ดีลควบ ‘ทรู ดีแทค’ ส่อสะดุด - จับตา กสทช.ถกเข้มวันนี้!! "ยื้อ หรือ ลงมติ"
ลุ้นผลบอร์ด กสทช.วันนี้ ยื้อ หรือ ลงมติ วงในเผยหากบอร์ดลงมติ น่าจะโหวต 2:2:1 คือ 2 คนไม่ให้ดีลผ่าน อีก 2 คนให้ดีลผ่าน และ 1 คน ไม่ขอโหวต “พิรงรอง” เผยวันนี้จะหารือข้อมูลใหม่จากที่ปรึกษาต่างประเทศ ด้าน ทรู ดีแทค เร่งรัดการพิจารณากสทช วอนอย่าลากยาว ธุรกิจ-สังคมเสียหายหนัก
วันนี้ บอร์ดกสทช.จะตัดสินดีลควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค ซึ่งวาระการประชุมดังกล่าว เป็นวาระแรกที่จะเริ่มพิจารณาตั้งแต่เวลา 9.30 น. แม้ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบว่า บอร์ดมีอำนาจในการพิจารณาหรือไม่ และหากมีอำนาจจะ “อนุญาต” หรือไม่ “อนุญาต” และสิ่งที่ยังเป็นปริศนา คือ บอร์ดจะลงมติ หรือจะยืดการลงมติไปอีกรอบ
การันตีไม่เกินสิ้นเดือนนี้จบ
นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประชุมวันนี้ ( 12 ต.ค.) มีวาระการขอรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค แต่อย่างไรก็ดี บอร์ด กสทช.จำเป็นต้องหารือข้อมูลใหม่ตามที่บอร์ด มีมติให้จ้างบริษัทวิจัยต่างประเทศ ศึกษาผลกระทบของผู้บริโภคจากการควบรวมกิจการบริการโทรศัพท์มือถือ คือ SCF Associates ซึ่งบอร์ดต้องมาหารือถึงขั้นตอนต่างๆ ในการลงมติ
เบื้องต้นยอมรับว่า ผลศึกษามีข้อกังวลถึงผลกระทบต่อตลาด รวมถึงการศึกษามาตรการเยียวยา ส่วนการที่เอกชนมายื่นเรื่องเร่งรัดให้บอร์ดกสทช.เร่งพิจารณาเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจเอกชนได้ ขอยืนยันว่า กสทช.ไม่ได้ยื้อเรื่องนี้ ซึ่งส่วนตัวอยากให้เรื่องนี้จบโดยเร็วเช่นกัน คาดไม่เกินสิ้นเดือน ต.ค.นี้ แต่ในวันนี้ที่จะประชุมโดยส่วนตัว ก็ค่อนข้างเข้าใจว่าจะไม่มีการลงมติใดๆ
หากลงมติคาดผลออก2:2:1
แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการลงคะแนนในมติแต่อย่างใด เพราะบอร์ดต้องรอผลวิจัยที่ได้ว่าจ้างว่าจะเอาอย่างไร โดยผลสรุปที่ออกมาค่อนข้างไปในแนวทางที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม และจะมีผลศึกษาของในหลายประเทศ ที่ระบุออกมา การควบรวมไม่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม
อย่างไรก็ดี มีการซาวด์เสียงจากบอร์ด พบว่า หากจะมีการลงมติเรื่องการควบรวม จะมีเสียงแบ่งออกเป็น 2:2:1 แบ่งเป็น 2 เสียงคือเห็นด้วยกับการควบรวม 2 เสียงไม่เห็นด้วย และอีก 1 เสียงจะลงนามแค่เซ็นรับทราบผลที่ออกมาเท่านั้น
ทรู-ดีแทคขอให้รีบตัดสินใจ
ขณะที่ วานนี้ (11 ต.ค.) ที่ สำนักงาน กสทช. มีผู้บริหารตัวแทนของทรูและดีแทค เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. มี พล.อ.กิตติ เกตุศรี ผู้ปฏิบัติงาน ส่วนงานประธาน กสทช. เป็นผู้แทนรับมอบ หนังสือระบุเรื่องขอให้ กสทช.พิจารณาการควบรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ขออย่ายืดเยื้อ เพราะจะทำให้ธุรกิจและประชาชนได้รับผลกระทบ
