อีสปอร์ตไทยถูกใจสิ่งนี้! “eArena MQDC BOOTCAMP” ไทยมีบูธแคมป์ระดับโลกแล้ว
สะเทือนวงการ “อีสปอร์ตไทย” กับการเปิดตัว "eArena MQDC BOOTCAMP" อีสปอร์ตบูธแคมป์มาตรฐานโลกแห่งแรกของอาเซียน
เพื่อให้วงการ อีสปอร์ตไทย ไปไกลกว่าเดิม ระบบนิเวศของอีสปอร์ตจำเป็นต้องครบและมีคุณภาพ นี่จึงเป็นที่มาของการเปิด eArena MQDC BOOTCAMP ศูนย์พัฒนานักกีฬาอีสปอร์ตอาชีพที่ได้มาตรฐานระดับโลก เพื่อสร้าง นักกีฬาอีสปอร์ต ที่มีผลงานโดดเด่น ทั้งในการแข่งขันระดับประเทศและระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์บ่มเพาะนักกีฬาอีสปอร์ตรุ่นใหม่ภายใต้ eArena Esports Academy ที่พร้อมจะเสริมสร้างระบบนิเวศของวงการอีสปอร์ตไทยให้ก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้นำ ที่มีการผลิตนักกีฬาอีสปอร์ตระดับอาชีพอย่างมีศักยภาพทัดเทียมกับระดับนานาชาติ สามารถสร้างผลงานและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ในอนาคตอีกด้วย
บูทแคมป์แห่งนี้เกิดขึ้นจากจับมือกันระหว่างบริษัท อินโฟเฟด จำกัด (Infofed) สตาร์ทอัพธุรกิจอีสปอร์ต ผู้ก่อตั้ง Thailand E-SPORTS Arena สนามกีฬาอีสปอร์ตแห่งแรกในประเทศไทย ทรานส์ลูเซีย ผู้ก่อตั้งและพัฒนาศูนย์รวมเมตาเวิร์สระดับโลก ในเครือ ที แอนด์ บี มีเดีย โกลบอล ประเทศไทย จำกัด และ MQDC บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
นอกจากจะเป็นการยกระดับระบบนิเวศแล้วยังเพิ่มมูลค่าอีสปอร์ตไทยด้วย เพราะนี่คือเวิลด์คลาสสแตนดาร์ด อีสปอร์ตบูธแคมป์ครบวงจรแห่งแรกของอาเซียน ที่มีทั้ง Facility และ Activities ที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพและมีศักยภาพจนยืนหนึ่งบนเวทีนานาชาติ
ที่สำคัญยังพร้อมเสริมแกร่งให้วงการอีสปอร์ต ด้วยการรับพันธมิตรเข้าร่วมเติมเต็มระบบนิเวศอีสปอร์ตไทยตั้งเป้ารวบรวมกลุ่มผู้ใช้งานผ่านกลุ่มคอมมูนิตี้ต่างๆ ให้มีจำนวนมากกว่า 1,000,000 คน ภายในปี 2566 นี้
จิรยศ เทพพิพิธ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโฟเฟด จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตในปัจจุบันที่กำลังพุ่งแรง โดยเริ่มเป็นที่นิยมและเติบโตต่อเนื่องมาจากกลุ่ม Gen Z ที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 ถือเป็นอีกตัวเร่งการเติบโตของวงการธุรกิจอีสปอร์ต อ้างอิงตัวเลขจาก Gaming Research โดย Newzoo คาดการณ์กลุ่มผู้ชมอีสปอร์ตในประเทศไทยจะสูงถึง 5,100,000 คนภายในปี 2565 และจะเติบโตขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ในทุกปี ถือเป็นเปอร์เซ็นต์การเติบโตที่สูงเป็นอย่างมาก แต่ด้วยการเติบโตที่รวดเร็วนั้นส่งผลให้การเติบโตที่เกิดขึ้นของอุตสาหกรรมไร้ทิศทาง ไม่มีแบบแผนในการดำเนินงานและการส่งเสริมที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องของการเรียนการสอนหรือการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง (Academy) อีกทั้งยังรวมไปถึงในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกหรือ Facility ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอีสปอร์ตโดยเฉพาะ
“จากปัญหาหรือเพนพ้อยท์ที่มองเห็น จึงได้พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกหรือ Facility ที่ได้มาตรฐาน โดยใช้ชื่อว่า eArena MQDC BOOTCAMP ถือเป็น Esports BOOTCAMP แห่งแรกของอาเซียนที่ได้มาตรฐาน ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการฝึกฝนและพัฒนานักกีฬาอีสปอร์ต โดยได้ร่วมมือกับทาง MQDC ในการร่วมออกแบบและพัฒนา eArena MQDC BOOTCAMP แห่งนี้ขึ้น นอกเหนือไปจากสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียบพร้อมแล้วนั้น เรายังได้มีการพัฒนาในส่วนของหลักสูตรหรือ Academy สำหรับนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพและบุคคลที่สนใจ โดยได้มีการส่งเสริมทั้งในส่วนของภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนา Tactic หรือชั้นเชิงในการเล่น การดูแลในเรื่องของสารอาหารซึ่งเป็นส่วนสำคัญของนักกีฬาทุกประเภทรวมไปถึงนักกีฬาอีสปอร์ตด้วยเช่นกัน และยังรวมไปถึงปัจจัยด้านกายภาพและจิตวิทยาอีกด้วย eArena MQDC BOOTCAMP ยังได้มีการออกแบบมาเพื่อให้ถูกใช้งานในส่วนของการสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเกมและอีสปอร์ต อย่างในปัจจุบันรายการ The Streamers ซึ่งเป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับสตรีมเมอร์ก็ได้ใช้พื้นที่ eArena MQDC BOOTCAMP ในการถ่ายทำรายการ” จิรยศกล่าว
