อย่ารอวันนั้น

อย่ารอวันนั้น

ประชาคมโลกคงต้องยอมรับเสียก่อนว่าตอนนี้โลกกำลังป่วยหนัก

ผมเกริ่นไว้บ้างแล้วถึงแนวโน้ม “นิวนอร์มอล” ที่ในมุมมองของผมไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นวิถีปกติสำหรับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สังคม รวมถึงชีวิตส่วนบุคคลที่ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝันอยู่เสมอ

ประเด็นแรกคือ เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นแล้ว และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เพราะความขัดแย้งในด้านการเมือง มักจะส่งผลกระทบไปถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ละประเทศจะเริ่มกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนให้กว้างมากขึ้น

ประการที่สอง ความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน เพราะผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์จะก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้าและการแทรกแซงค่าเงินขึ้นทั่วโลก เช่นการที่ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ค่าเงินบาทตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

ความผันผวนดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในด้านอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอดีตหากเศรษฐกิจขยายตัวตามปกติประชนชนก็อาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ในภาวะปัจจุบันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำติดต่อกันมาหลายปี

ซ้ำเติมด้วยภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยิ่งยืดเยื้อ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านพลังงานย่ำแย่ลงส่งผลให้ราคาสินค้ายิ่งปรับตัวสูงขึ้นไปอีก รวมถึงการรั่วของท่อก๊าซใต้มหาสมุทรที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นอุบัติเหตุหรือการก่อวินาศกรรมแต่ต้นทุนพลังงานในยุโรปคงปรับตัวเพิ่มขึ้นแน่นอน

ประการที่สามคือ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกปี รวมถึงในบ้านเราที่อุทกภัยปีนี้รุนแรงเป็นพิเศษ หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าในอดีตหลายทศวรรษ

ประชาคมโลกคงต้องยอมรับเสียก่อนว่าตอนนี้โลกกำลังป่วยหนัก และผลกระทบจากการขาดแคลนอาหารอันเนื่องมาจากพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายจากภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งจะมีแต่รุนแรงและผลกระทบจะกระจายเป็นวงกว้างขึ้น

ความขัดแย้งจากภูมิรัฐศาสตร์รวมถึงภาวะสงครามจึงมีแต่ทำให้ปัญหาหนักหน่วงยิ่งขึ้น การแก้ไขของแต่ละประเทศจึงไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวเท่าที่ควร เช่นแนวโน้มการเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ในยุโรปที่อาจต้องสะดุดลงเพราะภาวะสงคราม หลายๆ ประเทศเช่นเยอรมัน ญี่ปุ่น อาจกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน

ประการที่สี่ หมดยุคข้าวของเครื่องใช้ราคาถูก เหมือนในช่วงก่อนการระบาดที่การสรรหาวัตถุดิบในการผลิต รวมถึงของใช้อุปโภคบริโภคล้วนทำได้อย่างง่ายดายและราคาถูกมาก แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นสินค้าทุกอย่างปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุสำคัญก็คือ ปัญหาทุกประการข้างต้นส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น กลายเป็นผลกระทบเกี่ยวเนื่องกันไปทั้งระบบ ถึงต้นทุนในโรงงานการผลิต ต้นทุนการขนส่ง ฯลฯ สินค้าราคาถูกที่เราเห็นจนเคยชินในอดีตจึงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

อาจเป็นเพราะหลายสิบปีที่ผ่านมาเราเห็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศดาวรุ่งหลายแห่งทะลุเกินสิบเปอร์เซ็นต์ ด้วยความที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจเอื้ออำนวยมาอย่างยาวนาน แต่แล้วสังคมโลกก็พบว่าประเทศเหล่านั้นมีอัตราการเกิดที่ลดลง จำนวนประชากรเริ่มชะลอตัว

เมื่อการขยายตัวของประชากรลดลงก็ย่อมส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจทั้งระบบ และกลายเป็นเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ลงจนกลายเป็นความผันผวนที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งเราต้องยอมรับว่ามันจะเป็นเช่นนั้น

และอย่ามัวรอให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะวันนั้นจะไม่มีวันมาถึง การเตรียมตัวรับภาวะเลวร้ายที่สุด จึงอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด และทำให้เราอยู่รอดได้ในภาวะผันผวนปรวนแปรเช่นนี้