ลุ้นเคาะเพดาน‘ค่าโทร’ใหม่-เทเลนอร์ส่งสัญญาณ‘ถอย’
'ทรู-ดีแทค" เริ่มกระบวนการควบรวมได้แล้ว ระบุหากไม่พอใจเงื่อนไขมีสิทธิอุทธรณ์ ชี้เป็นไม้เด็ดจาก ‘บอร์ด’ ที่ไม่เอาควบรวมต้องการดัดหลังให้โชว์ต้นทุนนำไปสู่กำหนดเพดานราคาใหม่ ด้าน 'เทเลนอร์' ส่งสัญญาณถอยโบรกฯคาดทรูดีแทคนำหุ้นบริษัทใหม่เทรดปลายม.ค.66
ดีลแสนล้านควบรวม ทรูดีแทค ยังมีประเด็นให้ติดตามต่อเนื่องหลังจาก กสทช.มีมติเสียงข้างมาก “รับทราบ” การรวมธุรกิจ กระบวนการต่อจากนี้ มีความน่าสนใจทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการนำมาตการที่ กสทช.ระบุเป็นเงื่อนไขการควบรวมคือ การกดค่าบริการลง 12% ซึ่งจะสะเทือนเพดานค่าโทรทั้งระบบ และเอกชนก็ต้องดำเนินการตามมติอย่างเคร่งครัด
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วานนี้ (25 ต.ค.) สำนักงาน กสทช.ได้สรุปผลมติที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ตามที่มีมติมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค อย่างเป็นทางการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ทำหนังสือแจ้งออกไปยังเอกชนทั้งสองราย โดยขั้นตอนต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของเอกชนที่จะต้องดำเนินงานตามมติที่ออกอย่างเคร่งครัด และรายงานกลับมายังสำนักงาน กสทช.
ทั้งนี้ หากเอกชนทั้งสองรายพิจารณาในมติและการกำกับมาตรการเงื่อนไขที่ระบุไว้แล้วนั้น แต่เมื่อนำเข้าที่ประชุมคณะผู้บริหารแล้วเห็นว่า ยังไม่พอใจกับมติที่ออกไป ก็สามารถทำเรื่องอุทธรณ์มติได้ภายใน 30 วัน แต่หากเอกชนจะอุทธรณ์ก็ต้องยอมรับผลที่ตามว่าจะยิ่งทำให้การดำเนินการควบรวมล่าช้าออกไป
ส่วนกรณีที่ผลของมติบอร์ดกสทช.ที่ออกมานั้นถูกกระแสสังคมโจมตีการทำหน้าที่ นายไตรรัตน์ กล่าวว่า น้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น แต่ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า บอร์ดต้องพิจารณาการดำเนินงานดังกล่าวภายใต้ข้อกฎหมายที่ระบุไว้ และขอให้มั่นใจว่าบอร์ดทั้ง 5 ท่านได้รับข้อมูลที่ต้องการตามที่ได้สั่งให้สำนักงานกสทช.ไปรวบรวมมาอย่างครบถ้วน ดังนั้นการพิจารณาที่เกิดขึ้นโดยประชุมอย่างยาวนาน 11 ชั่วโมง จึงถือได้ว่าบอร์ดได้ให้การวิเคราะห์ออกอย่างถี่ถ้วนแล้ว
“สำนักงานฯ เอง ซึ่งผมรับหน้าที่เป็นแม่งานรวบรวมข้อมูลทุกอย่างยืนยันว่าเราทำเต็มที่แล้ว และบอร์ดทั้ง 5 คนก็ใช้ดุลยพินิจประกอบกับข้อกฎหมายที่มีก็ตัดสินลงมติกันออกมาแล้ว คนที่วิจารณ์ก็มีสิทธิจะทำได้ ซึ่งแต่บางครั้งเขาอาจจะไม่มีข้อมูลมากเพียงพอ ก็มองแค่ด้านเดียว”
แหล่งข่าวจากบอร์ด กสทช. กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องจับตาดูต่อจากนี้ คือ การส่งรายงานความคืบหน้าการควบรวมและการรายงานต้นทุนอัตราการให้บริการมายังบอร์ดให้รับทราบ ซึ่งแม้มติจะออกไปว่ามีหน้าที่รับทราบการควบรวมแต่กำหนดข้อกังวล (Point of concern) จำนวน 5 ข้อ และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการโดยเฉพาะข้อ 1 เรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เรื่องปรับอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12% โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย (WEIGHTED AVERAGE) ภายใน 90 วันหลังจากมีการควบรวม) ถือเป็นมาตรการไม้เด็ดที่เพิ่งมีการเสนอเข้ามาในที่ประชุมและเอกชนไม่รู้มาก่อน ซึ่งให้ทำมั่นใจว่าทรูและดีแทคจะส่งหนังสือมาอุทธรณ์ในหัวข้อนี้
