"ท๊อป-จิรายุส" ฉายภาพ "Web 3.0" จะเปลี่ยนโลกไปแค่ไหน "ไทย" ต้องไปต่ออย่างไร
โลกยุค "Web 3.0" กำลังถูกจับจ้องถึงผลกระทบว่า จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโลกนี้อย่างไร? “ท๊อป-จิรายุส” แห่ง “บิทคับ” มีคำตอบ พร้อมแนะนำถ้าอยากเป็นผู้ชนะในโลกยุคใหม่ มีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องทำความเข้าใจ
เทคโนโลยี AI (Artificial intelligence), Metaverse, AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) เป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ทั้งในมิติทางธุรกิจสังคม และไลฟ์สไตล์ หลายคนมองสิ่งเหล่านี้ว่าที่เป็นเรื่องอนาคตที่อยู่อีกไกลแสนไกล บางคนคิดว่านี่ยังเป็นแค่จินตนาการ แต่คนไม่น้อยบนโลกกำลังมองว่านี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตอีกไม่ไกล
ยิ่งไปกว่านั้นยังมองเห็นว่านี่คือโอกาสที่ทำให้พวกเขาเป็น “ผู้ชนะ” ในโลกอนาคตด้วยเช่นกัน
ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO แห่ง Bitkub Group กล่าวในโครงการ Phuket Metaverse City ของ จ.ภูเก็ต เกี่ยวกับเทรนด์ของเทคโนโลยีกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้านี้ โดยเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านของโลกจาก Web 2.0 ไปยัง Web 3.0
โลกซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำในแบบที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์ จะไม่ใช่แค่ในจินตนาการอีกต่อไป และการเข้ามาของ Web 3.0 จะทำให้มีคนที่ชนะทวีคูณและแพ้แบบทวีคูณเช่นกัน
ตามไปดูกันว่า Web 3.0 จะเปลี่ยนชีวิตเราอย่างไรบ้าง จากมุมมองของ “ท๊อป-จิรายุส”
- Web 3.0 ต่างจาก Web 2.0 ในทุกวันนี้แค่ไหน ?
จิรายุส อธิบายถึงรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีตั้งแต่ Web 1.0 - Web 3.0 แบบรวบรัดและเข้าใจง่ายๆ ว่า
Web 1.0 คืออินเทอร์เน็ตยุคราว 1990-2000 เป็นการสื่อสารทางเดียว อ่านได้อย่างเดียว และทุกคนเห็นข้อมูลเหมือนกันหมด โดยโครงสร้างพื้นที่ฐานของอินเทอร์เน็ตสมัยนั้นคือโมเด็ม การสร้างไพรเวทเซิร์ฟเวอร์ ต้องใช้ทุนสูง เดสก์ท็อปเครื่องโต และการ identify ตัวตนในยุคนั้นคือชื่ออีเมลที่สร้างขึ้นมาไม่ซ้ำกัน
Web 2.0 คือ อินเทอร์เน็ตยุค 2010-2020 เป็นรูปแบบการสื่อสาร 2 ทาง ทั้งอ่านและเขียนหรือตอบโต้ได้ เช่น คอมเมนต์โดยตรง จากนั้นค่อยๆ พัฒนาจากการตอบข้อความ รูปภาพ วิดีโอ จนมาถึงการไลฟ์ สตรีมวิดีโอให้คนทั้งประเทศดูได้สดๆ โดยการ identify ตัวตนของคนยุค web 2.0 คือชื่อเว็บไซต์ การสร้างโดเมน
ในยุคนี้ คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มาแทนที่ไพรเวทเซิร์ฟเวอร์ สมาร์ทโฟนมาแทนเดสก์ท็อป และ 4G ก็มาแทนโมเด็ม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ประสบการณ์ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่ายในต้นทุนที่ต่ำลง รูปแบบในการรับสารก็เปลี่ยนไป แต่ละคนจะเห็นข้อมูลแตกต่างกันตามความสนใจ คนที่คลั่งไคล้ฟุตบอลจะเห็นคอนเทนต์เหล่านั้น และคนที่ชอบกดไลค์เรื่องราวของแมวเหมียวก็จะมีแมวเหมียวเต็มฟีดเช่นกัน
ทว่า เรื่องราวเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นอดีตเมื่อ Web 2.0 เองก็มีข้อจำกัดนั่นคือ การนำเสนอจะอยู่แค่ 2D ที่อยู่แค่ในจอเท่านั้น แถมข้อมูลในยุคนี้ยังเป็นระบบปิด
แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นยุค Web 3.0 จะเปลี่ยนไป จิรายุสวาดภาพให้เห็นชัดๆ ว่า
“อีก 10 ปีข้างหน้าจากสังคมก้มหน้าจะกลายเป็นสังคมใส่แว่นตาหรือโฮโลแกรม ..ในอีก 10 ปีข้างหน้า การสร้างตัวตนของเรา คือ NFT หรือ Avatar ที่อยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน”
ฟังดูแล้วหลายคนมองว่าเป็นไปได้ยาก แต่จิรายุสยืนยันว่า Web 3.0 ใกล้เข้ามามากแล้ว โดยสิ่งหนึ่งที่มีโอกาสได้เห็น คือ ไลฟ์สตรีมจะกลายเป็นอดีตในอีกไม่ถึง 5 ปีข้างหน้า และคนเราสามารถที่จะ โฮโลแกรม กันได้
