ZORT ดึงพลังข้อมูล-แมชีนเลิร์นนิง พลิกเกม ‘อีคอมเมิร์ซ’ ยุคใหม่
อีคอมเมิร์ซไทยยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น ทว่าการเติบโตย่อมมาพร้อมการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง และโจทย์ที่ยากมากขึ้นของผู้ค้าที่ต้องหาเครื่องมือมาเพิ่มแต้มต่อ สร้างสีสัน กระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการใช้จ่าย...
ธนัทพันธุ์ ธนเศรษฐ์สกุล ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริหารจัดการออเดอร์และสต๊อกครบวงจร (ZORT Seller Management Platform) เปิดมุมมองว่า อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยเติบโตอย่างมีนัยสำคัญทั้งก่อนและหลังการแพร่ระบาดโควิด-19
ที่น่าสนใจ ปัจจุบัน ตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีสัดส่วนราว 62% ของตลาดอีคอมเมิร์ซ และคาดว่ามูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็นกว่า 4 แสนล้านบาทภายในสิ้นปีหน้า
ทุกวันนี้อีคอมเมิร์ซเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมของการใช้ชีวิตประจำวัน โดยหลักๆ ที่ผู้บริโภคนิยมใช้งานยังคงเป็นอีมาร์เก็ตเพลส เนื่องจากมีความง่าย และที่มาแรงคือโซเชียลคอมเมิร์ซและไลฟ์คอมเมิร์ซ ทั้งยังมีแบรนด์ดอทคอมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกซึ่งส่วนใหญ่เป็นของแบรนด์หรือเชนค้าปลีกขนาดใหญ่
ดังนั้น ร้านค้าที่สนใจขายสินค้าบนอีคอมเมิร์ซควรมีสองช่องทางเป็นอย่างต่ำ ซึ่งแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดหนีไม่พ้นลาซาด้า ช้อปปี้ เฟซบุ๊ก และไลน์
ปักธงอีคอมเมิร์ซครบวงจร
สำหรับซอร์ท ปัจจุบันการให้บริการครอบคลุมระบบบริหารจัดการออเดอร์ สต๊อกสินค้า ระบบบัญชี โลจิสติกส์ ฟูลฟิลเมนท์ ครอบคลุมอีคอมเมิร์ซรวมถึงโซเชียลคอมเมิร์ซที่กำลังมาแรง
ขณะที่ อนาคตมีแผนขยายขอบข่ายการให้บริการไปถึงระบบซีอาร์เอ็มและการตลาดดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถขายสินค้าบนออนไลน์ได้แบบยั่งยืน
ด้านแนวทางการเข้าถึงลูกค้า เน้นใช้โฆษณาบนออนไลน์ เฟซบุ๊ก กูเกิล สื่อสารให้เห็นถึงความเป็น “เทค คอมพานี” ซึ่งมีบริการแพลตฟอร์มและโซลูชั่นที่สามารถสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับผู้ค้าบนโลกออนไลน์
ขณะเดียวกัน มีการทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มที่แข็งแรง สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงจุด กระทั่งเกิดการบอกต่อ โดยที่มาของความสำเร็จเกิดจากการผสมผสานบิ๊กดาต้าและดาต้าอนาไลติกส์เข้าไป
เป้าหมายของบริษัท ต้องการตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ทั้งในวันนี้และอนาคต ทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น แก้เพนพอยต์เรื่องการบริหารจัดการงานหลังบ้าน มากกว่านั้นเพิ่มจุดต่างด้วยบริการด้านการเงินซึ่งช่วยเพิ่มทางเลือก ความสะดวก สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องไปหาเอง
ดึง ‘แมชีนเลิร์นนิง’ เพิ่มแต้มต่อ
ธนัทพันธุ์เผยว่า หลังจากนี้มุ่งนำเทคโนโลยี “แมชีนเลิร์นนิง” เข้ามาเป็นตัวช่วยมากขึ้น เพื่อทำให้ลูกค้าเข้าใจธุรกิจของตนเอง สามารถบริหารช่องทางการจัดจำหน่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญสามารถปรับตัวและทำให้ธุรกิจแข่งขันได้ นอกจากนี้จะพัฒนา “OPEN API” ตอบโจทย์อีคอมเมิร์ซอีโคซิสเต็ม เปิดทางให้พาร์ทเนอร์เข้ามาต่อยอด
ขณะที่ในระยะยาวหวังตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกช่องทาง ครอบคลุมซีอาร์เอ็ม รอยัลตี้โปรแกรม บริการทางการเงิน ขณะเดียวกันมีความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ระดับท็อปในหลายหลายอุตสาหกรรม เช่น LINE SHOPPING TikTok สถาบันการเงินและนอนแบงก์ต่างๆ สอดรับไปกับตลาดกระแสหลัก เทรนด์ที่มาแรง รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ช้อปเปอร์เทนเมนต์
อย่างไรก็ดี ในฐานะบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทย การสร้างความน่าเชื่อถือเน้นที่การขยายฐานลูกค้า มีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นความสามารถ เกิดการบอกต่อ พยายามรักษาฐานลูกค้าด้วยคุณภาพการให้บริการ พร้อมเพิ่มลูกค้ารายใหม่ให้ได้ต่อเนื่อง
รุกเพิ่มฐานลูกค้า ตั้งเป้าโต 100%
ซอร์ทเชื่อว่า โอกาสทางการตลาดมีอยู่สูงมาก โซลูชั่นของบริษัทมีจุดแข็งที่สามารถผลักดันให้ลูกค้าสามารถเติบโตได้มากขึ้น แข่งขันได้มากขึ้น เป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ง่าย ทั้งมีการเลือกการลงทุนตามการใช้งานจริงในราคาที่จับต้องได้ เริ่มต้นที่ 99 บาท
ปัจจุบัน ฐานลูกค้ามีสัดส่วนมาจากลูกค้าบุคคล 50% องค์กร 50% ธุรกิจแฟชั่น สุขภาพและความงาม อุปกรณ์เสริมไอที และที่เติบโตอย่างมากคือธุรกิจอาหาร ปีนี้ตั้งเป้าว่าฐานลูกค้าจะเติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 100% เมื่อเทียบกับปี 2564
“ความต่างของธุรกิจวัดกันที่การให้บริการ ประเมินขณะนี้ความท้าทายหลักๆ เป็นเรื่องของการสร้างการรับรู้ และการเข้าไปช่วยลูกค้าที่ยังไม่ทราบถึงความต้องการของตนเอง”
ส่วนของการระดมทุนเพิ่มในซีรีส์ถัดไป เบื้องต้นในระยะสั้นยังไม่มีแผน ทว่าเปิดกว้างสำหรับการเป็นพาร์ทเนอร์และนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ โดยจะพิจารณาไปตามความเหมาะสมและโอกาสการเติบโตธุรกิจ