เศรษฐกิจดิจิทัลไทย ปี 68 สะพัด '2 ล้านล้านบาท' กูเกิลชี้ ‘ฟินเทค-อีคอมเมิร์ซ' หนุน

เศรษฐกิจดิจิทัลไทย ปี 68 สะพัด '2 ล้านล้านบาท' กูเกิลชี้ ‘ฟินเทค-อีคอมเมิร์ซ' หนุน

“กูเกิล” ร่วม "เทมาเส็ก - เบนแอนด์คอมพานี" เปิดเศรษฐกิจดิจิทัลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 65 คาดแตะกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ “ไทย” ครองอันดับ 2 ในภูมิภาค เศรษฐกิจดิจิทัลโตแรงสะพัด 1.3 ล้านล้านบาท คาดอีก 3 ปี พุ่ง 2 ล้านล้านบาท “การเงินดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ ท่องเที่ยว” หนุน

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย เงินเฟ้อพุ่งสูง จากผลพวงของมหาวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ มีตัวเลขที่ลดลง แต่รายงานล่าสุดของกูเกิล ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า รูปแบบเศรษฐกิจดิจิทัลคือ กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

รายงาน e-Conomy SEA 2022 ฉบับล่าสุดโดย กูเกิล เทมาเส็ก และเบนแอนด์คอมพานี ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตเร็วกว่าที่คาด โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 20% จาก 1.61 แสนล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว นับเป็นการเติบโตที่เร็วเกินคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าถึง 3 ปี

เศรษฐกิจดิจิทัลไทย ปี 68 สะพัด \'2 ล้านล้านบาท\' กูเกิลชี้ ‘ฟินเทค-อีคอมเมิร์ซ\' หนุน

รายงานฉบับล่าสุด รวบรวมข้อมูลจาก 6 เศรษฐกิจในภูมิภาค ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยระบุว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เติบโตต่อเนื่อง มีผู้ใช้ใหม่ 20 ล้านคนในปีนี้ ทำให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 460 ล้านคน

คาดมูลค่าแตะ 2 ล้านล้านบาทปี 68

ขณะที่ เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยปีนี้ คาดว่า จะมีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากแรงหนุนสำคัญของอีคอมเมิร์ซ และการเงินดิจิทัล ที่มีแนวโน้มการทำธุรกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะพุ่งแตะ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2568

กูเกิล ชี้ว่า บริการด้านการเงินดิจิทัลของไทย เป็นแรงหนุนสำคัญที่ยังคงพุ่งทะยานช่วงการระบาดของโควิด-19 และยังคงรักษาระดับได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2568 จากการกู้ยืม และการลงทุน ซึ่งมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี ราว 40% และ 45% ตามลําดับ บริการ การเงินดิจิทัล รวมถึงการชำระเงิน การลงทุน บัญชีกู้ยืม การโอนเงินต่างประเทศ และประกัน ขณะที่ ระบุว่า ในประเทศไทย มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนระดับ Series-C จํานวนมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจบริการด้านการเงินดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ

กูเกิล คาดการณ์ว่า การลงทุน และระดมทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัล แซงหน้าอีคอมเมิร์ซ โดยมีสัดส่วนเกือบครึ่ง และมีมูลค่าสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

เศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2

ตามรายงาน ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน เป็นรอง อินโดนีเซีย ที่คาดว่าจะมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามด้วยเวียดนาม 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ มาเลเซีย 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ฟิลิปปินส์ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และสิงคโปร์ 8 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย จะมีอัตราเติบโตต่อปี 15% จากปี 2565 ถึง 2568 ซึ่งนับว่าช้าที่สุดในบรรดา 5 ประเทศในอาเซียน ที่คาดว่า เวียดนามจะโต 31% ฟิลิปปินส์ 20% อินโดนีเซีย 19% มาเลเซีย 17% และสิงคโปร์ 17%

จากรายงานนี้ บ่งชี้ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน แม้จะเริ่มต้นกลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโรคระบาด แต่ต้องเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทั่วโลกที่เสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง ยังส่งผลกระทบกับความต้องการของผู้บริโภค

รายงานแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน เติบโตอยู่ระหว่าง 2 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565 โดยเศรษฐกิจดิจิทัลภูมิภาคนี้คาดว่าจะแตะ 330 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2568 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 20% จากปี 2565 ถึง 2568