“การให้เอกชนลดราคาลง 12% เป็นการคิดจากอัตราส่วนเกินของโปรโมชั่นซึ่งเอกชน อ้างเสมอว่า ค่าโทรในไทยนี้ถูกมากแล้ว แต่ในเมื่อคุณรวมธุรกิจกันแล้วค่าใช้จ่ายก็ลดลง ดังนั้น คุณก็ต้องลดค่าแพคเก็จลงมา ซึ่งการทำแบบนี้เราจะได้เห็นต้นทุนที่แท้ของเอกชนว่าอยู่ที่เท่าไร ซึ่งจะเป็นสเต็ปแรกในการแก้ไขประกาศฯเรื่องการกำหนดอัตราขั้นสูงใหม่ให้ลดลงจากที่เป็นอยู่ไปในตัว ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.69 บาทต่อนาทีจากบริการเสียงและ 0.15 บาทต่อนาทีจากบริการดาต้า”
จี้ทบทวนมติเพราะผิดกม.
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และอดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ส่งหนังสือด่วนถึง กสทช. ว่ามติดังกล่าวอาจเป็นมติที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากผิดระเบียบข้อบังคับการประชุมของ กสทช. และมติดังกล่าวขัดกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ประกอบถ้อยคำให้การที่ กสทช. ให้ไว้ในการพิจารณาคดีที่ศาลปกครองว่า กสทช. เป็น “ผู้มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาต” พิจารณาการควบรวมบริษัท หาก กสทช. ไม่รับฟังการทักท้วงครั้งนี้และจะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งมติไปยังบริษัทเอกชนทั้งสอง อาจถือว่าเป็นเจตนาจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย
“มติดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการกล่าวอ้างว่าถึงคะแนนเสียง 2:2:1 ว่าเป็นคะแนนเสียงที่เท่ากันแล้วให้ประธานออกเสียงชี้ขาดเพิ่มอีกหนึ่งเสียงนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบประโยชน์สาธารณะจึงต้องใช้มติพิเศษที่ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากทั้งหมด ถึงจะมีความชอบธรรม” สุภิญญากล่าว
ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ ระบุอีกว่า การยื่นหนังสือต่อ กสทช. ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อขอให้ชะลอการส่งหนังสือแจ้งมติและทบทวนมมติให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน เนื่องจาก การประชุมที่มีมติ 2:2:1 แล้วประธานมีการออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเพื่อตัดสินชี้ขาดนั้น อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 41 แห่งระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555
เพราะกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน และไม่ใช่กรณีได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนทั้งหมด เนื่องจากกรรมการที่ลงคะแนนเสียงมีทั้งหมด 5 คน และมีการลงมติเห็นชอบจำนวน 2 เสียง ลงมติไม่เห็นชอบจำนวน 2 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง ประธานจึงไม่มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงเป็นเสียงชี้ขาดตามข้อ 41 วรรคท้ายได้
เทเลนอร์ฯส่งสัญญาณ “ถอย”
ด้านความเคลื่อนไหวของ เทเลนอร์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของดีแทค เริ่มส่งสัญญาณถอยจากการบริหารเป็นเพียงแค่นักลงทุน โดยนายเยอเก้น โรสทริป, EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า กลุ่มเทเลนอร์ ที่ให้บริการลูกค้า 175 ล้านรายในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและภูมิภาคเอเชีย ได้ตั้ง “เทเลนอร์เอเชีย” ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจที่มีอิสระในการบริหารงานในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น และมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ จะมีอำนาจเต็มดูแลและรับผิดชอบการดำเนินงานของธุรกิจในไทย บังกลาเทศ มาเลเซีย และปากีสถาน
