ห้าม 'ทรู ดีแทค" ลดเหลือบริษัทเดียวใน 3-5 ปี กสทช.ถก!! - เอไอเอส ยก ก.ม.ค้านควบ

ห้าม 'ทรู ดีแทค" ลดเหลือบริษัทเดียวใน 3-5 ปี กสทช.ถก!! - เอไอเอส ยก ก.ม.ค้านควบ

อนุฯ บอร์ด กสทช.ส่อเขียนเงื่อนไขวางมาตรการรับมือ อภิดีล "ทรู-ดีแทค" ไฟเขียวควบผ่านฉลุย ย้ำอำนาจไปไม่ถึง "ซีพี-เทเลนอร์" แต่ "ทรู-ดีแทค" ผู้รับใบอนุญาตโดยตรง เล็งออกประกาศห้ามลดเหลือบริษัทเดียวใน 3-5 ปี บริษัทใหม่ต้องลุยธุรกิจด้านอื่นควบคู่ไปก่อน

อนุฯบอร์ด กสทช. ส่อเขียนเงื่อนไขวางมาตรการรับมือ อภิดีล "ทรู-ดีแทค" หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียวควบผ่านฉลุย ย้ำอำนาจไปไม่ถึง "ซีพี-เทเลนอร์" แต่ในส่วน "ทรู-ดีแทค" ผู้รับใบอนุญาตโดยตรง เล็งออกประกาศห้ามลดเหลือบริษัทเดียวใน 3-5 ปี ให้อุตสาหกรรมยังคงมีผู้เล่นเท่าเดิม ส่วนบริษัทใหม่ต้องลุยธุรกิจด้านอื่นควบคู่ไปก่อน ฟาก “เอไอเอส” เคลื่อนไหวยื่นหนังสือทักท้วงร่ายยาวยกข้อกฎหมายชัดเจน ยัน กสทช.มีอำนาจติดเบรก ชี้อุตฯ เกิดผลกระทบผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ร้ายแรง

ดีลแสนล้านควบทรู ดีแทค อาจยังมี “คลื่นแทรก” ที่น่าติดตามต่ออย่างใกล้ชิด แม้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา จะโหวตผ่านให้ “ทรู-ดีแทค” ควบรวมกันได้แล้วตามที่มีการประกาศของเครือซีพี และเทเลนอร์ กรุ๊ปไปเมื่อปลายเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้าน และแรงเสียดทานทางสังคม รวมถึงภาคประชาชนที่ออกมายื่นหนังสือขวางดีลใหญ่ระดับแสนล้านบาทนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เหมือนจะเป็นเพียงแค่คลื่นกระทบฝั่งซัดมาเป็นระลอกแล้วก็หายไป แต่ล่าสุดเมื่อ “เอไอเอส” พี่ใหญ่ในอุตสาหกรรมออกมาขวางสุดตัว พร้อมกับร่ายข้อกฎหมายละเอียดยิบว่า กสทช.ควรต้องทำหน้าที่ของตัวเอง

บอร์ดกสทช.ประชุม 7 เม.ย. นี้

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันที่ 7 เม.ย.นี้ เพื่อรับทราบหนังสือที่ บมจ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานบอร์ดกสทช.เพื่อชี้แจงผลกระทบ และผลเสียจากการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาท่าทีของบอร์ดค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า กฎหมายที่ กสทช.ถืออยู่ จะกำกับดูแลแค่ผู้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.เท่านั้น แต่ในประเด็นดังกล่าว แม้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ายังสรุปว่าไม่มีอำนาจในการเข้าไปยับยั้ง และก็สรุปกลับมาว่าเป็นหน้าที่ของบอร์ดกสทช. ในที่สุดแล้วบอร์ดจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯเฉพาะ เพื่อเข้ามาพิจารณาดีลการควบรวมดังกล่าว และได้ตั้งที่ปรึกษาอิสระขึ้นมาเพื่อให้การพิจารณามีหลากหลายมิติมากขึ้น
 

ห้ามลดเหลือบริษัทเดียว 3-5 ปี

แหล่งข่าว กล่าวว่า พูดตามตรงแล้วในด้านการควบรวมของบริษัทแม่ ต้องปล่อยไปตามนั้น ส่วนการดำเนินกิจการในไทยที่จะเป็นบริษัทผู้เข้ารับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.นั้น ได้โยนหินถามทาง โดยการเขียนเงื่อนไขและกำหนดมาตรการดำเนินงานของบริษัทที่กำลังจะตั้งขึ้นของสองบริษัทว่า ในระยะ 3-5 ปี ห้ามไม่ให้ทรูและดีแทคควบรวมเหลือบริษัทเดียว ให้ยังคงสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็น 3 รายใหญ่คือ เอไอเอส ทรู ดีแทค ไปพลางก่อน ส่วนบริิษัทใหม่จะให้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีด้านอื่นๆ

“วันพฤหัสบดีที่มีประชุมกันนี้ เป็นเพียงวาระแจ้งเพื่อทราบว่าเอไอเอสมีหนังสือเข้ามาโดยมีรายละเอียดแบบนี้ๆ แต่เราคงไม่มีมติอะไรออกไป แต่จะมีหนังสือไปยังอนุฯ กรรมการให้ไปสอบถามที่ปรึกษาอิสระให้เร่งสรุปแผนหรือหามาตรเยียวยาหลังจากเกิดดีลควบรวมนี้”

สำหรับสถานะของสองบริษัทนั้น แม้ยังไม่มีชื่อใหม่อย่างเป็นทางการ เพราะต้องจดทะเบียนกับกรมธุรกิจการค้าก่อน ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จในเดือนก.ย.นี้ ในระหว่างที่มีการเข้าประชุม กับสำนักงาน กสทช.ตัวแทนของสองบริษัทก็จะใช้คำว่า New Co. เท่านั้น ซึ่งในมุมมองของตัวเองเป็นที่แน่ชัดว่า ในระยะยาวทรูฯ จะเป็นสถานะเป็นโอเปอเรเตอร์ให้บริการในประเทศ ส่วนดีแทคจะเป็นเพียงอินเวสเตอร์ หรือนักลงทุนเท่านั้น เหมือนกับที่ เทเลนอร์ กรุ๊ปฯใช้โมเดลนี้ในการทำธุรกิจกับการบริหารงานนอกประเทศตัวเอง

ยันกระทบอุตฯ-ผู้บริโภคร้ายแรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของ "เอไอเอส" ได้ส่งหนังสือคัดค้านการควบรวมถึงประธานบอร์ด กสทช. โดยมีใจความ ระบุว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรู และดีแทคก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด และต่อผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และขัดต่อหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ด้วย การปล่อยให้เกิดการควบ“ทรู-ดีแทค” จะทำให้ตลาดมีการกระจุกตัวสูง ส่งผลเสียต่อการแข่งขัน

โดยเมื่อพิจารณาค่าดัชนีการแข่งขัน (HHI) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 รายเมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 ที่แม้ยังไม่ควบรวม ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศก็กระจุกตัวในอัตราที่สูงมากอยู่แล้ว หากกสทช.อนุญาตให้ควบธุรกิจก็จะยิ่งทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 53.4% ส่งผลต่อค่าดัชนี HHI หลังการควบรวมมากขึ้นไปอีก ทำให้บริษัทใหม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการแข่งขัน และเข้าข่ายเป็นการครอบงำตลาด 

นอกจากนี้ การควบรวมจะเป็นการกีดกันการเข้าสู่ตลาดของผู้แข่งขันรายใหม่ และการเติบโตของผู้แข่งขันรายเล็ก ที่สำคัญการอนุญาตให้ทรู-ดีแทคควบรวมกิจการจะก่อให้เกิดการกระจุกตัวของคลื่นความถี่ ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่

ย้ำชัดกสทช.มีอำนาจเต็มที่

ในหนังสือของเอดับบลิวเอ็น ยังระบุด้วยว่า กสทช.มีหน้าที่ตามกฎหมายพิจารณาการควบคุมธุรกิจระหว่าง “ทรูและดีแทค” ตามมาตรา 60 แห่งรัฐธรรมนูญฯพ. ศ.2560 ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน และรัฐต้องจัดให้มีองค์กรรัฐที่อิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบ และกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีการมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ มาตรา 274 ยังกำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่โดยตรงรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ จึงมีหน้าที่กำกับดูแลคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ทั้งต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น รวมทั้งการป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ตามมาตรา 60 ดังกล่าว

ในหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 75 วรรคแรก ยังบัญญัติไว้ด้วยว่า รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งกิจการโทรคมนาคม เป็นกิจการสาธารณูปโภคที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับประชาชนรองจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ดังนั้นในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลคลื่นความถี่ รวมทั้งการให้บริการโทรคมนาคม จึงมีหน้าที่ตามมาตรา 27( 11 ) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2553 กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

ย้ำชัด กสทช.ต้องทำหน้าที่ตัวเอง

นอกจากนี้ กสทช.ยังมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติมาตรา 21 พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2544 ที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการการโทรคมนาคม

ด้วยบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นทำให้ กสทช.มีหน้าที่นำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด พ.ศ 2549 และประกาศควบรวมธุรกิจ 2561 มาใช้ควบคู่กัน เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในอดีต กสทช.ได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมพ.ศ 2549 ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีการซื้อของธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันไม่ว่าจะทำโดยทางตรง หรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช.

ต่อมาเมื่อ กสทช. พิจารณารายละเอียดประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 แล้วเห็นว่า ยังไม่ครอบคลุมการควบรวมกิจการได้ทั้งหมด จึงออกประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2553 โดยในข้อ 8 และข้อ 9 แห่งประกาศควบรวมธุรกิจดังกล่าว กำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากค่าดัชนี HHI ที่วัดจากส่วนแบ่งตลาดของผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายในตลาดก่อนและหลังการควบรวม

ยันเป็นธุรกรรมที่ไฟเขียวไม่ได้

กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค จึงไม่อยู่ในลักษณะที่ กสทช.จะอนุญาตให้ควบรวมกิจการได้ หากประกาศควบรวมธุรกิจปี 2553 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากประกาศควบรวมธุรกิจปี 2553 ยกเลิกไปในปี 2561 จากการที่ กสทช.ได้ออกประกาศควบรวมปี 2561 กำหนดให้ กสทช.มีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะอนุมัติให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมได้หรือไม่ตามข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่า การรายงานตามข้อ 5 ข้อ6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549

“กรณีการรายงานการรวมธุรกิจตามประกาศควบรวมปี 2561 นั้นกำหนดขออนุญาตเท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่า การรายงานการรวมธุรกิจถือว่า ได้รับอนุญาตแล้ว ดังนั้นเมื่อมีการรายงานการควบคุมธุรกิจตามนัยข้อ 5 แห่งประกาศควบรวมปี 2561 แล้ว ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามนัยข้อ 8 แห่งประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 ซึ่งกำหนดว่ากรณีที่ กสทช. เห็นว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันการให้บริการโทรคมนาคม กสทช.อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการได้ 

ดังนั้นในการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค กสทช.จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณา “อนุญาต”หรือ “ไม่อนุญาต” โดยนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 มาใช้ควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ กสทช.มีหน้าที่ในการนำกฎหมายว่า ด้วยการแข่งขันทางการค้ามาใช้พิจารณา เพราะการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ตามมาตรา 21 พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม มิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม