‘หัวเว่ย’ หนุน ‘ดิจิทัล’ ลดคาร์บอน 10 เท่าปี 2030
‘หัวเว่ย’ เผยสองสิ่งสำคัญต่อโลกอนาคต “ดิจิทัล และ คาร์บอนต่ำ” ชี้ “ไทย” ประเทศแรกในอาเซียนประกาศยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน ชี้การประยุกต์ใช้ดิจิทัลช่วยลดคาร์บอนมากถึง 10 เท่า ภายในปี 2030 ลดปล่อยคาร์บอนทั่วโลกลง 12.1 พันล้านตัน
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวภายในงานสัมมนา GO GREEN ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวในหัวข้อ ”Green for Futures” ว่าตามรายงานของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า การพัฒนาโลกสีเขียว หมายถึงการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและความผาสุกของสังคม ขณะที่สังคมโลกในอนาคตจะให้ความสำคัญ 2 เรื่อง คือ “การเข้าสู่ดิจิทัล” และ “คาร์บอนต่ำ” นำไปสู่การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
"ทั่วโลก กว่า 66 ประเทศและภูมิภาค กำหนดเป้าหมายและแผนงานเกี่ยวกับคาร์บอนในระดับชาติ และกว่า 170 ประเทศ ได้ประกาศกลยุทธ์ดิจิทัลระดับชาติครอบคลุมมากกว่า 87% ประเทศทั่วโลก"
นายอาเบล กล่าวว่า การระบาดอย่างกะทันหันของโรคระบาด ส่งผลกระทบต่อชีวิต ธุรกิจ และสังคม ท่ามกลางความไม่แน่นอน สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ได้กลายเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวและการเติบโตของประเทศไทยและโลก
"จากการวิจัย พบว่า เศรษฐกิจดิจิทัล จะเติบโตเร็วเป็น 2 เท่าของจีดีพีในระดับเฉลี่ยทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง"
เขากล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นับเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล ตัวอย่างเช่น ทุกๆ 10% ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ จะส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.8%-2.3% ขณะที่ ทุก 10% ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของบรอดแบนด์บนมือถือจะทำให้ จีดีพี เพิ่มขึ้น 1.5%-2.8% ในอนาคต โดยเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งรวมถึง 5จี คลาวด์ และเอไอ จะเป็นความรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ไม่มีดิจิทัลก็ไม่มีสีเขียว
รายงานล่าสุดของธนาคารโลก ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด 19 การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ก่อให้เกิดการลงทุน และสร้างรายได้เพิ่มเติมสำหรับประเทศไทยสูงถึง 110,100 ล้านบาทในแต่ละปี การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ยังเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“เราสามารถพูดได้ว่าไม่มีดิจิทัล ก็ไม่มีสีเขียว”
นายอาเบล ยกรายงานของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ระบุว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอซีที ช่วยให้ประสิทธิภาพการลดคาร์บอนเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ภายในปี 2030 และการเข้าสู่ดิจิทัล จะส่งผลให้การปล่อยคาร์บอนทั่วโลกลดลง 12.1 พันล้านตัน
ยกตัวอย่างเคสทั่วโลกที่ยืนยันข้อสรุปนี้ จากประเทศสวีเดน การฉีดพ่นด้วยโดรน และใช้บิ๊กดาต้าสามารถลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชได้ถึง 20 เท่า ในฮาร์บิน เมืองใหญ่ทางตอนเหนือของจีน ระบบทำความร้อนอัจฉริยะช่วยลดการใช้พลังงานโดยเฉลี่ย 12.5%
"ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับความเป็นกลางของคาร์บอน ซึ่งไทยได้ประกาศในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ประจำปี 2564 หรือ COP26 โดยจะมุ่งสู่ Carbon Neutrality ปี 2050 และเราเชื่อว่าระบบดิจิทัล จะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์นี้"
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดิจิทัลยังพยายามปรับสู่การเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยหัวเว่ยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.7 เท่า ทำให้เกิดความก้าวหน้าในทฤษฎี วัสดุ และอัลกอริทึมในอีโคซิสเต็มส์ทั้งหมด
เช่น ในด้าน 5จี ผลิตภัณฑ์ Massive MIMO รุ่นที่สามของหัวเว่ย ใช้เทคโนโลยีหลายเสาอากาศอย่างเต็มที่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 30% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ระดับเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศอาเซียนแห่งแรกที่เสนอแผนงานระดับชาติที่เป็นกลางด้านคาร์บอนในปี 2050 อย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอด COP26 นอกจากนี้ยังมุ่งสู่เป้าหมายที่มีวิสัยทัศน์ในการเข้าถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในหรือก่อนปี 2065
เปิด 3 อุตฯปล่อยคาร์บอนฯ
โดยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว หัวเว่ยได้จำแนกประเภทอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3 อันดับแรกของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้า 37% , การขนส่ง 29%, และการปล่อยมลพิษทางอุตสาหกรรม 28% ดังนั้นการลดการปล่อยคาร์บอนของทั้งสามภาคส่วน จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนร่วมกัน
ตามการคาดการณ์ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ระบุว่า การผลิตพลังงานสะอาดทั่วโลกจะมีสัดส่วน 50% ภายในปี 2593 และ 90% ของยานพาหนะเป็นอีวี ที่ไม่มีการปล่อยมลพิษ ดังนั้นไฟฟ้าจะกลายเป็นรูปแบบหลักของการใช้พลังงานทั่วโลก ซึ่งเรียกร้องให้มีเทคโนโลยีพลังงานดิจิทัลในโลกสีเขียว
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีพลังงานดิจิทัลได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นเทคโนโลยีหลักในการเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน”
แนะโซลูชั่นพลังงานดิจิทัล
ซีอีโอ หัวเว่ย ยังได้แนะนำโซลูชั่นด้านพลังงานดิจิทัลที่สำคัญ ซึ่งจะขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์รุ่นที่ 4 เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน ที่เป็นการรวมกันของแบตเตอรี่ลิเธียมและเทคโนโลยีควบคุมแบบดิจิทัล แก้ปัญหาการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ไม่ต่อเนื่อง , กรีนดาต้าเซ็นเตอร์ การวิจัยของหัวเว่ย พบว่า 6% ของการใช้พลังงานจะมาจากไอซีทีภายในปี 2030 จึงจำเป็นต้องปรับใช้กรีนดาต้าเซ็นเตอร์และสถานีฐาน 5จี ตั้งแต่ต้น
ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี สถานีชาร์จที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย อีวีราคาประหยัดจะนำประเทศไทยไปสู่การเดินทางแบบไร้คาร์บอนในทศวรรษหน้า
ซีอีโอหัวเว่ย กล่าวด้วยว่า เทคโนโลยีพลังงาน และเทคโนโลยีไอซีทีเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งได้เปลี่ยนรูปแบบโมเดลทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจการเกษตรเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และต่อมาเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบัน
รายงาน Intelligent World 2030 ของ หัวเว่ย คาดการณ์ไว้ พลังงานจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและฉลาดขึ้น โดยเฉพาะการจัดรูปแบบอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ ผ่านการสร้างระบบพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายซับซ้อน (Energy Internet) จะปรากฏขึ้น