'ค่ายมือถือ' ชู 'เอไอ-คลาวด์' ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วน

'ค่ายมือถือ' ชู 'เอไอ-คลาวด์' ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วน

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปี 2565 ปัญหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกหลวง และ SMS ยิงตรงเข้ามารบกวนที่เบอร์ของผู้ใช้งาน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ทุกคนต่างต้องเจอ จนกลายเป็นประเด็นตลกร้ายในสังคม

คำถามสำคัญของผู้บริโภคที่ส่งเสียงออกมาตลอดคือ ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรงถึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้สักที และข้อมูลส่วนตัวของเรายังมีความปลอดภัยอยู่บ้างหรือไม่ในโลกออนไลน์

ตั้งศูนย์ฯรับเรื่องโดยตรง

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไปบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า การปกป้องข้อมูลและการใช้งานของลูกค้าถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของเอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย ซึ่งที่ผ่านมาเราได้พัฒนาดิจิทัลเซอร์วิสอย่าง AIS Secure Net ที่เปิดให้บริการสำหรับลูกค้าได้ใช้งานฟรีเพื่อป้องกันภัยไซเบอร์จากการใช้งานไม่ว่าจะเป็น สแปม ฟิชชิ่ง ไวรัสต่างๆ รวมถึงบริการ Google Family Link สำหรับลูกค้าทุกเครือข่าย
 

โดยล่าสุด เอไอเอสได้เปิดตัว สายด่วน 1185 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเบอร์โทรและ SMS มิจฉาชีพ หรือ AIS Spam Report Center ให้ลูกค้าสามารถโทรฟรีในรูปแบบ IVR Self Service และเอไอ แชทบอทเพื่อแจ้งเบอร์โทรหรือ SMS ที่คาดว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ

ซึ่งเอไอเอสจะดำเนินการตรวจสอบถึงที่มา รายละเอียดการจดแจ้งลงทะเบียน รูปแบบการโทรของเบอร์ดังกล่าว ซึ่งจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นเบอร์หรือ SMS ของกลุ่มมิจฉาชีพหรือไม่ หลังจากนั้นเราจะดำเนินการบล็อกเบอร์และ SMS นั้นๆ โดยทันที พร้อมแจ้งกลับไปยังลูกค้าภายใน 72 ชั่วโมง

ตรวจสอบเบอร์ผ่าน“เอไอ”

นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรูร่วมมือกับ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์พีซีที และ กสทช. โดยสายด่วน 9777 รับเรื่องร้องเรียนเบอร์โทรต้องสงสัยและ SMS มิจฉาชีพ สำหรับลูกค้าทรูมูฟ เอช โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง รองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 

พร้อมจัดตั้งทีมงานพิเศษโดยเฉพาะ คอยตรวจสอบ คัดกรองข้อมูลอย่างแม่นยำ และแจ้งผลการตรวจสอบแก่ลูกค้าภายใน 72 ชั่วโมง กรณีพบเป็นเบอร์โทร หรือ SMS จากมิจฉาชีพจริง จะดำเนินการบล็อกเบอร์โทร หรือ SMS นั้นทันที และประสานงานเพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบค้นถึงต้นตอ ทำการจับกุมผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมาย 

อีกทั้ง เพิ่มช่องทางรับเรื่องร้องเรียนผ่าน “มะลิ AI” บนแพลตฟอร์มทรูไอเซอร์วิส (True iService) รวมถึงขยายความร่วมมือกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “Whoscall” เพื่อส่งต่อเบอร์มิจฉาชีพสำหรับการเตือนหมายเลขโทรเข้าหรือ SMS ต้องสงสัย ให้รู้ทันก่อนหลงเชื่อ

เบอร์แปลกอย่ารับสาย

ด้าน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ได้เปิดสายด่วน หากลูกค้าดีแทคเจอภัยมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ SMS หลอกลวง แจ้งดีแทคได้ 2 แนวทาง ดังนี้ 1. โทร 1678 ฟังระบบตอบรับอัตโนมัติ (IVR) และกดตามขั้นตอน ระบบจะแนะนำลูกค้าในการแจ้งเลขหมายมิจฉาชีพผ่านทาง SMS/MMS มายัง ดีแทคเพื่อดำเนินการตรวจสอบ บล็อกเบอร์ และประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสืบสวน สอบสวน และดำเนินการตามกฎระเบียบต่อไป 

2. ส่ง SMS/MMS มาที่ 1678 ลูกค้าดีแทคสามารถแจ้งหมายเลขมิจฉาชีพ หรือ SMS หลอกลวง โดยสามารถแคปข้อความ หรือเลขหมายของมิจฉาชีพ ที่โทรมาหรือ SMS ที่ส่งมา จากหน้าจอมือถือของลูกค้า แล้ว ส่งมาทาง SMS/MMS เพื่อดีแทคจะนำไปตรวจสอบ บล็อกเบอร์ ประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสืบสวน สอบสวน และดำเนินการตามกฎระเบียบต่อไป

นอกจากนี้ ดีแทคได้เน้นมาตรการคุมเข้มใน 3 ประเด็นสำคัญคือ

1.ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบของมิจฉาชีพที่เบอร์โทรเข้ามา

2.ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบของเบอร์ปลอมที่โทรเข้ามาเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศ

3. ทำระบบตรวจสอบสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ว่ามีการดัดแปลงเลขหมายหรือไม่ ด้วยระบบ Test Call Generator (TCG) เพื่อตรวจสอบหาเส้นทางทราฟฟิกจากต่างประเทศผ่านคลาวด์