รีวิว "Samsung Galaxy Z Fold4" อะไรชอบอะไรชัง หลังใช้งานจริงจัง
ชอบก็ให้รู้ว่าชอบ รีวิวจากประสบการณ์ผู้ใช้จริง หลังลองให้ "Samsung Galaxy Z Fold4" เป็นเครื่องหลักตลอดสองเดือน
พัฒนามาจนถึงรุ่นที่ 4 แล้ว ตั้งแต่การเป็น สมาร์ทโฟน ที่แปลกตา สู่การพัฒนาเป็นสมาร์ทโฟนที่หลายคนหมายปอง วันนี้ Samsung Galaxy Z Fold4 เดินทางมาสู่จุดที่ต้องบอกว่านอกจากความหรูหราแล้ว ยังเป็นสมาร์ทโฟนเรือธงที่ใช้งานได้อย่างน่าประทับใจ
KT Review กรุงเทพธุรกิจไอที ได้ลองใช้ Galaxy Z Fold4 เครื่องนี้เป็นเครื่องหลักตลอดสองเดือนที่ผ่านมา เพื่อให้รู้จัก สมาร์ทโฟนจอพับ เครื่องนี้อย่างลึกซึ้ง เพื่อมาบอกว่าอะไรที่ชอบ อะไรที่ชัง และใครควรลงทุนกับสมาร์ทโฟนสุดเท่เครื่องนี้
จับถนัดมือ
ขนาดที่บางลง 0.1 มิลลิเมตร เมื่อพับแล้วจะบางลง 0.2 มิลลิเมตร เหมือนจะเป็นตัวเลขที่น้อยนิด แต่ความรู้สึกเมื่อสัมผัสกลับมหาศาล เพราะทำให้ความรู้สึกเมื่อจับถือถนัดมือมากขึ้น ยิ่ง "Galaxy Z Fold4" ถูกรีดน้ำหนักลงเหลือแค่ประมาณ 263 กรัม ยิ่งทำให้ไม่รู้สึกว่ามือถือเครื่องนี้เป็นภาระข้อมือแต่อย่างใด
สำหรับคนที่มือใหญ่หน่อย จะรู้สึกได้เลยว่าเมื่อพับจอจะถนัดมือมากๆ มิติตัวเครื่องทรงยาวทำให้จับได้เต็มไม้เต็มมือ เมื่อกางจอออกก็ยังไม่กว้างเกินไป ยังถือได้ด้วยมือเดียว แต่การพิมพ์หรือเลื่อนหน้าจอต่างๆ ยังต้องใช้สองมือจึงจะถนัดกว่า
ส่วนคนมือเล็ก ขนาดของเครื่องโดยเฉพาะเมื่อกางจอออกอาจรู้สึกว่าใหญ่เกินความเป็นสมาร์ทโฟน แต่ถ้ามองว่าเป็นมินิแท็บเล็ต ก็ยังถือว่าเป็นขนาดที่กำลังดี
หน้าจอทั้งนอกและในใช้งานได้จริง
ใครๆ ก็มองว่าสมาร์ทโฟน Samsung จอโกง คือสีสันสดใส คมชัด เกินหน้าเกินตาแบรนด์อื่น ซึ่งใน "Galaxy Z Fold4" ต้องว่ากันถึงสองจอ จอนอกเป็นเทคโนโลยีจอ Dynamic AMOLED 2X ขนาด 6.2 นิ้ว มีขนาดใหญ่กว่า Galaxy Z Fold3 ทำให้แม้ไม่กางจอก็ใช้จอนอกนี้เป็นจอหลักได้สบายๆ ซึ่งเท่าที่ใช้งานบางวันแทบไม่ได้กางจอออกเลย
แต่สำหรับคนนิ้วอ้วนอาจมีปัญหากับการพิมพ์บนคีย์บอร์ดบนจอนอกอยู่เล็กน้อย เพราะแป้นพิมพ์จะเล็กกว่าปกติ
ส่วนจอด้านใน ถึงจะเป็นจอแบบพับ แต่ก็เป็นเทคโนโลยีเดียวกันคือ Dynamic AMOLED 2X ขนาด 7.6 นิ้ว อัตรารีเฟรชเรทของทั้งจอนอกและจอในอยู่ที่ 120 Hz ลื่นไหลสบายตามากๆ
กางจอแล้วกลายร่างเป็นมินิแท็บเล็ต
วัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาสมาร์ทโฟนจอพับ โดยเฉพาะพับด้านข้างแบบเปิดหนังสือ คือการทำให้นอกจากใช้งานจอด้านหน้าที่มีขนาด (เกือบ) ปกติแล้ว หน้าจอด้านในที่มีขนาดใหญ่ขึ้นคือพื้นที่ใช้งานที่มากกว่า และ "Samsung Galaxy Z Fold4" ก็ตอบโจทย์นี้ค่อนข้างดีมาก เนื่องจากเมื่อกางจอออกมาแล้ว นี่ก็คือมินิแท็บเล็ตดีๆ เครื่องหนึ่ง ที่สเปคแรงระดับสมาร์ทโฟนเรือธง รองรับการใช้งานได้หมดทั้งการทำงานหรือเพื่อความบันเทิง
