“ชัยวุฒิ” โชว์ผลงานรอบ 1 ปี - ตั้งเป้ามูลค่าเพิ่มศก.ดิจิทัลกินจีดีพี 30%
“ชัยวุฒิ” โชว์ผลงานรอบ 1 ปีชูการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดันมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้าไปครองสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2570
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวแถลงผลงานรอบ 1 ปี ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีให้เพิ่มบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยมี 5 ภารกิจที่เลือกมาเป็นผลงานไฮไลท์ ครอบคลุมการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ เพื่อปักหมุดสถานะด้านดิจิทัลของประเทศไทยบนแผนที่โลก การวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศเพื่อเพิ่มปัจจัยบวกต่อการเติบโตของจีดีพี การเตรียมพร้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้อต่อระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Ecosystem) การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ และการสร้างช่องทางออนไลน์ที่สะดวกปลอดภัยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
ประกอบด้วย 1.ดันดิจิทัลติดอันดับโลก ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับด้านดิจิทัลที่น่าพอใจจากรายงานระดับโลกของ We are Social โดยรายงานอัพเดทล่าสุด Digital 2022 July Global Statshot Report ซึ่งทำการเก็บข้อมูลจากมากกว่า 220 ประเทศ พบว่าสถานะด้านดิจิทัลของประเทศไทยบนแผนที่โลก ติดอันดับต้นๆ ในหลายหัวข้อ ได้แก่
อันดับ 1 ของโลกในการซื้อสินค้าออนไลน์ อันดับ 3 ในเรื่องความเร็วเน็ตบ้าน (Fixed Internet Connection Speed) ด้วยสปีดที่อัพขึ้นจากปีก่อนหน้า 15.9% อ้นดับ 3 ในการเสพข่าวผ่านออนไลน์/ใช้โซเชียลเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อันดับ 4 ของโลกในการถือครองเงินคริปโต อันดับ 7 ในการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือ อันดับ 7 ในการท่องอินเทอร์เน็ตโดยใช้เวลาวันละกว่า 8 ชั่วโมง อันดับ 8 ของการใช้ระบบจดจำรูปภาพผ่านมือถือ อันดับ 9 ของการใช้เครื่องมือแปลภาษาออนไลน์ อันดับ 10 ของโลกในการสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านมือถือ
ขณะที่ ภาพรวมสถานะของประเทศไทยในภูมิทัศน์ดิจิทัลระดับโลก เมื่อช่วงต้นปีทาง We are Social ก็ได้สรุปตัวเลขไว้ว่า ปัจจุบันสัดส่วนการใช้มือถือของคนไทยมากกว่า 95 ล้านเลขหมาย แซงหน้าจำนวนประชากรทั้งประเทศไปแล้ว และกว่า 77% ของประชากรไทยเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
2.การสนับสนุนเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Startup) โดยขับเคลื่อนผ่านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) หน่วยงานในสังกัดฯ ปัจจุบันมีดิจิทัลสตาร์ทอัพ เข้าสู่การจัดตั้งบริษัทที่จดทะเบียน และเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ (Digital Startup Business) เกิดการพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และขยายธุรกิจ จำนวน 139 ราย สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจระหว่างปี 2562 – 2565 (ไตรมาส 3) ประมาณ 16,822 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อเดือน มี.ค. 65 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบมาตรการภาษี สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งลงทุนโดยตรง และลงทุนโดยอ้อมผ่าน Venture Capital (CVC) จะช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทย ระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่ม โดยเว้นเก็บภาษีผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gains Tax) เป็นเวลา 10 ปี
3.การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์ เว็บพนัน และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวิถีชีวิตยุคดิจิทัล และชีวิตวิถีใหม่ ที่แทบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ โดยความคืบหน้าล่าสุดเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดกั้น SMS หลอกลวง จำนวน 46,219 เลขหมาย อายัดบัญชี 28,381 บัญชี และช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ได้ปิดกั้นเว็บพนันออนไลน์ตามคำสั่งศาลแล้ว 2,819 เว็บไซต์
ขณะที่ การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งไทยและกัมพูชา มีการทำ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการปราบปรามแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam เมื่อเดือน ก.ค. 65 กำลังอยู่ในขั้นตอนการแต่งตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Committee) รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะอนุฯ ทำงานด้านการประสานงานการสืบสวน จับกุม และส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาระหว่างสองประเทศ
4.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มมูลค่า GDP โดยจากนโบยายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้าไปครองสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2570
“สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เคยจัดทำรายงานระบุว่า เมื่อปี 2561 มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นสัดส่วน 17% ของจีดีพีประเทศไทย อย่างไรก็ตาม วิกฤติแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา กลายเป็นตัวเร่งความเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย โดยเติบโตขึ้น 51% จากปี 63 จากปัจจัยหนุนของตัวเลขเติบโตในหลายธุรกิจดิจิทัล เช่น อี-คอมเมิร์ซ โตขึ้น 68% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด คนไทยใช้บริการผ่านแอปต่างๆ สูงขึ้นกว่า 20% บริการดิจิทัลเติบโต 44% ดังนั้นมั่นใจว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ข้างต้นสามารถบรรลุได้แน่นอน” นายชัยวุฒิกล่าว
และ 5.เสิร์ฟบริการรัฐผ่านดิจิทัล ภายใต้หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ผ่านโครงการต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ‘สังคมไร้เงินสด’ (Cashless Society) ผ่านบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) และแอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ สร้างทางลัดให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาสการทำธุรกรรมและค้าขายทางออนไลน์ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น