กสทช. จ่อรื้อ Must Have หลังไร้เจ้าภาพซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2022
"กสทช." เตรียมปรับปรุงและแก้ไขกฎ Must Have หลังไร้เจ้าภาพซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขัน "ฟุตบอลโลก 2022"
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 กรณี "ฟุตบอลโลก 2022" นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เตรียมปรับปรุงและแก้ไขกฎ มัสต์แฮฟ (Must Have) ที่เคยระบุว่า ต้องมี 7 มหกรรมกีฬา ที่ประกอบด้วย ซีเกมส์ , อาเซียนพาราเกมส์ , เอเชียนเกมส์ , เอเชี่ยนพาราเกมส์ , โอลิมปิกเกมส์ , พาราลิมปิกเกมส์ และ ฟุตบอลโลก ที่คนไทยต้องได้รับรับชมฟรี
แถมยังมีกฎควบคู่กันนั่นคือ "มัสต์ แครี่" (Must Carry) ที่ระบุว่า ต้องดำเนินการให้ทุกแพลตฟอร์มให้คนไทยได้ชมแบบฟรีๆ ซึ่งทั้ง 2 กฎดังกล่าว เป็นการกีดกันภาคเอกชนที่จะเข้าไปประมูลซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ทำให้ภาครัฐต้องเสียเงินทุก ๆ วงรอบ 4 ปี เป็นจำนวนหลักร้อยถึงหลักพันล้านบาทไปอย่างสูญเปล่า
"ตอนนี้มีแพลตฟอร์มที่คนไทยรับดูคอนเทนต์หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นเราควรปรับกฎเกณฑ์ให้เข้ากับบริบท ซึ่งผมรอให้จบฟุตบอลโลกนี้ก่อน จะเริ่มดำเนินการ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องมาจ่ายเงิน" นายไตรรัตน์ กล่าว
นายไตรรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ตนจะเอาเรื่องดังกล่าวเสนอ บอร์ด กสทช. เพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์ Must Have และ Must Carry ควบคู่ไปด้วย หลังจากนั้นจะมีการทำประชาพิจารณ์ต่อไป
วันจันทร์ 14 พฤศจิกายน 2565 สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดการจัดงานพิธีลงนามบันทึกของตกลง (MOU) การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) จำนวน 600 ล้านบาท กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในเวลา 09.00 น.
"ในเมื่อมันยุ่งยาก ก็เอาฟุตบอลโลกออกไปเลย แต่ถ้าไทยได้ไปบอลโลก ค่อยเอากลับมาใหม่" นายไตรรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย