“ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ปลุก 'Ookbee' สู่โลก 'เมตาเวิร์ส - คริปโทเคอร์เรนซี่'
[รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Ookbee นักธุรกิจรุ่นใหม่ ต้นแบบสตาร์ทอัพ วันนี้ Ookbee ต่อจิ๊กซอว์สู่ความสำเร็จกับมิชชั่นสู่โลกเมตาเวิร์ส คริปโทเคอร์เรนซี่]
[รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Ookbee นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีมาตั้งแต่จำความได้ สร้าง Ookbee แพลตฟอร์มอีบุ๊คสัญชาติไทย เป็นต้นแบบสตาร์ทอัพ ที่คอยสร้างแรงบันดาลใจให้ธุรกิจยุคใหม่ วันนี้ Ookbee กำลังต่อจิ๊กซอว์สู่ความสำเร็จอีกครั้ง กับมิชชั่นสู่โลกเมตาเวิร์ส คริปโทเคอร์เรนซี่]
Ookbee อีบุ๊คแพลตฟอร์ม เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ประสบความสำเร็จมีลูกค้าใช้งานประจำต่อเดือนถึง 10 ล้านคน ไม่เพียงแค่บริการอีบุ๊ค แต่ยังมีบริการอื่นๆ ที่โดนใจวัยรุ่นยุคใหม่ อย่าง “นิยายแชท” ออนไลน์ จอยลดา ที่โด่งดังในกลุ่มเจนวาย และเจนซี “ณัฐวุฒิ” หรือในวงการคุ้นเคยในชื่อ หมู อุ๊คบี กลายเป็นต้นแบบของนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่มีวิธีคิดแบบใหม่ ไม่ยึดติดกรอบความสำเร็จแบบเดิมๆ
“อุ๊คบีตอนนี้ 10 ปีแล้ว อุ๊คบี มาจากคำผวนของ อีบุ๊ค เริ่มแรกเปิดเป็นร้านอีบุ๊ค แต่ต่อมาก็ค้นพบเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป คนอ่านหนังสือที่เป็นเล่มๆ น้อยลง ส่วนใหญ่จะอ่านทางโซเชียลมีเดียแทน เราก็ต้องปรับตัว คอนเทนท์ส่วนใหญ่ของ อุ๊คบี เลยเป็น User-generated Content หรือ UGC คอนเทนท์ที่ผู้ใช้สร้างเอง”
นอกเหนือจาก อีบุ๊ค แล้ว อุ๊คบี ยังเป็นทำนิยายแชทออนไลน์ ที่โด่งดังมาก และได้รับความนิยมในหมู่เด็กๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม เจนวาย และเจนซี ขณะเดียวกันยังมีบริษัทชื่อ ฟังใจ คอนเทนท์ และบริการที่ถูกแตกหน่อออกไปมากมายของอุ๊คบี ทำให้มีบริษัทอย่าง เอชบีโอ เน็ตฟลิกซ์ วิว ซื้อคอนเทนท์เหล่านี้ของอุ๊คบีไปออกอากาศ
“เรามีคอนเทนท์ ประเภท ดูดวง ด้วย ข่าวสารก็มี โดยเฉลี่ยคอนเทนท์ของเราจะมีคนเข้ามาใช้งานประมาณ 10 ล้านคน ต่อเดือน ประมาณ 80 -90% ก็เป็น เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ส่วนกลุ่มคนก็จะเป็น เจนวาย เจนซี มัธยมปลาย จนถึงมหาวิทยาลัย first jobber ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ของ อุ๊คบี”
ณัฐวุฒิ เล่าว่า เมื่อครั้งที่เริ่มต้นทำ อุ๊คบี แนวคิดหรือบริการที่แปลกใหม่ สร้างการเติบโตก้าวกระโดด เป็นสตาร์ทอัพที่เริ่มได้รับการระดมทุน มีพาร์ทเนอร์รายใหญ่ๆ เข้ามาช่วยทำให้วิธีคิด หรือมุมมองของธุรกิจเปลี่ยนไป โตขึ้น หนึ่งในพาร์ทเนอร์ใหญ่ของอุ๊คบี คือ บริษัทเทนเซนต์ ยักษ์เทคของจีน
อีกจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ฉายแววโดดเด่นให้อุ๊คบี คือ เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างสรรค์ผลงานเองได้ จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่คนมองว่า ปัจจุบันคนอ่านน้อยลง แต่ซีอีโอของอุ๊คบี กลับมองว่า การอ่านจะไม่หายไป แต่รูปแบบเปลี่ยนไป ยกตัวอย่าง ถ้าเทียบกับการดู เหมือนดูหนัง แต่ก่อนจะดูที่โรงภาพยนต์ ต่อมาก็เปลี่ยนมาเป็นดูใน เน็ตฟลิกซ์ ยูทูบ แล้วก็อาจจะมาเป็น tiktok คอนเทนท์แบบสั้นๆ
เช่นเดียวกัน จากหนังสือเป็นเล่ม กลายมาเป็นอีบุ๊ค เป็นออนไลน์ อาจจะเป็นความเสี่ยง หาก ซีอีโอ อุ๊คบี มองว่า นี่เป็นโอกาส ความเสี่ยงของคนกลุ่มหนึ่งจะกลายเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพอีกกลุ่มหนึ่ง จากหนังสือกระดาษ กลายมาเป็นอีบุ๊ค จากอีบุ๊คก็จะเกิดรูปแบบใหม่ๆ เรากำลังพูดกันถึง เมตาเวิร์ส สิ่งเหล่านี้ คือ โอกาสที่เราต้องปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์
“อย่างแอพของเราที่คนใช้งานกันมากๆ คือ แอพนิยาย จอยลดา เป็นนิยายแชท เขียนสั้นๆ บางคนอาจจะเขียนแบบเป็นยาวๆ ไม่เป็น รูปแบบการเขียนสมัยนี้ก็จะเขียนแบบในไลน์ เป็นประโยคคำพูดเลย พอถึงอะไรยากๆ ก็ใช้รูป ไปแทน ถ้าเป็นตัวหนังสือเมื่อก่อนอาจจะต้องอธิบายว่าพระเอกหน้าตาแบบนี้ บ้านเป็นแบบนี้ พอแค่แปะรูปเข้าไป มันก็ทำให้คนเล่าเรื่อง คนอ่านเข้าใจตรงกัน และก็ใช้ง่ายสะดวกขึ้น เหมือนโลกแห่งความเป็นจริง มันเป็น story telling ของปัจจุบัน ยุคสมัยเปลี่ยน การเล่าเรื่องก็เปลี่ยน”
คอนเทนท์ กับ เทคโนโลยี
เมื่อถามถึงเรื่อง การให้น้ำหนักระหว่าง คอนเทนท์ กับเทคโนโลยี ซีอีโอ อุ๊คบี บอกว่า อุ๊คบีเป็นแพลตฟอร์ม มีหน้าที่ทำเทคโนโลยีให้ดีที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือ คอนเทนท์ ต้องให้โอกาสคนที่สามารถสร้างคอนเทนท์ขึ้นมาได้
“เช่น ในตลาดสตรีมมิ่ง เรามีเน็ตฟลิกซ์ มีเอชบีโอ วิว วีทีวี ท้ายสุด แอพพวกนี้ก็จะฟีเจอร์ ฟังก์ชั้นคล้ายๆ กัน สะดวก แต่สุดท้าย คอนเทนท์ต่างหากที่จะเป็นตัวที่คนเลือกที่จะใช้แพลตฟอร์มไหน เช่น อันนี้มีหนังเยอะกว่า มีหนังที่อีกทีไม่มี พอถึงจุดหนึ่ง เทคโนโลยีมันจะต้องดีระดับหนึ่ง ให้สะดวกให้เร็ว แต่หลังจากนั้นจะเป็นเรื่อง คอนเทนท์ล้วนๆ”
ซีอีโอ อุ๊คบี ลงความเห็นว่า “เทคโนโลยีสำคัญ แต่คอนเทนท์ คือ ตัวเลือก ที่ทำให้คนจะใช้แพลตฟอร์มนั้น”
