"ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง" โอกาสคนไทยเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าฝีมือไทย
อว. จัดเวทีสัมมนาวิชาการ “เทคโนโลยีและโอกาสทางธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศไทย" เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเทคโนโลยีในการดัดแปลงรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปเป็นรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV)
นายธนาคาร วงษ์ดีไทย คณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. สอวช. ได้ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายและการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง” โดยกล่าวถึงภาพใหญ่ในเชิงนโยบายของประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีความพยายามที่จะลดอุณหภูมิลง รวมถึงมีการประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065
ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะการจะบรรลุเป้าหมายได้ ทุกภาคส่วนต้องเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด รวมถึงภาคส่วนคมนาคมด้วย โดยในปี 2025 มีข้อมูลว่าราคารถยนต์น้ำมันจะแพงกว่ารถยนต์ไฟฟ้า ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิมจึงต้องเร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เท่าทันเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับประเทศไทย ได้ประกาศว่าจะเป็น ASEAN EV-Hub รวมถึงกำหนดว่าในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้า 100% (Zero Emission Vehicle: ZEV) ที่มีการผลิตขึ้นภายในประเทศถึงร้อยละ 30 หรือคิดเป็นจำนวน 6-7 แสนคันต่อปี ซึ่งสัดส่วนในการผลิตรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้จึงต้องพร้อมเปลี่ยนแปลง หากมีการวางแผนที่ดีก็จะสามารถยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการเดิมให้สามารถเดินต่อไปได้ เป็นที่มาของโครงการ "ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง" (EV Conversion) ที่จะช่วยยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทย
ภาพรวมการพัฒนาด้านยานยนต์สมัยใหม่ในต่างประเทศ เมื่อเทียบจำนวนประชากรกับประเทศไทยพบว่า เรามีจำนวนประชากรไม่มากนัก ดังนั้นหากจะแข่งขันในเรื่องปริมาณการผลิต จะต้องทำให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าสู่ตลาด เข้ามารวมตัวกัน หรือเร่งพัฒนาเทคโนโลยีในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสามารถขึ้นมา
ในไทยมีผู้ประกอบการอยู่หลายกลุ่ม ทั้งผู้ประกอบการเดิม ผู้ประกอบการรายย่อยใหม่ ผู้ประกอบการรายใหญ่ใหม่ และผู้ประกอบการต่างชาติรายใหม่ ตลาดในอนาคตจึงมีแนวโน้มเข้มข้นและรุนแรงมากกว่าในปัจจุบัน รวมถึงผู้ประกอบการไทยหลายบริษัท เริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบดัดแปลงและแบบใหม่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้ผู้ประกอบใหม่เหล่านี้สามารถแข่งขันได้นั้น จะต้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การพัฒนาต้นแบบ แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เข้าสู่การผลิตในเชิงปริมาณ ในราคาที่สามารถแข่งขันกับรถที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ เป็นโจทย์ที่ต้องวางแผนและต้องคิดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการขับเคลื่อน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดทำสมุดปกขาว “การส่งเสริมและพัฒนายานยนต์สมัย” ขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างราบรื่น มีความเกี่ยวข้องกับรถทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ รถไฟ เรือ และระบบอากาศยาน ที่ควรให้การสนับสนุนไปพร้อมกัน
เพื่อให้ผู้ผลิต สามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ในหลายประเภท และได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (Transition Strategy) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาไปได้พร้อมกัน ทั้งในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) และการออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ทั้งคัน (EV New Design) ซึ่งการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีความจำเป็นมาก ต้องพัฒนาให้ผู้ประกอบการมีความรู้เชิงลึกมากขึ้น
ในช่วงเริ่มต้นอาจเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ แต่ในระยะถัดไปต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนงาน R&D ในบริษัทของตัวเอง ส่งเสริมให้สามารถทำงานวิจัยที่ยากขึ้น เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ทั้งในไทยและต่างประเทศได้
สำหรับเครื่องมือและมาตรการสำคัญที่รัฐบาลเริ่มนำมาสนับสนุนในด้านนี้ เพื่อผลักดันและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าสู่ตลาดได้ในระยะแรกเริ่มได้ เช่น การสร้างตลาด, การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การจัดตั้งสถานีชาร์จ, การลงทุน การให้เงินวิจัย รวมถึงการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาบุคลากร ที่คาดว่าในอนาคตอุตสาหกรรมนี้จะมีความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้นมาก
จึงต้องเร่งทั้งการให้ทุนวิจัยและทุนพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกัน ซึ่งขีดความสามารถของนักวิจัยไทยในปัจจุบัน สามารถออกแบบระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า, วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญขึ้นภายในประเทศ เช่น มอเตอร์, แบตเตอรี่, ตัวควบคุม, พัฒนาการรวมระบบ (System Integration) เข้าด้วยกัน,
การออกแบบกระบวนการในการทดสอบ, การพัฒนาให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล, การพัฒนาแพลตฟอร์ม EV และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ, และร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ การออกแบบ โครงสร้างน้ำหนักเบา เป็นต้น
แต่ส่วนที่ทำได้ยังอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ซึ่งบางส่วน หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ให้ทุนไปแล้ว เช่น การพัฒนารถไฟรางเบา, รถบรรทุกที่ใช้เชิงพาณิชย์ จะมีการเปิดรับข้อเสนอโปรแกรมวิจัยในด้านนี้ เพื่อขอรับทุนจาก บพข. รอบใหม่ ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2565 นี้ด้วย
นอกจากมุมนโยบายและการให้ทุนแล้ว ในงานสัมมนาครั้งนี้ยังได้มีการบรรยายพิเศษถึงภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศไทย รวมถึงการนำเสนอเทคโนโลยีการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (กรณีศึกษารถโดยสารไฟฟ้า) เพื่อให้เห็นภาพตัวอย่างการนำรถไฟฟ้าดัดแปลงไปใช้ในสถานการณ์จริงด้วย
สำหรับภาคเอกชน พบว่า หลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการดัดแปลงรวมถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น จากการมองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ มองว่าการเข้าสู่ธุรกิจนี้จะช่วยสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับประเทศได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาแนวทางให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมยังอยู่ได้ หรือมีแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่
รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเดิมให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเรียนรู้และปรับตัว ที่สำคัญคือการสร้างความเข้าใจให้กลุ่มลูกค้าและผู้ประกอบการในการเข้าสู่อุตสาหกรรม เพื่อสร้างพันธมิตรในการทำงานร่วมกันในระยะยาว
ในมุมของหน่วยงานภาครัฐเอง ก็ได้มีการศึกษาเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามามากกว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบันที่ภาคเอกชนให้ความสนใจหันมาทำธุรกิจแนวนี้มากขึ้น รวมถึงประชาชนที่เริ่มสนใจการใช้รถยนต์ไฟฟ้า แนวทางการพัฒนาเพื่อสนองต่อนโยบาลรัฐ จึงเป็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างสถานีชาร์จ เพื่อให้บริการประชาชน พร้อมรองรับตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ในอนาคตจะต้องมีแนวทางสนับสนุนอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีก เพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปต่อได้ เช่น การมองเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน, อุปกรณ์ชาร์จที่ได้มาตรฐานมากขึ้น เป็นต้น.