“ดีอีเอส” โอด “เน็ตประชารัฐ” หนี้บานกว่า 4 พันล้าน
“ชัยวุฒิ” เล็งถกบอร์ดดีอี อ้อนของบ 4,000 ล้านจ่ายหนี้เน็ตประชารัฐ หลังค้างมาตั้งแต่ปี 61 พร้อมคุยนโยบายอนาคตหวังให้โครงการเดินต่อได้ คาดต้องใช้งบปีละกว่าพันล้านบาท
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ขณะนี้ตนกำลังเสนอวาระเข้าที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่อของบประมาณสำหรับจ่ายค่าบำรุงรักษาโครงการอินเทอร์เน็ตโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ (โครงการเน็ตประชารัฐ)
ซึ่งขณะนี้ค้างจ่ายหนี้ให้กับบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที ในค่าบำรุงรักษาตั้งแต่ปี 2561 เป็นจำนวนเงินกว่า 4,000 ล้านบาท แต่หลังจากเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้เอ็นทีลดให้เหลือ 3,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ มั่นใจว่า สิ่งที่รัฐบาลทำเดินมาถูกทาง จากโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้การซื้อขายสินค้าบริการและธุรกรรมการเงินด้านอื่นๆตามมาส่วนโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตนั้น โครงการเน็ตประชารัฐเข้าถึง 74,965หมู่บ้านเกือบ 100% มีความเร็วของอินเทอร์เน็ตทั้งบรอดแบนด์ไฟเบอร์ 4จีและ5จี ซึ่งตรงตามวัตุประสงค์ที่อยากจะระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของประเทศไทย
สำหรับการกำหนดหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) และเป็นพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 40,432 หมู่บ้าน โครงการเน็ตประชารัฐของกระทรวงดีอี งบประมาณ 13,000 ล้านบาท จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ตกจุดละ 5 แสนกว่าบาท บำรุงรักษาให้ใช้งานได้เพียง 6 เดือน ดังนั้น จากการใช้งานที่ผ่านมาคำนวณแล้วว่าค่าบำรุงรักษาต้องใช้เฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงต้องหารือกับบอร์ดดีอีเพื่อขอนุมัติงบสำหรับอนาคตด้วย
“เราต้องคุยกับบอร์ดดีอีเพื่อของบมาจ่ายตรงนี้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็บอกว่าไม่เข้าข่ายที่จะเบิกงบของยูโซ่มาจ่ายได้ ดังนั้นเพื่อให้โครงการเน็ตประชารัฐสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องก็ต้องหาเงินมาเคลียร์ตรงนี้”
เขา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้สัดส่วนการใช้มือถือของคนไทยมากกว่า 95 ล้านเลขหมาย แซงหน้าจำนวนประชากรทั้งประเทศไปแล้ว และกว่า 77% ของประชากรไทยเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ประเทศ พบว่าสถานะด้านดิจิทัลของประเทศไทยบนแผนที่โลก ติดอันดับต้นๆ ในหลายหัวข้อ ทั้งการทำธุรกรรมด้านอีคอมเมิร์ซ คุณภาพการให้บริการ สปีดอินเทอร์เน็ตก็มีความเร็ว ในค่าที่บริการอยู่ในระดับเพียง 200 บาทต่อเดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่กระทรวงดีอีเอสอยากจะเร่งผลักดันในลำดับถัดไปเพื่อปลดล็อคการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศคือ ดิจิทัลไอดี (Digital ID) ที่ช่วยให้การยืนยันตัวตนทางออนไลน์ทำได้ง่ายสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยโดยขณะนี้กำลังคุยกับกระทรวงมหาดไทยจัดทำระบบยืนยันตัวตนผ่านการสแกนใบหน้าซึ่งตั้งใจจะทำให้เสร็จภายในปีนี้