การเดินทางของอุ๊คบี ยังดำเนินต่อไป พร้อมกับ โปรเจคใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะ “เมตาเวิร์ส คริปโทเคอร์เรนซี่ เอ็นเอฟที” เป็นธุรกิจใหม่ที่ อุ๊คบีกำลังจะทำ เขายกตัวอย่าง เมตาเวิร์ส ก่อนหน้านี้คนอาจจะทำ ไลฟ์ สตรีมกัน มีวีดีโอ เสียง แต่ไม่เห็นหน้า แต่พอเป็น เมตาเวิร์ส มันจะมีอวาตาร์ เป็นตัวละคร 3 มิติ เข้าไปเดิน เจอเพื่อน พูดคุยกันได้ หรือสามารถจัดเป็นธีมต่างๆ เป็นเวทีคอนเสิร์ต เป็นบีช ปาร์ตี้ ชายหาด มีเครื่องเล่น หรืออยู่บนเรือยอร์ช อยู่บนอวกาศ ที่ทุกคนไปอยู่ในนั้นแล้วพูดคุยกัน”
“ส่วนคริปโทเคอร์เรนซี่ อุ๊คบี มีโปรเจคของเราเป็นเหรียญ ที่ปัจจุบีนมีเทรดอยู่บนบิทคับ บนซิปเม็กซ์ คือ SIX คริปโทเคอร์เรนซี่ของอุ๊คบีเป็นอีกหนึ่งเหรียญที่ได้รับความนิยม ก็เอามาทำเป็นเอ็นเอฟที ศิลปินต่างๆ หรือว่าเพลงต่างๆ ก็สามารถออกเป็นเอ็นเอฟทีได้ หรือ ล่าสุด เราจะมีจัดมิวสิคเฟสติวัล มีตั๋วลักษณะพิเศษ เป็นเอ็นเอฟที ถ้าถือตัวนี้ไว้ก็จะสามารถเข้างานนี้ได้ตลอด ถ้าเราจัด ซึ่งสามารถเปลี่ยนมือได้ ถ้าอยากจะขายต่อ มันก็จะมีมูลค่า เหมือนเราถือตั๋วเฟสติวัลนี้ไว้ ถ้าต่อไปเฟสติวัลนี้ดัง มูลค่าตั๋วก็จะเพิ่ม ก็เป็นไอเดียเล็กๆ ที่เราลองทำขึ้นมาดู”
บทบาทผจก.กองทุน 500 Tuktuks
ณัฐวุฒิ ยังสวมหมวกอีกใบ เป็นผู้บริหาร กองทุน 500 TukTuks เวนเจอร์ แคปิตอล เป็นคนเอาเงินไปลงทุนในบริษัทต่างๆ แล้วก็แลกกับหุ้นบริษัทเหล่านั้น หากบริษัทเหล่านี้เติบโต มีคนมาซื้อ หรืออาจจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นผลกำไรของกองทุน 500 Tuktuk
“บิสิเนส โมเดลนี้ ก็มีอยู่ทั่วโลก ทุกๆ บริษัทสตาร์ทอัพใหญ่ๆ ที่เราเห็น เฟซบุ๊ค กูเกิล แอ๊ปเปิ้ล ไมโครซอฟท์ ตอนที่เขาเกิดใหม่ๆ ก็จะต้องระดมทุน กองทุน 500 Tuktuk ถือว่าเป็น seed stage เป็นตอนเริ่มต้นบริษัท อาจจะ 6 เดือน หรือไม่ถึง 1 ปี เราจะเอาเงินใส่เข้าไปก้อนไม่ได้ใหญ่มาก ประมาณ 3-5 ล้านบาท 10 ล้าน แลกกับหุ้น 10% ปัจจุบันลงทุนไปประมาณ 100 บริษัท ถ้านึกถึงชื่อสตาร์ทอัพในเมืองไทย ผมว่ามีประมาณ 80% ที่จะอยู่ในกองทุน 500 Tuktuks เช่น โอมิเสะ ทำเรื่องเพย์เม้นท ฟิโนมีน่า ทำเรื่องการเงิน โพเมโล่ ทำพวกแบรนด์เสื้อผ้า หรือเคลมดิ โฟวล์แอคเค้าท์ ก็มีสตาร์ทอัพที่หลากหลาย ที่เราเคยได้ยิน หลายที่เงินทุนก้อนแรกก็มาจาก 500 Tuktuk”
ส่วนการเลือกว่าจะไปลงทุนกับบริษัทไหน เขาอธิบายว่า ต้องดูจากตัวฟาวเดอร์เป็นหลัก จากนั้นดูว่าสิ่งที่ทำตลาดใหญ่พอไหม ดูความเป็นไปได้
“ตอนลงทุนเรารู้อยู่แล้ว ว่ามีความเสี่ยง ทุกรายที่เราลงทุน ถ้าเราลงทุนไป 10 ราย ต้องทำใจเลยว่ามันอาจจะเจ๊งประมาณครึ่งหนึ่ง อาจจะมีแค่ 1-2 รายเท่านั้นที่สามารถเติบโตได้แบบ 10-20 เท่า ที่เหลือก็อาจจะแบบโตน้อย แต่ว่า ถ้า 1 รายโตไป 10 เท่า มันแปลว่า อีก 9 รายต่อให้เจ๊งไป เราก็ยังเท่าตัว ถ้ามีสัก 2 รายก็กำไรเป็น 10 เท่าแล้ว”
ณัฐวุฒิ เล่าว่า กองทุน 500 Tuktuk เปิดมาประมาณ 6 ปีแล้ว เริ่มต้นตั้งแต่ 400-500 ล้าน ตอนนี้กองทุนอยู่ในระดับ 3-4 พันล้าน เป็นกองทุน ที่ช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยได้มาก เพราะกองทุนนี้ คือ เงินลงทุนก้อนแรก ของสตาร์ทอัพในไทยกว่า 80%
อุปสรรคสำคัญของวงการสตาร์ทอัพ คือ เรื่อง ตลาด ซึ่งไทยจะว่าเล็กก็ไม่ใช่แต่ก็ไม่ได้ใหญ่มากระดับที่แบบเหมือนอินโดนีเซีย เวลาคนเทียบก็จะชอบเทียบสตาร์ทอัพไทยกับต่างประเทศ อย่างอินโดนีเซีย หรือ อย่างเมื่อก่อนจะได้ยินคำพูดเสมอว่า เมืองไทยไม่มียูนิคอร์น ซึ่งตอนนี้สตาร์ทอัพไทยก็ผ่านตรงนั้นมาแล้ว
“ส่วนตัวมองว่า อาจจะเป็นเรื่องตลาดที่มันเล็ก มันก็เลยต้องใช้เวลานานกว่าที่สตาร์ทอัพพวกนี้จะเติบโตมาเป็นยูนิคอร์นได้ มูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท ถ้าเราอยู่ในประเทศที่ใหญ่กว่าเราสัก 4-5 เท่า มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า อย่างอินโดนีเซีย มีประชากรอยู่ 200 กว่าล้านคนก็ใหญ่กว่าประเทศไทยแล้ว ด้วยความที่เขาคนเยอะกว่า ขนาดเศรษฐกิจเขาใหญ่กว่า หรือบางประเทศอาจเล็ก แต่ spending เขาเยอะ ก็จะยิ่งช่วยให้โตเร็ว”
เขามองว่า ตัวเร่งที่จะดันให้สตาร์ทอัพก้าวไปได้เร็ว คือ กฎหมาย หรือการสนับสนุนจากรัฐบาล จะเห็นบริษัทสตาร์ทอัพไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์ เพราะเขาได้เรื่องภาษีที่ดีกว่า เรื่องนี้สตาร์ทอัพทำเองไมไ่ด้ ก็ต้องให้รัฐบาลสนับสนุน
วิถีที่แตกต่างของ ”สตาร์ทอัพ”
สิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างสตาร์ทอัพ และธุรกิจทั่วไป คือ เรื่องของความเร็ว และการทดลองทำอะไรเล็กๆ ความเร็วเวลาที่เป็นสตาร์ทอัพ เขาก็อยากโตเร็ว วิธีคิดก็ไม่เหมือนกับเอสเอ็มอีที่ อาจจะคิดว่า ปีหนึ่งอยากโต 20-30 % ก็ดีแล้ว แต่พอเป็นสตาร์ทอัพ เขาอยากโต 5 เท่า 10 เท่า พอมันกำหนดว่าต้องโตเร็ว บิสิเนส โมเดล หรือวิธีคิดมันจะเปลี่ยนไป เพราะมันทำแบบเดิมๆ ไม่ได้
อีกเรื่อง คือ สตาร์ทอัพจะชอบ ลองทำอะไรเล็ก ๆ เหมือนเรายิงมั่วๆ แล้วถ้ายิงตรงไหนโดน ก็ยิงตรงนั้นซ้ำๆ มันจะเหมาะกับโลกปัจจุบัน คือ มันไม่มีอะไรแน่นอน เราสามารถลองของจริงได้ ในสเกลเล็กๆ ถ้ามันโอเคเราก็ทำเลย
“เป้าหมายจริงๆ มีหลายเรื่อง อย่างอุ๊คบี มีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เป็นเหมือน ไฟลต์บังคับ พอบริษัทโต มีนักลงทุนที่ลงทุนในบริษัท นักลงทุนเหล่านี้ก็ต้องการผลตอบแทนในการที่จะได้รับคืนทุนเยอะๆ รวมถึงการเข้าไปสนับสนุนตลาดสตาร์ทอัพ เรารู้สึกมันเป็นส่วนช่วยในเรื่องของการจ้างงาน ด้วยเงินลงทุนที่จำนวนไม่มาก แต่กลับสามารถสร้างงานให้หลายๆ คนได้ เหมือนเราทำน้อย แต่ได้ผลลัพธ์มาก พอมองกลับไปก็ รู้สึก แฮปปี้ คือ ตัวเราไม่จำเป็นต้องเป็นฮีโร่ตลอดไปก็ได้”
แนวคิดและตัวตนของ หมู อุ๊คบี
“เด็กๆ ก็คงคล้ายทุกคน ชอบเล่นเกม เล่นคอมพ์ เขียนโปรแกรม รับจ้างประกอบคอมพิวเตอร์ที่พันธ์ทิพย์บ้าง รับจ้างเขียนโปรแกรม แล้วก็ได้เงิน จากการที่เราทำงาน พอจบมาก็อยากมารับจ้างเขียนโปรแกรม ก็ตั้งแต่บริษัทนั้นมาก็ทำมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากเล่นเกม เขียนโปรแกรม ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือ หนังสือที่ชอบอ่านเป็นเป็นชีวประวัติของคนที่ทำเทคโนโลยี ก็จะมี บิล เกตส์ ไมเคิล เดลล์ ช่วงหลังก็เริ่มเป็นพวกสตาร์ทอัพมากขึ้น เจฟฟ์ เบซอส อีลอน มัสก์ พวกนี้เราอ่านแล้ว เราได้ แรงบันดาลใจ”
ณัฐวุฒิ บอกว่า ตอนอายุน้อยๆ ความมั่นใจจะมาก ตอนตั้งบริษัทอุ๊คบี ก็มีความมั่นใจ ไม่ได้คิดเรื่องความล้มเหลว แต่พอธุรกิจใหญ่ขึ้นจะเริ่มมองโอกาสความน่าจะเป็นว่า ซึ่งบางครั้ง บางงาน อาจไม่จำเป็นต้องเสี่ยงเยอะขนาดนั้น
“โควิด มีส่วนทำให้บริษัทเรามีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะรูปแบบของธุรกิจ งานโฆษณา งานออฟไลน์ บางทีต้องหยุดไป หรือ บางทีก็ต้องลดคน เวลาลดคนครั้งนึง จะเริ่มรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิด แต่พอมองอีกมุมหนึ่ง คือ เราสวมหมวกผู้บริหาร เราเป็นซีอีโอ การเป็นผู้บริหารที่ดี คือ การบริหารธุรกิจให้ดี ดังนั้นการลด หรือการเปลี่ยนมันเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ ดังนั้นก็ต้องเข้าใจว่า มุมนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำ”
ขณะที่ painpoint สำคัญของธุรกิจเทคโนโลยี เขามองว่า คือ การหาคนเก่งๆ มาร่วมงาน และที่สำคัญคือ การจะรักษาคนเหล่านี้ไว้ เพราะคนเก่งๆ หรือโปรแกรมเมอร์เก่งๆ มีไม่พอในตลาด
“เราอยู่ในยุคที่บริษัททุกคนก็อยากทำสตาร์ทอัพ หรือบริษัทใหญ่ๆ ก็กำลังเปลี่ยนตัวเองไปเป็นสตาร์ทอัพ หรือมีแผนกใหม่ขึ้นมาดิสรัปตัวเอง และต้องการคนเก่งๆ เหล่านี้ ดังนั้น คนที่อยู่ในสายเทค ก็จะมีปัญหาเรื่องการหาคนเก่ง อาจจะไปเน้นที่ คัลเจอร์ การสร้างวัฒนธรรม แน่นอนว่า เรื่องเงินเดือน ผลตอบแทน มันก็มีส่วน แต่ผมว่าก็ยังไม่พอ วิธีดึงคนเก่งร่วมงาน ต้องทำให้เขารู้สึกว่า การทำงานของเขามีคุณค่า ผมมองว่า วิธีคิด การปรับตัวพร้อมเรียนรู้ไปกับบริษัทเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าทักษะ ”
สุดท้าย “ณัฐวุฒิ” บอกว่า “เวลา” คือ สิ่งที่มีค่ามากที่สุด บางครั้งเราอาจจะมัวแต่ติดเยอะ แล้วรู้สึกว่าก่อนที่จะลงมือทำอะไร ต้องใช้เวลาศึกษามาก แต่จากการที่ทำธุรกิจมา เรารู้สึกว่า บางทีเราลองทำได้เลย ลองเล็กๆ ต่อให้เราเจ็บตัว หรือเสียเงิน แต่สเกลมันไม่ได้ใหญ่มาก เงิน หรือเวลาที่เราเสียไปมันเหมือน ค่าเล่าเรียน จะได้ไม่รู้สึกเสียดาย