‘การ์ทเนอร์’ ไขปม ‘คนไอที’ ทำไมอยู่ทำงานไม่ทน
การ์ทเนอร์ เผยผลสำรวจล่าสุด พบพนักงานสายไอทีมีความสุ่มเสี่ยงและแนวโน้มว่าจะลาออกจากงานที่ทำอยู่มากกว่าพนักงานสายอื่นๆ
เกรแฮม วอลเลอร์ รองประธานฝ่ายวิจัยและนักวิเคราะห์ การ์ทเนอร์ กล่าวว่า การรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้ทำงานต่อกับองค์กรเป็นเรื่องน่ากังวลของผู้บริหารระดับสูงและเป็นปัญหามาอย่างยาวนานของผู้บริหารด้านไอที
ที่ผ่านมา ทีมงานไอทีจำนวนมากมีความสุ่มเสี่ยงที่จะลาออก บริษัทไอทีที่นำนโยบายกลับมาทำงานที่ออฟฟิศมาใช้ต้องพบกับปัญหาการลาออกของทีมงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องกลับมาทบทวนถึงการใช้แนวทางดังกล่าวอีกครั้ง
โดยผู้บริหารไอทีอาจต้องปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าแผนกอื่นๆ ในองค์กร เนื่องจากแนวโน้มที่พนักงานไอทีจะลาออกนั้นมีสูงกว่า และเชี่ยวชาญการทำงานผ่านระยะไกลมากกว่าพนักงานส่วนใหญ่
การ์ทเนอร์ได้สำรวจลูกจ้างจำนวนกว่า 18,000 คนทั่วโลก ช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งเป็นพนักงานในสายงานไอทีจำนวน 1,755 คน โดยได้รวบรวมคำตอบเป็นรายเดือนจาก 40 ประเทศ ใน 15 ภาษา
'Human-Centric’ ทางออก
ผลสำรวจระบุว่า เพียง 29.1% ของพนักงานไอทีทั่วโลกเท่านั้นที่มีความตั้งใจทำงานต่อกับนายจ้างปัจจุบัน ยิ่งในเอเชียมีตัวเลขที่ต่ำมากเพียง 19.6% ขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อยู่ที่ 23.6% ละตินอเมริกาที่ 26.9%
แม้แต่ในยุโรปซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพการทำงานดีที่สุด กลับพบว่ามีพนักงานไอทีเพียง 4 ใน 10 คน หรือ 38.8% ที่ตั้งใจอยู่กับองค์กรเดิม
ความท้าทายในการรักษาทีมงานไอทีระดับหัวกะทิแตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุและภูมิภาค เช่น พนักงานไอทีที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ตามรายงานระบุว่ามีโอกาสที่จะทำงานต่อกับที่เดิมมีน้อยกว่ากลุ่มที่อายุมากกว่า 50 ปีถึง 2 เท่าครึ่ง
ขณะที่เพียง 19.9% ของพนักงานกลุ่มอายุ 18-29 ปี เท่านั้น ที่ตั้งใจทำงานต่อในองค์กรเดิม เมื่อเทียบกับ 48.1% ของพนักงานที่มีอายุ 50- 70 ปี
ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นและยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centric) สามารถลดปัญหาการลาออก เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ต่อยอดความสามารถของทีมงานระดับหัวกะทิ รวมถึงสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจ
เมื่อปี 2564 การ์ทเนอร์ได้สำรวจพนักงาน 3,000 คน ครอบคลุมอุตสาหกรรม สายงาน และภูมิภาคต่างๆ พบว่า 65% ของพนักงานไอทีบอกว่าการทำงานที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวส่งผลต่อการตัดสินใจอยู่ทำงานต่อกับองค์กร
'Data-Driven’ ลดความเสี่ยง
นักวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์ แนะว่า ผู้บริหารไอทีควรใช้แนวทาง Data-Driven วิเคราะห์พนักงานที่สุ่มเสี่ยงต่อการลาออกและระบุว่าใครมีคุณค่าต่อองค์กรมากที่สุด พร้อมปรับนโยบายการทำงานให้มีความผสมผสานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและเพิ่มประสิทธิภาพในหมู่พนักงานให้สูงขึ้น
พร้อมกันนี้ ผู้บริหารไอทีควรทบทวนถึงประเด็นต่างๆ ของรูปแบบการทำงานที่ล้าสมัย และจำกัดความก้าวหน้าขององค์กรโดยไม่มีความจำเป็น ซึ่งประเด็นสำคัญประกอบด้วย
ชั่วโมงการทำงาน (Working hours) : องค์กรหัวก้าวหน้าจะสนับสนุนให้พนักงานและทีมงานตัดสินใจได้เองว่าเวลาใดที่จะทำงานออกมาได้ดีที่สุด รวมทั้งจัดตารางการทำงานใหม่ที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง
การทำงานที่ออฟฟิศ (Office centricity) : การระบาดใหญ่ได้ทลายความเชื่อการทำงานเดิมๆ ปัจจุบันองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่กำลังวางแผนปรับโหมดการทำงานไปสู่ไฮบริด ส่วนออฟฟิศยังเป็นสถานที่ที่เหมาะที่สุดสำหรับทำกิจกรรมร่วมกันบางอย่าง อาทิ สร้างความสัมพันธ์และทำงานร่วมกัน
การประชุม ประชุม และประชุม (Meetings) : ขณะนี้มีเครื่องมือการทำงานร่วมกันทั้งแบบต่างและเหมือนกันที่ช่วยให้ทีมสามารถตัดสินใจ ทำงานร่วมกัน และแชร์ความคิดสร้างสรรค์ในแบบกระจายศูนย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
“ผู้บริหารไอทีที่นำแนวทางการทำงานแบบยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางมาปรับใช้จะสามารถหลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ ทั้งในเรื่องของการจ้างงาน การรักษาบุคลากร และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานรูปแบบใหม่ๆ"