นอกจากการใช้งานแบบเต็มจอ ขนาดหน้าจอเท่านี้ยังแบ่งออกเป็นจอย่อยๆ ได้อีกมากถึง 3 จอ ไม่รวมการเปิดแบบจอลอยรวมๆ (Pop-Up) ได้อีกหลายจอ
สำหรับการแบ่งจอช่วยให้การทำงานแบบ Multi Tasking สะดวกมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสองแอปเพื่อดูเปรียบเทียบข้อมูล หรือเพื่อการทำงานไปพร้อมกันก็ไม่มีสะดุด แถมยังได้ขนาดหน้าจอเดียวกับจอด้านหน้าแต่แบ่งออกเป็นสองข้างซ้ายขวา
หรือแม้แต่การจะเปิดสองแอปบวกกับการเปิดดูหนังดูซีรีส์ไปด้วย ก็จะได้จอแนวนอนด้านบน กับอีกสองจอด้านล่างซ้ายขวาที่ทำให้ทำทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน
นอกจากการแบ่งจอได้หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์การทำงาน Multi Tasking ใน Galaxy Z Fold4 ได้ออกแบบมาให้มี Task Bar อยู่ด้านล่าง หน้าตาคล้ายกับวินโดว์ให้เลือกใช้งานแต่ละแอปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องออกจากแอปเพื่อไปเปิดแอปใหม่
Flex Mode พับจอค้างเพื่อการใช้งานอเนกประสงค์
ความสามารถของเทคโนโลยีการกางจอ-พับจอใน "Galaxy Z Fold4" นี้นับว่าทำได้ดีพอสมควร ทว่าก็มีทั้งข้อดีและข้อที่น่าจะพัฒนาได้อีก ซึ่งข้อดีที่ใช้แล้วชอบคือการที่กางจอค้างได้แบบ Flex Mode คือค้างได้คล้ายกับแล็ปท็อปโดยไม่ดีดกลับ ในขณะที่บางแบรนด์จอจะดีดเปิดและดีดปิด
ทำไมการกางจอค้างไว้ได้จึงมีประโยชน์ ก็เพราะว่าสมาร์ทโฟนจอพับรุ่นนี้รองรับการใช้งานคล้ายแล็ปท็อปได้จริงๆ คือ เมื่อกางค้างไว้ จะแบ่งครึ่งจออัตโนมัติ ส่วนจอล่างจะเป็นแป้นพิมพ์ วางแล้วพิมพ์ได้ แต่โดยส่วนตัวยังรู้สึกว่าไม่ถนัดนัก
ทว่าการพับจอครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้ ยังนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้ด้วย เช่น กางเพื่อตั้งโทรศัพท์สำหรับถ่ายภาพหรือวิดีโอ โดยไม่ต้องมีขาตั้งหรือคนช่วยถือ หรือถ้ากางจอค้างในโหมดกล้อง เมื่อถ่ายภาพหรือวิดีโออีกจอจะแสดงผลภาพที่เพิ่งถ่ายในขนาดที่มองเห็นรายละเอียดชัดเจนว่าภาพที่ได้เป็นอย่างไร
กล้องหลังดี กล้องหน้าก็โดน
เรื่องกล้องเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสมาร์ทโฟนยุคนี้ และ "Galaxy Z Fold4" ก็ทำได้ดีมาก เพราะพัฒนาแบบก้าวกระโดด คือกล้องหลักเพิ่มความละเอียดจากเดิม 12 ล้านพิกเซล เป็น 50 ล้านพิกเซล f/1.8 เมื่อเทียบกับอีกรุ่นเรือธงของค่ายอย่าง Galaxy S22 Ultra ที่โดดเด่นเรื่องกล้อง ตั้งแต่อินเทอร์เฟซ เมนูต่างๆ เหมือนกันชนิดถอดแบบกันมา มุมมองในกล้องก็เท่ากันที่ระยะเลนส์ปกติ สีสันที่ได้ถือว่าใกล้เคียงกันมาก คือสดใส สีอิ่ม ภาพมีความคมชัดทั้งที่ตามสเป็กความละเอียดของ Galaxy Z Fold4 น้อยกว่า Galaxy S22 Ultra ถึงเท่าตัว และมีสีค่อนข้างเป็นธรรมชาติ และยังจัดการโทนสีฟ้าและสีเขียวของภาพแลนด์สเคปได้ดีมาก
