Digital Risk & Digital Inequality เทรนด์ใหม่แห่งโลกดิจิทัล
เปิดมุมมอง “Digital Risk & Digital Inequality” แนวโน้มใหม่กำลังเปลี่ยนโลกดิจิทัลอย่างสิ้นเชิงกับความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมรับมือ “ความเสี่ยงดิจิทัล” ที่องค์กรต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามีความหมายไม่เหมือน “ความเสี่ยงไซเบอร์”
ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันกำลังปฏิวัติโลกครั้งใหญ่ เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ มิติ ถึงแม้จะมองแค่มิติทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพียงด้านเดียว ก็จะพบว่า ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ “คน องค์กร และประเทศ” จะต้อง “รู้ และ ตามให้ทัน” การเปลี่ยนแปลงที่รุกคืบเข้ามาทุกขณะ
ปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า พื้นฐานสำคัญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ต้องรู้และตามให้ทันนับจากนี้ไปมี 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1. จากความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ไปสู่ความเสี่ยงด้านดิจิทัล (From Cyber Risk to Digital Risk)
ขณะที่ 2. จากความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันทางดิจิทัล (From Digital Divide to Digital Inequality) โดยคนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่า ประเด็นเหล่านี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหากผู้นำหน่วยงานระดับชาติ ผู้บริหารองค์กร รวมทั้งประชาชน ไม่รู้ไม่เข้าใจให้ถ่องแท้ก็อาจจะตกเป็นผู้สูญเสียโดยไม่ทันตั้งตัว
นี่คือที่มาว่า "ทำไม Digital Risk และ Digital Inequality กำลังเป็น new trend ของโลกในเวลานี้” โดยดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้สร้างสภาวะให้โลกที่เราอยู่มีความซับซ้อน ผันผวน และยากที่จะเข้าใจ
ทว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เป็น “Unknown Unknown” เตรียมความพร้อม และแก้ปัญหาต่างๆ ให้ทัน เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับคำจัดกัดความของ Digital Risk และ Digital Inequality เสียก่อน
From Cyber Risk to Digital Risk
ที่ผ่านมาเรารู้จัก Cyber Risk ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจถูกโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Attack) เช่น มัลแวร์ ฟิชชิ่ง แรนซัมแวร์ มักจะเป็นความเสี่ยงภัยที่มาจากปัจจัยภายนอก หากแต่องค์กรสามารถสร้างระบบ ระเบียบ นโยบาย แนวทางปฏิบัติ และ ฝึกวินัย เพื่อป้องกันภัยเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง
แต่ความหมายของ Cyber Risk ยังไม่รวมไปถึงการหลอกลวงเกี่ยวกับการลงทุนที่นำเสนอผลตอบแทนสูง แต่สุดท้ายแล้วสูญเงินทั้งต้นและผลตอบแทน ซึ่งเกิดกับประชาชนคนไทยหลายพันคน
สำหรับ “Digital Risk” เป็นความเสี่ยงภัยรูปแบบใหม่ที่เกิดจากสิ่งใหม่ๆ ไม่จำเป็นที่ภัยจะต้องมาจากแฮกเกอร์ เช่น เทคโนโลยีใหม่ กฎระเบียบใหม่ หรือ การให้บริการใหม่ๆ ฯลฯ
ยกตัวอย่างเช่น Technology Risk เทคโนโลยีที่ใช้มีช่องโหว่, Automation Risk เกิดจากการตัดสินใจผิดของ AI, Compliance Risk เกิดจากองค์กรไม่มีความแม่นยำในเรื่องกฎระเบียบ กฏหมาย, Data Privacy Risk องค์กรนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปใช้โดยไม่ได้ขอความยินยอม, Third-party Risk คู่ค้าถูกแฮก ทำให้องค์กรของเราได้รับผลกระทบไปด้วย แนวโน้มใหม่ๆ เหล่านี้เราสามารถป้องกันได้ “ถ้าเข้าใจ และ รู้ทันภัย” โดยการนำแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่ถูกต้องมาใช้
From Digital Divide to Digital Inequality
เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ในพื้นที่ห่างไกลจากเมืองหรือพื้นที่ชนบทของประเทศไทยบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จึงเป็นความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่มีช่องว่างทางสังคมระหว่างพื้นที่ในเขตเมืองและชนบทอย่างเห็นได้ชัด ในลักษณะนี้ใช้คำว่า “Digital Divide”
ขณะที่ยุคนี้กลายเป็นความไม่เท่าเทียมกันทางดิจิทัล “Digital Inequality” หมายถึง ความเหลื่อมล้ำทางความรู้และทักษะ (Skill) ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
ปริญญา กล่าวว่า งานวิจัยของ Center for Long-Term Cybersecurity (CLTC) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในหัวข้อ “Improving Cybersecurity Awareness in Underserved Populations” ระบุว่า ผู้ที่ด้อยโอกาสส่วนใหญ่จะมีความรู้ความเข้าใจและทักษะพื้นฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ต่ำกว่ากลุ่มคนที่มีโอกาส
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า Digital Risk และ Cyber Risk มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่นกันกับ Digital Inequality และ Digital Divide ทั้งสองประเด็นนี้เป็นแนวโน้มใหม่ที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก ดังนั้นผู้บริหารองค์กรตลอดจนผู้นำหน่วยงานระดับชาติ ต้องเตรียมความพร้อมให้เร็วที่สุด
สำหรับปีนี้เตรียมจัดงาน “CDIC 2022” ระหว่างวันที่ 9–10 พ.ย.2565 เป็นปีที่ 21 ภายใต้แนวคิด “Optimizing Security of Things and Digital Supply Chain Risk” เปิดเผยถึงแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ทั้งการเตรียมความพร้อมรับกับกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งการจัดการความเสี่ยงในยุคข้อมูลดิจิทัลและความก้าวหน้าของคลื่นลูกใหม่เทคโนโลยี