กสทช.เปิดรายชื่อ 'เอกชน 5 ราย' ซื้อซองประมูล 'ดาวเทียม'
เผย มิวสเปซ, แอสเซนด์ แคปปิตอล, พร้อม เทคนิคอล เซอร์วิสเซส, เอ็นที และ สเปซ เทค อินโนเวชั่น รวม 5 รายรับเอกสารการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) แล้ว
พล.อ.ท.ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า วันนี้ (28 พ.ย. 2565) บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที และบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด เข้ามารับเอกสารการคัดเลือกสำหรับการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) พร้อมลงนามในหนังสือตกลงการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non-disclosure Agreement : NDA) ที่สำนักงาน กสทช.
หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท แอสเซนด์ แคปปิตอล จำกัด เข้ามารับเอกสารการคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 จนถึงขณะนี้มีผู้รับเอกสารการคัดเลือกไปแล้วรวม 5 ราย
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ยังคงเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกต่อไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2565 ผู้ที่ประสงค์จะขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) สามารถรับเอกสารได้ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. ณ สำนักกิจการดาวเทียมสื่อสาร อาคารอำนวยการ ชั้น 8 สำนักงาน กสทช. ถ.พหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) กรุงเทพมหานคร
หลังจากนั้น สำนักงานฯ จะมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงกระบวนการประมูลและการกรอกเอกสารแบบคำขอรับอนุญาต (public Information session) ในวันที่ 2 ธ.ค. 2565 และจะเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาตในวันที่ 27 ธ.ค. 2565 จากนั้นสำนักงานฯ จะทำการตรวจคุณสมบัติ (ใช้เวลา 1 สัปดาห์) ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2565 – 4 ม.ค. 2566
และจะประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกในวันที่ 4 ม.ค. 2566 ส่วนวันที่ 7 ม.ค. 2566 จะมีการจัด Mock Aution ให้ผู้เข้าร่วมการประมูลดาวเทียมสำหรับวันประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) กำหนดเป็นวันที่ 8 ม.ค. 2566
“ตอนนี้มีบริษัทเข้ามาขอรับเอกสารการคัดเลือก 5 รายแล้ว มากกว่าครั้งก่อนที่มีผู้มาขอรับเอกสารเพียง 2 ราย ทำให้ค่อนข้างมั่นใจในการจัดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ครั้งนี้ว่าจะประสบผลสำเร็จ เนื่องจาก กสทช. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลให้มีความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติได้ด้วย” พล.อ.ท.ดร. ธนพันธุ์ กล่าว