ด้าน อัษฎา แก้วเขียว ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ MQDC บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า สถานที่แห่งนี้ เคยเป็นสถานที่ที่สร้างความฝันและความสำเร็จให้กับเหล่าผู้สมัคร ทรู อคาเดมี แฟนเทเชีย เรียลลิตี้โชว์รายการแรกที่โด่งดังที่สุดในไทย และได้ถูกพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็น “eArena MQDC BOOTCAMP” ซึ่งจะเป็นสถานที่สร้างความฝันและความสำเร็จ เพื่อสร้างดาวดวงใหม่ของวงการกีฬาอีสปอร์ต นำไปสู่การสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับโลก
ด้วยสถานที่ทันสมัย ในระดับเวิลด์คลาสสแตนดาร์ดที่ครบที่สุดในภูมิภาคอาเซียนนี้ โดยคำนึงไปถึงสิ่งรอบตัว สังคม สิ่งแวดล้อม ประเทศ และโลก ให้ทุกสิ่งมีชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน ตามพันธกิจ “for All Well-Being” ทุกสรรพสิ่งมีชีวิตต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และอยู่อย่างมีสุขภาวะที่ดี นับเป็นความท้าทายในการผลักดันวงการอีสปอร์ต สู่การสร้างจักรวาล “ทรานส์ลูเซีย เมตาเวิร์ส” ที่ MQDC เล็งเห็นความสำคัญของทิศทางการสร้างคอมมูนิตี้ในโลกเสมือนให้จับต้องได้
และจะเชื่อมโยงเข้าสู่ ไลฟ์สไตล์ และคอมมูนิตี้ของคนรุ่นใหม่ ทั้งเกมเมอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ตลอดจนผู้ชม และผู้ใช้งานทุกคน โดย eArena MQDC BOOTCAMP จะสร้างอีโค่ซิสเต็มให้ครบตั้งแต่รากฐานจนถึงการแข่งขันระดับโลก สู่การเชื่อมโยงระหว่างโลกปัจจุบัน และ เมตาเวิร์ส เข้าด้วยกัน ทั้งยังช่วยสร้างแบรนด์และกลุ่มลูกค้า Gen Z อีกด้วย ซึ่งจะเป็นกำลังซื้อสำคัญของประเทศในอนาคต
อธิศ นันทวรุณ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท TRANSLUCIA (ทรานส์ลูเซีย) ผู้ก่อตั้งและพัฒนาศูนย์รวมเมตาเวิร์สระดับโลก ในเครือ ที แอนด์ บี มีเดีย โกลบอล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ทรานส์ลูเซียได้เล็งเห็นธุรกิจอีสปอร์ต จะเป็นธุรกิจที่สามารถขยายและเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ เมตาเวิร์ส จะมีส่วนช่วยในการยกระดับธุรกิจอีสปอร์ต ทั้งในมุมของรูปแบบการแข่งขัน การพัฒนานักกีฬา และการชมการแข่งขันของผู้ชมได้อย่างสมจริง การจับมือเป็นพันธมิตรกันในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดศักยภาพทางธุรกิจ โดยมุ่งเป้าหมายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอีสปอร์ตไทย ให้มีบทบาทในระดับ Global และพัฒนาประเทศไทยให้เป็นอีสปอร์ตฮับ ที่จะสร้างคอมมูนิตี้ไปสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งพัฒนาและยกระดับประสบการณ์ให้กับวงการฯ ต่อไป
จิรยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ eArena MQDC BOOTCAMP เวิลด์คลาสสแตนดาร์ดอีสปอร์ตบูธแคมป์ครบวงจรแห่งแรกของอาเซียน ถือเป็นศูนย์พัฒนานักกีฬาอีสปอร์ตอาชีพที่มีผลงานโดดเด่นในการแข่งขันระดับประเทศและต่างประเทศบนพื้นที่ใช้สอยกว่า 2,000 ตร.ม. มีประโยชน์ใช้สอย สำหรับเป็นพื้นที่พักอาศัย สามารถเข้าอยู่ได้ 50 คน ใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมสามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานได้สูงสุด 300 คน สนามแข่งขันจำลอง สามารถจัดการแข่งขันระดับมาตรฐาน รองรับผู้ชมสูงสุด 100 คน สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน พร้อมพื้นที่จัดกิจกรรมกลางแจ้ง รองรับคนได้สูงสุด 100 คน และห้องฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพ รองรับได้สูงสุด 4 ทีม รวมกว่า 30 คน
กิจกรรมใน "eArena MQDC BOOTCAMP" จะมีหลักๆ ทั้งหมด 3 ส่วนคือ ส่วนการดูแลนักกีฬาอาชีพของทีม eArena, ในส่วนของการสร้างหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตให้กับผู้ที่สนใจ รวมไปถึงในส่วนของการสร้างเนื้อหาในรูปแบบ Variety ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานตามโรดแมปที่ได้วางไว้ในปี 2565 โดยในปี 2566 นั้น ได้ตั้งเป้าหมายในการสร้าง Community จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้วางแผนไว้ และตั้งเป้าขยายกิจการออกสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2567 และในปี 2568 ได้วางพันธกิจในการพากลุ่มคอมมูนิตี้ทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่โลกเมตาเวิร์สอย่างเต็มรูปแบบ