ดีล 'ควบทรู-ดีแทค' สะดุดหรือไปต่อ -'ชัยวุฒิ' เชื่อรวมกันแข่งขันไม่เปลี่ยน
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นควบรวมกิจการโทรคมนาคมหลายแสนล้านบาท ค่อยๆ เพิ่มดีกรีความร้อนแรงขึ้น หลัง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ไฟเขียวข้อเสนอควบกิจการของทั้งสองบริษัทเรียบร้อยแล้ว
ดีลควบ "ทรู" "ดีแทค" ยัง ฝุ่นตลบ 'ดีอีเอส' มองว่าเหลือ 2 ราย เสี่ยงมีการฮั้วกัน แต่มองว่าถึงมี 3 ราย โครงสร้างการแข่งขันก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้ง 4 เม.ย. ประเด็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมหลายแสนล้านบาท ค่อยๆเพิ่มดีกรีความร้อนแรงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ได้อนุมัติข้อเสนอควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยผู้ถือหุ้นของสองบริษัทได้อนุมัติการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการก่อตั้งบริษัท เทคโนโลยี-โทรคมนาคม ในการสร้างความแข็งแกร่ง ให้กับวาระดิจิทัลของประเทศไทย นำเสนอบริการใหม่ให้กับลูกค้า และเร่งการพัฒนาทางทักษะของบุคลากรที่พร้อมให้บริการลูกค้ายุคใหม่
โดยหลังจากการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว การควบรวมกิจการยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบและแจ้งเจ้าหนี้ หน่วยงานกำกับดูแล อันได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565
กสทช.รับหนังสือร้องค้านอื้อ
ด้านสำนักงานกสทช.ในฐานะผู้กำกับดูแลโดยตรงออกมาระบุว่า ตั้งแต่เกิดการควบรวมกิจการนั้น มีตัวแทนของสำนักงานฯต้องออกมารับจดหมายยื่นคัดค้านการควบรวมไม่ต่ำกว่า 5 ฉบับ แต่ที่ดูจะได้ "น้ำได้เนื้อ" และเสียงดังมากน้อยก็มาจากพี่ใหญ่ในวงการ "เอไอเอส" ที่ออกหนังสือร่ายยาว 7 หน้ากระดาษ ย้ำว่า การควบรวมจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างรุนแรง
โดยในใจความหนังสือดังกล่าวระบุว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด และต่อผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ทั้งยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และขัดต่อหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ด้วย เพราะการปล่อยให้เกิดการควบรวม
“ทรู-ดีแทค” ทำให้ตลาดกระจุกตัวสูง ส่งผลเสียแข่งขัน
โดยเมื่อพิจารณาค่าดัชนีการแข่งขัน (HHI) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 รายในสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 ที่แม้ยังไม่มีการควบรวม ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศก็มีการกระจุกตัวในอัตราที่สูงมากอยู่แล้ว หาก กสทช.อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจก็จะยิ่งทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 53.4% ส่งผลต่อค่าดัชนี HHI หลังการควบรวมมากขึ้นไปอีก ทำให้บริษัทใหม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการแข่งขัน และเข้าข่ายเป็นการครอบงำตลาด
สอน มวย กสทช.ดูอำนาจตัวเอง
นอกจาก กสทช.จะมีหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ แล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติมาตรา 21 พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2544 ซึ่งเป็นกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นการเฉพาะที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคมนอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการการโทรคมนาคม
ด้วยบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นทำให้ กสทช.มีหน้าที่นำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด พ.ศ 2549 และประกาศควบรวมธุรกิจ 2561 มาใช้ควบคู่กันเพื่อเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในอดีต กสทช.ได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมพ.ศ 2549 ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีการซื้อของธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันไม่ว่าจะทำโดยทางตรง หรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช.
ล่าสุด สำนักงานกสทช.ได้เรียกประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรับบทราบหนังสือที่เอไอเอสยื่นมาโดยตรงประกอบกับข้อร้องเรียนอีก 2 ฉบับที่ส่งมาก่อนหน้า และในวันที่ 11 เม.ย. จะนำเรื่องดังกล่าว เข้าที่ประชุมอนุกรรมการติดตามการควบรวมกิจการ และจัดทำร่างมาตรการกำกับดูแลผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวม
ดีอีเอสเชื่ออาจเกิดประโยชน์
ด้าน "ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงกรณีการควบรวมว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของ กสทช.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมว่า สามารถควบรวมกิจการได้หรือไม่ เบื้องต้นทราบว่า เป็นการรวมผู้ถือหุ้นและทำธุรกิจร่วมกัน แต่แผนธุรกิจยังคงเหมือนเดิม ซึ่งอาจจะมีการส่งเสริมการขายต่อไป เพราะเข้าใจว่าควบรวมกิจการนั้นทำได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหากในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เหลือ 2 ราย เสี่ยงที่จะมีการฮั้วกันเกิดขึ้น แต่มองว่าถึงมี 3 ราย โครงสร้างการแข่งขันก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ด้วยที่ผ่านมาพบว่า ดีแทคเริ่มอ่อนแรง ไม่มีการลงทุนด้านโครงข่ายเพิ่มเติม ในระยะยาวอาจไปต่อไม่ไหว ขณะที่ ทรูก็ประสบกับภาวะขาดทุน ดังนั้น ส่วนตัวจึงมองว่า หากควบรวมกิจการของทั้ง 2 ราย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อาจจะดีกว่า และเข้มแข็งขึ้น
“เมื่อเกิดการควบรวมกิจการแล้ว การแข่งขันอาจจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็จะรุนแรงขึ้น เพราะส่วนแบ่งทางการตลาดมีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแข่งขัน ก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งไม่ได้แย่ลง เพราะหากปล่อยไปในระยะยาว เอไอเอสอาจจะยิ่งใหญ่ขึ้น แต่ทรูและดีแทค อาจจะอ่อนแรงลง และทำให้เหลือโอเปอเรเตอร์เพียงรายเดียวได้ เพราะด้วยอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ทำให้โอเปอเรเตอร์หลายรายไปต่อไม่ไหว” ชัยวุฒิ กล่าว