"การเรียนรู้ตลอดชีวิต"ผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต
"การเรียนรู้ตลอดชีวิต" แนวทางจาก สอวช. ชี้ให้สถาบันอุดมศึกษาไทยปรับตัว ผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต จากการพลิกผันของเทคโนโลยี (Technology Disruption)
ในการเสวนาหัวข้อ “Human Capital Maximization: Shaping the Future of Work/Skills" นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวถึงสถานการณ์โลกที่ส่งผลต่อระบบกำลังคนและรูปแบบการเรียนรู้ จากการพลิกผันของเทคโนโลยี (Technology Disruption)
ข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 งานประมาณ 85 ล้านตำแหน่ง จะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร และจะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น 97 ล้านตำแหน่ง โดยงานที่มีความต้องการมากขึ้นจะเป็นงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล ระบบอัตโนมัติ
อีกทั้งประเทศไทยยังเข้าสังคมสูงวัยและความหลากหลายของขั้นชีวิต (Multi-stage life) คนจะมีอายุยืนยาวขึ้น มีระยะเวลาทำงานนานขึ้น และหนึ่งคนจะมีมากกว่าหนึ่งอาชีพ ซึ่งในแต่ละช่วงชีวิตอาจมีทั้งการศึกษาและการทำงานผสมผสานกัน
จึงมีแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เข้ามาเพื่อตอบโจทย์ทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัว มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากทุกช่องทาง
ในส่วนการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าจะมีผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยในระยะสั้น จะมีการลดจำนวนพนักงานลงชั่วคราว 25% และเลิกจ้างถาวร 20% ส่วนผลกระทบในระยะยาว จะทำให้คุณภาพของประชากรและแรงงานในอนาคตลดลงและภาคอุตสาหกรรมจะขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการ
ปัจจุบันยังพบว่า เด็กและเยาวชนไทย กำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จากปัญหาของการเข้าถึงการศึกษาในยุคโควิดที่ทำให้เกิดภาวะความรู้และทักษะถดถอย (Learning & Skill Losses) และอาจทำให้โอกาสในการทำงานลดลงด้วย
นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาช่องว่างระหว่างรุ่น (Generation Divide),เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform economy) หรือ Gig economy, การเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลก และโอกาสทางการศึกษา, สถานการณ์การช่วงชิงแรงงานทักษะสูง (War of Talents), รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ข้อมูลจาก WEF ยังชี้ให้เห็นถึงตำแหน่งงานที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดแรงงานภายในปี 2025 เช่น นักวิเคราะห์ข้อมูล, นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์, ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล, ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจ, นักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล, วิศวกรหุ่นยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลผลการสำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563 – 2567) ที่ สอวช. รวบรวมจัดทำขึ้น พบว่าตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูงอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น
สำหรับการปรับตัวของระบบอุดมศึกษาไทย ดร. กิติพงค์ ได้ยกตัวอย่างทิศทางการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เช่น การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนจาก Three-stage life ไปสู่ Multi-stage life ทำให้ต้องมีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต, การเปลี่ยนจาก Supply-driven ไปสู่ Co-creation เป็นการออกแบบโมเดลการศึกษาร่วมกับภาคเอกชน,
การเปลี่ยนจาก Degree-oriented ไปสู่ Employability-oriented ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม, การเปลี่ยนจาก Supply-side ไปสู่ Demand-directed financing เป็นนโยบายการสนับสนุนงบประมาณเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคที่ต้องใช้บุคลากร เป็นต้น
กระทรวง อว. และ สอวช. ได้ผลักดันให้เกิดนโยบาย รวมถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้ริเริ่มหลายโปรแกรมที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชนทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม มีการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา (Higher Education Development Fund) เพื่อช่วยเหลือในด้านการเงิน
ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ รวมถึงมีแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox ที่เป็นการพัฒนานวัตกรรมการอุดมศึกษา ผ่านการออกแบบหลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคผู้ใช้บุคลากร
ในงานสัมมนาครั้งนี้ ยังได้เชิญสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษาต่อความท้าทายในการทำงานในอนาคต ในหัวข้อ “Shifting Role of Higher Education Institution in Human Capital Development” ซึ่งมีตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาระดับประเทศจากทวีปต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมเสวนาด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเทศออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา
การเสวนาหัวข้อ “Human Capital Maximization: Shaping the Future of Work/Skills" เป็นส่วนหนึ่งในงานสัมมนานานาชาติระดับอุดมศึกษา “Human Capital Maximization: Reimagining and Redesigning our Skills of the Future” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม
เพื่อเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะในอนาคตของการทำงาน พร้อมเชิญสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ รวมทั้งร่วมเสวนาในหัวข้อการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษาต่อความท้าทายในการทำงานในอนาคต.