภาฯ ได้รับทราบ”

ทรู-ดีแทค แจงต้องควบ ไม่งั้นสู้เอไอเอสยาก!

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า "สาเหตุการควบรวมที่ผู้ให้บริการ ทรู และดีแทค ชี้แจงระบุว่า "ถ้าไม่ควบรวมธุรกิจจะไปไม่รอด โดยเฉพาะปัจจุบันการเข้ามาของบริการโอทีที (OTT) จากต่างประเทศ ที่มีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นมาก มีการใช้ดาต้ามหาศาล และในอนาคตจะมีเมตาเวิร์สเข้ามาอีกเป็นต้นทุนที่ผู้ให้บริการต้องแบกรับ การควบรวมจะเป็นหนทางในการลดต้นทุน Fix cost ลง ขณะที่การลงทุนในอนาคต หรือการลงทุน 5จี ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง เขาไม่มีทางสู้กับเอไอเอสได้ ถ้าไม่ควบรวม ดังนั้นจึงต้องเอาเรือมาต่อกัน" 

ส่วน ผูู้แทนของเอไอเอส เห็นตรงกันว่า กระแสการมาของโอทีที เป็นความท้าทายที่โทรคมนาคมทั่วโลกต้องเจอ ไม่เฉพาะแค่ในประเทศไทย ส่วนการควบรวมเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องดูที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

“การควบรวมครั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญกับกฏหมาย กระบวนการควบรวมต้องเป็นไปตามกฏหมาย การควบรวมต้องทำให้คุณภาพการให้บริการดีขึ้น บริษัทที่เกิดจากการควบรวมต้องทำบริการให้ดีขึ้น ราคาเป็นธรรมเหมาะสมได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันในตลาดโทรคมนาคมมีการแข่งขันกันอยู่ 3 ราย ก็ยังไม่มีใครมีอำนาจเหนือตลาด แต่หลังควบรวมแล้ว กสทช หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลต้องเข้ามากำกับไม่ให้เกิดประเด็นการมีอำนาจเหนือตลาด หรือเทคโนโลยีเกิดการกระจุกตัว กสทช.สามารถกำหนดมาตรการขึ้นมาเฉพาะได้เพื่อกำกับดูแล เรามองว่า 2 หน่วยงานหลักที่ควรเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้ คือ กสทช และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค.”