‘อีคอมเมิร์ซ’ ยังเติบโตแรง

กูเกิล ระบุว่า อีคอมเมิร์ซคือ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญของภูมิภาคนี้ และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง  โดยมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยคาดว่าจะแตะ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2568 ส่วนการใช้จ่ายออนไลน์ในภาคการขนส่ง และอาหารคาดว่า จะมีมูลค่าจาก 3 พันล้านดอลลาร์ ปีนี้ เป็น 5 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2568  การท่องเที่ยวออนไลน์ คาดว่าจะมีมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ และคาดว่าจะโตถึง 9 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2568

องค์ประกอบของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ระบุไว้ในรายงานฉบับนี้ ประกอบด้วย อีคอมเมิร์ซ การขนส่ง และบริการส่งอาหารออนไลน์ การท่องเที่ยวออนไลน์  และสื่อออนไลน์

นอกจากนี้ รายงานกูเกิล ยังได้สำรวจพฤติกรรม การบริโภคดิจิทัลในประเทศต่างๆ เช่น โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 23% ในประเทศไทยระบุว่า พวกเขาต้องการใช้บริการอีคอมเมิร์ซมากขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 55% ระบุว่า ระดับการใช้งานของพวกเขาจะยังคงเท่าเดิม ในแง่ของการขนส่ง 36% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า พวกเขาจะใช้บริการดังกล่าวในระดับที่น้อยกว่า ในขณะที่ 51% ระบุว่า จะใช้บริการในระดับเดียวกัน

เมื่อถามถึงความถี่ของการใช้สื่อที่ใช้เฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง  พบว่า คนไทยที่ใช้วิดีโอออนดีมานด์ 33% เพลงออนดีมานด์ 27%  เกม 29% ส่วนระยะเวลาใช้สื่อมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ในส่วนของวิดีโอออนดีมานด์ คิดเป็น 33% เพลงออนดีมานด์ 12% และ เกม 22% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค

ส่วน เปอร์เซ็นต์การใช้ บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง พบว่า 95% ใช้อีคอมเมิร์ซ การจัดส่งอาหาร 78% และของใช้ทั่วไป 63%

สดช. ชี้ดิจิทัลจีดีพีไทยปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า ดิจิทัลจีดีพี ประเทศไทย เมื่อปี 2564 มีการขยายตัวที่น่าพอใจ สามารถฝ่าแรงต้านจากผลกระทบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปรับตัวสูงขึ้น 14.07% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่า 2,098,627 ล้านบาท

ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าว ได้รับปัจจัยหนุนจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาฟื้นตัวได้บางส่วน โดยเฉพาะการผลิตสินค้า และบริการดิจิทัล ที่ปรับตัวได้เร็วกว่าเศรษฐกิจทั่วไป ส่งผลให้ดิจิทัล จีดีพี ปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนร้อยละของ ดิจิทัล จีดีพี ต่อจีดีพีในภาพรวมของประเทศ พบว่าปี 2564 ยกระดับขึ้นมาอยู่ที่ 12.97% โดยปรับตัวจากปี 2563 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 11.77% ค่าสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจไทยบางส่วนที่ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจอื่นๆ ยังปรับตัวได้ไม่มากนัก ส่งผลให้การเติบโตของจีดีพีในภาพรวมยังมีความล่าช้า เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่สูงกว่า

การเปิดเผยภาพรวมตัวเลข ดิจิทัล จีดีพี ครั้งล่าสุดนี้ เป็นส่วนหนึ่งงานสัมมนา เพื่อเผยแพร่ผลการประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล และประชาสัมพันธ์แนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูล DESA (Digital Contribution to GDP) ปี 2563 และ 2564 ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 ในปีที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการวัดค่าเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ และผลกระทบจากการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ และใช้กำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ แนวทางวัดค่าเศรษฐกิจดิจิทัลดังกล่าว มีการจัดทำข้อมูลตามกรอบแนวคิดขององค์การ เพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่กำหนดนิยาม และขอบเขตของเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถพัฒนาบัญชีบริวาร (Digital satellite accounts) ที่มีพื้นฐานมาจากบัญชีประชาชาติที่ใช้วัดสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิต (Production approach) ด้านรายจ่าย (Expenditure approach) และด้านรายได้ (Income approach)

ประมวลผลจากแหล่งข้อมูลที่ครอบคลุมกิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับพื้นฐาน (the core measure) ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT sector) มีเดียและคอนเทนต์ และเศรษฐกิจดิจิทัลในความหมายแคบ (the narrow measure) ที่รวมถึงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ บริการทางธุรกิจที่ผ่านช่องทางดิจิทัล เป็นต้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์