การโฮโลแกรม อธิบายง่ายๆ คือ การปรากฏภาพสิ่งใดสิ่งหนึ่งยังสถานที่ต่างๆ พรีเซนต์ หรือพูดถึงได้ราวกับเดินทางมาด้วยตัวเอง เช่น ตัวเขาเองกำลังพูดบนเวที ทุกคนจะเห็นและมีความรู้สึกเหมือนมาพูดอยู่บนเวทีจริงๆ ด้วยเทคโนโลยีโฮโลแกรม แต่ความจริงเจ้าตัวไม่ได้เดินทางมาด้วยซ้ำเป็นเพียงดิจิทัลคอนเทนต์เท่านั้น โดย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ “เมตา” ได้คาดการณ์ไว้ว่า เหตุการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่า 5 ปีด้วยซ้ำ
และในอีก 10 ปีข้างหน้าจากสังคมก้มหน้าจะกลายเป็นสังคมใส่แว่นตา หรือโฮโลแกรมได้ โดยมามาร์กซัคเกอร์เบิร์ก ได้คาดการณ์ไว้ว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่า 5 ปีด้วยซ้ำ
- Web 3.0 จะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และพลิกโลกธุรกิจ
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่และยังไม่ได้เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ แต่รู้หรือไม่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ธุรกิจต่างๆ ซุ่มพัฒนา หรือหาทางประยุกต์ใช้เพื่อรับโอกาสการโลกใหม่มาพักใหญ่แล้ว
เบื้องหลังเทคโนโลยีสุดล้ำเหล่านี้ คือ ระบบบล็อกเชน NFT (Non-Fungible Token), Cryptocurrency, AI (Artificial intelligence) ที่ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตต่างจาก Web 2.0 แทบจะสิ้นเชิง
สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการในอนาคตเข้าถึงเทคโนโลยีระดับโลก แบบเดียวกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่ใช้ เพียงแค่จ่ายค่าบริการรายเดือนไม่ต่างจากการนั่งดู Netflix ซึ่งนี่คือโอกาสที่ SMEs คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่าเทียมกับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีเงินลงทุนกับสิ่งเหล่านี้ แบบไม่ต้องลงทุนเอง
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ให้สะดวกสบาย หรือเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้นแค่นั้น แต่จะสร้าง “เศรษฐกิจใหม่” ที่เรียกว่าเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ทุกวันนี้เริ่มเห็นสิ่งเหล่านี้ชัดเจนขึ้นในต่างประเทศ เช่น การสร้างรายได้จากแหล่งใหม่ๆ ที่เรียกว่า Play to earn เล่นเกมแล้วได้เงิน , Listen to earn ฟังแล้วได้เงิน, Learn to earn เรียนแล้วได้เงิน, exercise to earn ออกกำลังกายแล้วได้เงิน ทำอะไรก็สามารถสร้างเงินได้หมด
- Cryptocurrency เปิดโอกาสให้ทำงานเป็น Nano Entrepreneur สร้างรายได้ทั่วโลก
“ในอีก 10 ปีข้างหน้า ทุกคนจะเป็น Nano” จิรายุส บอกไว้แบบนี้
และอธิบายถึงความเป็น Entrepreneurship ว่า พนักงานคนหนึ่งจะสามารถทำงานให้ 10 องค์กรได้ในเวลาเดียวกัน
สมมติเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เป็น Nano Contract สามารถดีไซน์โลโก้แบรนด์ให้ได้ทั่วโลก สมมติงานชิ้นละ 5 ดอลลาร์ ทำให้กับนายจ้างที่อยู่อเมริกา กับแอฟริกา เมื่อทำเสร็จก็ส่งงานและรับเงิน 5 ดอลลาร์ นี่เป็นสาเหตุที่ต้องปลดล็อก Cryptocurrency Payment เพราะถ้าเราต้องโอนเงินน้อยๆ อย่าง 5 ดอลลาร์ หรือนึกภาพง่ายๆ หากเรานำเงินสด 100 บาทโอนไป อเมริกา แอฟริกา ที่หน้าสาขาธนาคารก็ทำไม่ได้เพราะค่าธรรมเนียมสูงกว่า 100 บาทแล้ว
- โอกาสของไทยบนโลก Web3.0 อยู่ที่นโยบาย
จิรายุส ชวนตั้งคำถามว่า ถ้าเราเปิดเป็น “Crypto friendly nation” GDP ไทยจะโตได้แค่ไหน ?
ตอนนี้มูลค่าตลาดคริปโทฯ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน GDP ของไทยอยู่ที่ราว 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฉะนั้นเมืองไทยเท่ากับ 1 ส่วน 4 ของตลาดคริปโทฯ ทั่วโลกเท่านั้น
หมายความว่า..
ถ้าประเทศเรามองเห็นอนาคตยุค Web 3.0 เข้าใจกฎใหม่ของโลก เข้าใจว่าใครคือ The new wealth เข้าใจว่าเงินจะมาทางด้านไหน แล้วเราเปิด payment option ใหม่ เพิ่มช่องทางการจ่ายเงิน โดยไม่ต้องยกเลิกแบบเดิมจะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น
“การมาของ Web 3.0 มันคือโอกาสครั้งใหญ่ของไทย ถ้าเรามีนโยบาย ที่ถูกต้องจะแก้ไขปัญหาในอดีตที่ผ่านมา 50 ปีทั้งหมด” จิรายุส กล่าว