ทั้งนี้ ตลาดในแต่ละประเทศจะมีทีมงานบริหารการลงทุน (Investment Management teams) เข้าไปดูแล ทีมเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสินทรัพย์ และเป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ของเทเลนอร์ในฐานะกรรมการของแต่ละประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2564 เทเลนอร์ เอเชีย ได้ลงนามในข้อตกลงควบรวมกิจการในประเทศมาเลเซียและไทย การควบรวมกิจการนี้ใหญ่ที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อการควบรวมกิจการของทั้งสองแห่งเสร็จสิ้น การดำเนินธุรกิจของเทเลนอร์เอเชียจะประกอบด้วยบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำที่มีขนาดใหญ่ในตลาดเอเชียถึงสามแห่ง
ดังนั้น เพื่อดำเนินงานบรรลุเป้าหมายกระแสเงินสด (cash flow) 1.2 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 เทเลนอร์เอเชียจะให้ความสำคัญต่อการทำงานผนึกกำลังจากการควบรวมกิจการทั้งสองแห่งนี้ และสร้างโอกาสสูงสุดใน 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. เพิ่มการใช้งานมือถือและการใช้ดาต้าในบังกลาเทศและปากีสถาน โดยมีผู้ใช้งานมากกว่า 150 ล้านรายในสองประเทศนี้ที่ยังไม่มีอุปกรณ์มือถือ และ 50% ของฐานลูกค้าปัจจุบันสมัครใช้บริการเสียงเท่านั้น
2. ขยายตลาดกลุ่มผู้ประกอบการ B2B (Business to Business) ส่วนแบ่งรายได้ในปัจจุบันของเทเลนอร์เอเชียจากส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 5% โดยมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยในช่วงเกิดโรคระบาดที่ผ่านมาภาพรวมของตลาดโทรคมนาคมในส่วนนี้ลดลง แต่รายได้ B2B ของเทเลนอร์เอเชียเพิ่มขึ้นประมาณ 10%
3. มุ่งสู่การเป็นมากกว่าเป็นผู้ให้บริการเชื่อมต่อมือถือ โดยจะเพิ่มบริการสำหรับลูกค้าในด้านต่างๆ มากขึ้น เช่น ประกันภัย ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และบริการเกมต่างๆ
เปลี่ยนจาก“บริหาร” สู่ “นักลงทุน”
แหล่งข่าวจากเทเลนอร์ กล่าวว่า การที่ เทเลนอร์ บริษัทแม่ส่งสัญญาณแบบนี้ เพราะต้องการให้สิทธิเทเลนอร์ เอเชียในการบริหารงานเต็มที่ในภูมิภาคและเป็นการลดอำนาจของโอเปอเรเตอร์ในแต่ละประเทศเพื่อไปรวมศูนย์ที่เทเลนอร์ เอเชียที่สิงคโปร์ ซึ่งแต่เดิมเทเลนอร์ เอเชียมีออฟฟิศอยู่ที่ประเทศไทย สำนักงานอยู่ที่ตึกย่านอโศก
แต่เมื่อการควบรวมธุรกิจของดีแทคกับทรูเริ่มลุล่วงแล้ว การปรับกลยุทธ์การทำงานของเทเลนอร์ฯก็เปลี่ยนไป จากเดิมวางยุทธศาสตร์ Operation Strategy เปลี่ยนเป็น Investment Strategy เต็มตัว คือไม่นั่งในตำแหน่งบริหารแล้วแต่จะเป็นนักลงทุนเพื่อเอาเงินปันผลเท่านั้น
คาดบริษัทใหม่เข้าเทรดเร็วสุดม.ค.66
นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป ทรู และดีแทคจะจัดทำคำเสนอซื้อหุ้น (เทนเดอร์) จากผู้ถือหุ้นเดิมของทรู และดีแทค(ราคาเสนอซื้อที่ 5.09 บาท และ 47.76 บาท ตามลำดับ) และจัดประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งทรู และดีแทค เพื่อให้อนุมัติเกี่ยวกับบริษัทใหม่ที่จะเกิดจากการควบรวม จึงจะดำเนินการตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งคาดว่าหุ้นบริษัทใหม่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้เร็วสุดช่วงปลายเดือนม.ค. 2566
ประเด็นสำคัญ คือ การที่จะต้องลดราคาค่าบริการเฉลี่ย 12% และ การห้ามลด Cell site ซึ่งเรื่องค่าบริการที่จะลดลง มองว่าน่าจะชดเชยได้ด้วยการประหยัดต่อขนาด (Economy of scales) ที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวม ขณะที่เรื่อง Cell site ก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางที่จะลดต้นทุนได้