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ ทรู กล่าวว่า การมายื่นหนังสือถึงประธานและคณะกรรมการ กสทช.อย่างเป็นทางการนี้ เพื่อให้ กสทช. พิจารณาการควบรวมโดยเร็ว เนื่องจากได้ยื่นเอกสารตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา จนล่วงเลยมาถึง 9 เดือน ยังไม่มีบทสรุปทางการจาก กสทช. ซึ่งปกติต้องพิจารณาภายใน 90 วัน
โดยทรูและดีแทคเข้าใจดีว่าคณะกรรมการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ด้วยการใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้เกินกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้มานานแล้วได้เกิดผลกระทบความเสียหายต่อผู้บริโภคทั้งทรูและดีแทคซึ่งจะยังใช้บริการและโครงข่ายร่วมกันไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงอยากขอความเป็นธรรมจาก กสทช. ให้ช่วยเร่งรัดพิจารณาไม่ให้เกิดความล่าช้าไปมากกว่านี้ และหาก กสทช. เห็นควรให้มีมาตรการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้บริษัทผู้ควบรวมปฏิบัติ ก็ขอให้พิจารณามาตรการที่เหมาะสมยึดถือหลักของผู้บริโภคและการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมควบคู่กันไป
รวมคลื่น-ใช้อินฟราฯเดียวกัน
สำหรับมาตรการที่ทางกสทช. จะกำหนด ยังไม่ทราบว่ามีข้อใดบ้าง ตามที่มีข่าวว่า จะไม่ให้รวมคลื่นนั้น มองว่า กสทช. น่าจะไม่มีข้อนี้ เพราะการรวมคลื่นทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด ลูกค้าทั้งสองบริษัท สามารถใช้โครงข่ายร่วมกันได้ และในส่วนความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาด ราคาค่าบริการจะสูงขึ้นและจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนหรือไม่ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะ กสทช. มีประกาศเรื่องอัตราค่าบริการ มีการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงสุด กสทช. สามารถกำกับได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว
ในขณะที่เรื่องคุณภาพ ยิ่งไม่ใช่ปัญหา เชื่อได้ว่าจะดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การควบรวมธุรกิจ ยังจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน ทั้งนี้ หากพรุ่งนี้ ยังไม่มีการลงมติ ก็อยากขอความเห็นใจและขอให้เข้าใจว่าวันนี้ บริษัทมีผู้ถือหุ้น ลูกค้า ประชาชนที่รออยู่ ซึ่งได้รับความเสียหายโดยตรง รวมถึงสังคมและประเทศชาติ ถ้าควบรวมกันได้ ก็จะสามารถต่อยอด 5จีได้เร็วขึ้น
“ผมก็คาดว่าในวันนี้ จะยังไม่ได้ข้อยุติและยังไม่มีการตัดสินใจอย่างชัดเจนในเรื่องการควบรวมธุรกิจทรูและดีแทค จึงได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงประธาน และคณะกรรมการ กสทช.ทุกท่าน ให้ช่วยเร่งรัดการพิจารณาการควบรวม เพราะแทนที่ผู้บริโภคจากของทรูและดีแทคจะได้ใช้บริการร่วมกันก็ยังไม่สามารถใช้บริการได้ ”
ยันผู้บริโภคได้ประโยชน์แน่นอน
เขา กล่าวอีกว่า การขอให้ช่วยเร่งรัดการพิจารณาขณะเดียวกันยืนยันว่า การควบรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เนื่องจากลูกค้าจะสามารถใช้คลื่นที่เป็นโครงข่ายร่วมกันได้ แม้จะมีข้อกังขาเรื่องเงื่อนไขที่ห้ามไม่ให้ผู้ขอควบรวมใช้โครงข่ายร่วมกันนั้น ต้องมาดูเรื่องการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นหลักการตามประกาศปี 2561 ข้อ 12 ที่กำหนดว่าหาก กสทช.พิจารณาว่าถ้ามีการควบรวมธุรกิจแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น ภายใต้อำนาจที่ กสทช.มีก็สามารถกำหนดมาตรการให้ผู้ขอควบรวมได้ปฏิบัติตามหลังจากที่มีการอนุมัติให้มีการควบรวมแล้ว
“อยากให้แยกประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคกับประเด็นเรื่องการดำเนินธุรกิจออกจากกัน ที่ผ่านมา ทรูได้ดำเนินการทำธุรกิจลักษณะที่คำนึงถึงผู้บริโภคมาตลอดและอัตราค่าบริการก็ลดลงทุกปี ซึ่งสำหรับประเด็นที่เสนอให้ผู้ขอควบรวมคืนคลื่นความถี่ที่เมื่อรวมกันแล้วมีคลื่นความถี่ที่มากกว่ากฎหมายกำหนดและมีผลต่อการแข่งขันนั้น อาจจะมีการพิจารณาการคืนคลื่นความถี่ที่จะดำเนินการตามกฎหมายกำหนด” นายจักรกฤษณ์ กล่าว
นายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐดีแทค กล่าวว่า การควบรวมจะทำให้ลูกค้าดีแทคจะได้ประโยชน์มาก เพราะคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่ถือเป็นมาตรฐานของ 5จี ดีแทคไม่มีให้บริการ เนื่องจากได้ให้บริการบนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ความกว้างเท่ากับทุกค่ายและไม่เกิดประโยชน์มากนักในแง่ของความเร็ว ดังนั้น การควบรวมธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์อยู่แล้ว
โดยที่ผ่านมากระแสตอบรับการควบรวมจากลูกค้าดีแทคเป็นไปในทางที่ดี เพราะทำให้การใช้บริการดีขึ้น ซึ่งทุกองค์กรต้องมีการทำวิจัยเพื่อสอบถามความคิดเห็นของลูกค้าว่ามีผลอย่างไร แต่เท่าที่บริษัทได้วิจัยแล้วเห็นว่าไม่มีผลในแง่ลบ มีแต่แง่บวก ซึ่งยืนยันได้ว่าลูกค้าดีแทคจะได้ใช้งานเครือข่ายที่ดีขึ้น พื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้น และคุณภาพบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน
ส่อง14มาตรการหากไฟเขียว
สำหรับ 14 มาตรการที่สำนักงานที่ กสทช.ได้กำหนดขึ้นมาประกอบด้วย 1.การถือครองคลื่นความถี่ 2. การคงทางเลือกของผู้บริโภค 3. การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (MVNO) 4. การกำหนดอัตราค่าบริการ 5. คุณภาพในการให้บริการ(QoS) 6.สัญญาการให้บริการ 7.ความครอบคลุมโครงข่าย 8.การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (อินฟราฯแชร์ริง) 9.การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการภายหลังการรวมธุรกิจ
10.การติดตามผลการดำเนินการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการควบรวม 11.ส่งเสริมการแข่งขันและเพิ่ม Moblie Network Operator (MNO) 12.การป้องกันการครอบงำกิจการเพื่อลดโอกาสที่จะทำให้ True หรือ dtac ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งควบคุม NewCo ได้เพียงฝ่ายเดียว 13.การลงทุนเพื่อพัฒนาบริการใหม่และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ และ 14.การรับเรื่องและกลไกการแก้ไขปัญหาแก้ผู้ใช้บริการ