แม้ระยะซูม 3 เท่าของสมาร์ทโฟนจอพับรุ่นนี้จะไม่ไกลมาก แต่ก็มากพอที่จะให้มุมมองที่ดี ที่สำคัญคุณภาพของภาพเมื่อซูมสุดนี้ทรงประสิทธิภาพมากๆ ทั้งคมชัด เก็บรายละเอียดครบถ้วน
และถ้ายังซูมไม่สะใจ ในสมาร์ทโฟนพับได้รุ่นนี้มีดิจิทัลซูมมากถึง 30 เท่า พอใช้งานได้ยามจำเป็นที่จะต้องถ่ายภาพระยะไกลมากๆ แต่คุณภาพของภาพก็จะด้อยลงตามสไตล์ของดิจิทัลซูมด้วย
ส่วนกล้องหน้าที่มีทั้งจอนอกจอใน ก็น่าสนใจ โดยที่กล้องหน้าของจอนอก เจาะรูมาตามสไตล์ Samsung ซึ่งคุณภาพของกล้องหน้าไม่ว่าจะจอนอกอยู่ในเกณฑ์ดี ความละเอียดกล้องของจอนอก 10 ล้านพิกเซล และมีออโต้โฟกัส
ส่วนกล้องหน้าของจอใน มีความน่าสนใจตรงที่เป็น Under Display Camera 2.0 พัฒนากว่ารุ่นก่อนมาก คือซ่อนได้แนบเนียนจนแทบจะมองไม่เห็นหากไม่สังเกต แต่เรื่องคุณภาพของกล้องอาจยังไม่ได้เน้นนัก เพราะมีความละเอียดที่ 4 ล้านพิกเซล และไม่มีออโต้โฟกัส
ถึงความละเอียดของกล้องหน้าตัวนี้จะไม่ละเอียดมากนัก แต่เมื่อใช้งานจริง พบว่าถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งาน Video Call หรือ Video Conference ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความละเอียดมากมาย แต่กางจอ Flex Mode แล้วใช้งานได้สะดวกมาก
เป็นจอพับที่กันน้ำ
ส่วนมาก สมาร์ทโฟนที่มีข้อต่อมีช่องว่างต่างๆบนตัวเครื่อง จะสุ่มเสี่ยงเรื่องน้ำเข้าอยู่แล้ว แต่กับ Galaxy Z Fold4 กลับมีคุณสมบัติกันน้ำมาตรฐาน IPX8 ตามสเปคคือลงน้ำลึกได้ไม่เกิน 1.5 เมตร ไม่เกิน 30 นาที ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป ที่ไม่ใช่ว่าจะเอาไปดำน้ำหรือตั้งใจแช่น้ำ เพราะส่วนมากแล้วน้ำที่มักจะโดนสมาร์ทโฟนก็หนีไม่พ้นฝนตก หรือละอองน้ำจากสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น เวลาอาบน้ำแล้วน้ำกระเด็นใส่ หรือการพกไปออกกำลังกายแล้วเปียกเหงื่อ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาผ่านการทดลองใช้มาแล้ว ยืนยันได้ว่าผ่านฉลุย
สุดหรู ลุคผู้บริหาร
ข้อนี้ไม่พูดไม่ได้จริงๆ เพราะนี่คือสิ่งที่ Samsung วางคาแรกเตอร์ให้ Galaxy Z Fold4 มาตั้งแต่แรกแล้ว ว่าเหมาะกับผู้ใช้ที่มีระดับ หรือในกลุ่มผู้บริหาร (กลุ่มอื่นๆ ก็ใช้ได้) ซึ่งนี่จะไม่ใช่แค่สมาร์ทโฟนเครื่องหนึ่ง แต่เป็นเครื่องประดับของผู้บริหารท่านหนึ่งในโดยปริยาย
ลองนึกภาพตามแค่จับถือหรือกางจอออกมาทำงาน แค่นี้ลุคของคุณก็เป็นผู้บริหารแล้ว แต่เหนืออื่นใด การใช้งานที่ครบครันและอเนกประสงค์ต่างหากที่ตอบโจทย์ผู้บริหาร เพราะจะกี่งานก็จัดการได้หมดในเครื่องเดียว
ข้อสังเกต จะว่าชังก็ไม่ใช่ แต่ยังไปได้อีก
สำหรับข้อสังเกตที่ทำให้ "Galaxy Z Fold4" ยังไม่ใช่สมาร์ทโฟนจอพับที่เพอร์เฟกต์ที่สุด มีอยู่เล็กน้อย แต่เป็นความเล็กน้อยที่มีผลต่อการใช้งานและความรู้สึกพอสมควรทีเดียว
ประการแรก กางจอมาพับจอแล้วใช้งานไม่ต่อเนื่อง นี่คือจุดอ่อนที่น่าจะแก้ไขได้ไม่ยาก แต่เบื้องต้น Samsung ยังเลือกที่จะให้การใช้งานแบบกางจอแล้วเมื่อพับจอ หน้าจอที่เปิดไว้ไม่ได้มาปรากฏที่จอนอก แต่ในทางกลับกันเมื่อเปิดจอนอกแล้วกางจอ กลับต่อเนื่องไปยังจอใน
ในขณะที่บางแบรนด์ที่พัฒนาสมาร์ทโฟนจอพับเช่นกัน กลับมีความต่อเนื่องนี้มากกว่า หรือทาง Samsung อาจมองว่าเป็นเรื่องความส่วนตัวเมื่อพับจอแล้วก็ควรจะปิดทุกอย่างลงก็อาจจะเป็นไปได้
เรื่องต่อมาคือรอยพับที่ยังเห็นชัดมาก แม้จะเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว และทาง Samsung ระบุว่าได้พัฒนาหน้าจอที่ผลิตจาก Ultra Thin Glass 2.0 นี้แข็งแรงและเรียบกว่าเดิมมากขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าเรียบขึ้นจริง แต่ยังถือว่าเห็นได้ชัดมากอยู่ดี
มาถึงข้อสุดท้ายที่คาใจมาตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงบัดนี้ คือเทคโนโลยีการพับของ Samsung ยังเลือกที่จะให้เมื่อพับจอแล้ว ตรงบริเวณฝั่งบานพับมีช่องว่างระหว่างสองจอ ไม่ปิดแบบแนบสนิท ในขณะที่บางแบรนด์พับจอได้แนบสนิทแล้วตั้งแต่หลายปีก่อน
ซึ่งข้อเสียของการที่จอไม่แนบกันนี้ ที่เห็นชัดเลยคือฝุ่นเข้าได้ง่ายมาก บางครั้งไม่ได้กางจอเลย แต่พอกางออกมากลับเจอฝุ่นติดหน้าจอเพียบ และอีกอย่างคือถ้าหากจอพับได้แนบสนิท มิติของเครื่องเมื่อพับจะยิ่งบางลงและสมมาตรกว่าเดิม
ถึงแม้ตอนนี้ "Samsung Galaxy Z Fold4" จะวางจำหน่ายมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ถ้ากวาดสายตาไปในตลาดของสมาร์ทโฟนจอพับ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ให้มา ก็ต้องบอกว่าเป็นอีกสมาร์ทโฟนเรือธงที่น่าสนใจ ทั้งคาแรกเตอร์ ดีไซน์ คุณสมบัติ ทุกอย่างนับว่าลงตัวมาก ส่วนเรื่องราคาที่เริ่มต้นในความจุ 256 GB ที่ 59,900 บาท ไปจนถึง 75,900 บาท ในความจุ 1 TB ก็ต้องบอกว่านอกจากสมาร์ทโฟนรุ่นนี้จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีการผลิตสมาร์ทโฟนที่พัฒนามาถึงรุ่น 4 ซึ่งถือเป็นการใช้งานได้จริงๆ แล้ว กับคนที่อยากได้ความหรูหราแต่ใช้ประสิทธิภาพได้เต็มที่ด้วย ที่สำคัญคงต้องมีเงินด้วย